เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกา เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น ของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ พ.ศ. 2566 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
โดยระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 22 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ พ.ศ. 2566”
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทน อย่างอื่นของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง พ.ศ. 2555
มาตรา 4 ในพระราชกฤษฎีกานี้ “กรรมการ” หมายความว่า ประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง โดยไม่รวมถึงกรรมการโดยตำแหน่ง
“การเดินทาง” หมายความว่า การเดินทางไม่ว่าภายในประเทศหรือต่างประเทศเพื่อประโยชน์ ของทางราชการหรือในฐานะที่เป็นประธานกรรมการหรือกรรมการ
“ค่ารับรอง” หมายความว่า ค่าเลี้ยงรับรอง ค่าของขวัญ ค่าพิมพ์เอกสารและค่าใช้จ่ายอื่น ที่จำเป็นเกี่ยวกับการรับรองเพื่อเกียรติแห่งกรรมการ หรือเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติภารกิจของคณะกรรมการ ป.ป.ท. และหมายความรวมถึงค่าที่พักและค่าพาหนะภายในประเทศ ของผู้ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ท. เชิญมาเยือนหรือมาประชุม
“ค่าเลี้ยงรับรอง” หมายความว่า ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่มทั้งประเภทที่มีและไม่มีแอลกอฮอล์ ค่าเครื่องใช้ในการเลี้ยงรับรอง ค่าสถานที่ และค่าบริการ
มาตรา 5 ให้กรรมการได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งตามอัตราในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง
มาตรา 6 ให้กรรมการมีสิทธิได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น ดังต่อไปนี้
(1) บำเหน็จตอบแทน
(2) การประกันสุขภาพ
มาตรา 7 กรรมการซึ่งดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่าหนึ่งปีมีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทน เป็นเงินซึ่งจ่ายครั้งเดียวเมื่อพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(1) ครบกำหนดออกตามวาระ
(2) มีอายุครบเจ็ดสิบห้าปี
(3) ลาออก
ในการคำนวณบำเหน็จตอบแทน ให้นำอัตราเงินเดือนในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ คูณด้วยระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง
การนับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งเพื่อคำนวณบำเหน็จตอบแทนตามวรรคสอง ให้นับตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจนถึงวันที่สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ โดยให้นับจำนวนปี รวมทั้งเศษของปีด้วย การคำนวณเศษของปีที่เป็นเดือนหรือเป็นวันให้เป็นปีนั้น ให้นำเศษที่เป็นเดือน หารด้วยสิบสองและเศษที่เป็นวันหารด้วยสามสิบได้ผลลัพธ์เท่าใดจึงหารด้วยสิบสอง ในการคำนวณให้ใช้ทศนิยมสองตำแหน่ง สิทธิในบำเหน็จตอบแทนเป็นสิทธิเฉพาะตัว จะโอนไม่ได้
มาตรา 8 ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุถึงแก่ความตายไม่ว่าผู้นั้นจะดำรงตำแหน่งครบหนึ่งปีหรือไม่ก็ตาม ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทนเป็นเงินซึ่งจ่ายครั้งเดียว ตามเกณฑ์ในมาตรา 7 โดยให้จ่ายแก่ทายาทโดยธรรมซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 9 ให้กรรมการมีสิทธิเบิกค่าเบี้ยประกันสุขภาพตามที่จ่ายจริงในอัตราเบี้ยประกัน คนละไม่เกินสี่หมื่นบาทต่อปีให้สำนักงานดำเนินการเบิกค่าเบี้ยประกันสุขภาพตามวรรคหนึ่งให้แก่ผู้รับประกันได้โดยตรง
มาตรา 10 ให้นำพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ และระเบียบ กระทรวงการคลังที่ออกตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว มาใช้บังคับกับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ของกรรมการตามพระราชกฤษฎีกานี้ด้วยโดยอนุโลม โดยให้กรรมการได้รับสิทธิในอัตราเดียวกับปลัดกระทรวง
มาตรา 11 ให้สำนักงานจัดหารถประจำตำแหน่งพร้อมพนักงานขับรถให้แก่กรรมการ เป็นรายบุคคล โดยวิธีการจัดซื้อหรือเช่าในขนาดและอัตราที่ไม่สูงกว่ารถประจำตำแหน่งของปลัดกระทรวง
มาตรา 12 ค่ารับรองของกรรมการ ให้จ่ายได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นโดยอนุมัติ ของประธานกรรมการหรือผู้ทำหน้าที่ประธานกรรมการ ภายในวงเงินงบประมาณรายจ่ายประเภทค่ารับรองของกรรมการ
มาตรา 13 ให้สำนักงานจัดหาอุปกรณ์สื่อสารให้กรรมการพร้อมทั้งชำระค่าบริการแบบรายเดือน ในการใช้อุปกรณ์ดังกล่าว โดยให้จ่ายได้ในอัตราที่ไม่สูงกว่าปลัดกระทรวง
ค่าใช้บริการแบบรายเดือนตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความถึง ค่าเช่าเลขหมาย ค่าบริการ และค่าใช้จ่ายที่ต้องช าระพร้อมกับค่าใช้บริการ เช่น ค่าบริการเสริมทุกประเภท
มาตรา 14 ให้กรรมการซึ่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติ มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 มีสิทธิได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นตามพระราชกฤษฎีกานี้ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่นั้น
มาตรา 15 ให้กรรมการซึ่งพ้นจากต าแหน่งตามมาตรา 9 (2) แห่งพระราชบัญญัติ มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ มีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทนตามมาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกานี้ด้วย
มาตรา 16 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ทั้งนี้ อัตราเงินเดือนและเงินประจำแหน่งของ กรรมการ ป.ป.ท. ดังนี้ ประธานกรรมการ เงินเดือน 62,000 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,550 บาท รวม เป็น 104,550 บาท กรรมการ เงินเดือน 61,000 บาท เงินประจำตำแหน่ง 41,500 บาท รวมเป็น 102,500 บาท
ปัจจุบัน มีกรรมการ ป.ป.ท.ทั้งสิ้น 7 คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง