ข่าว

สมาคมทนายความฯ เบรคอารมณ์ชิง ปธ.สภาฯ ชี้ ต้องได้เสียงเกิน 376 เสียง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เบรคอารมณ์ชิงเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ชี้ต้องได้เสียงเกิน 376 เสียง เหมาะทั้งวัยวุฒิ-คุณวุฒิ เป็นที่ยอมรับของสส.-สว.

แฟนเพจสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เปิดเผยแถลงการณ์ ที่ระบุชื่อ “นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย” ได้โพสต์อธิบายให้สังคมเข้าใจถึงการได้มาซึ่งตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ต้องได้เสียงเกิน 376 เสียงจากรัฐสภา รวมทั้งต้องเป็นที่ยอมรับของสส.และสว.ด้วย 

 

โดยรายละเอียดของแถลงการณ์ ระบุว่า  ตามที่สังคมไทยเกิดกรณีถกเถียงเกี่ยวกับความเหมาะสมของผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีการอ้างเหตุผลที่มีลักษณะเป็นการบิดเบือนจนอาจนำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของสาธารณะชน สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย จึงขอเรียนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังนี้

  1. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 116 และ 117 สภาผู้แทนราษฎรมีประธานสภาคนหนึ่ง และรองประธานสภาหนึ่งคนหรือสองคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง จากสมาชิกตามมติของสภาและดำรงตำแหน่งจนสิ้นอายุของสภาผู้แทนราษฎร
  2. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 119 ประธานสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการของสภาให้เป็นไปตามข้อบังคับของสภาและต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น การที่พรรคการเมืองบางพรรคอ้างว่าจะต้องให้คนของพรรคตนดำรงตำแหน่ง เพื่อผลักดันร่างกฎหมายสำคัญ จึงเป็นการบิดเบือน เพราะการบรรจุวาระการพิจารณาร่างกฎหมาย จะต้องเป็นไปตามลำดับของร่างกฎหมายที่ได้ยื่นต่อสภา ส่วนการเลื่อนวาระไม่อาจกระทำได้ยกเว้นเป็นมติของที่ประชุมสภา ประธานจึงไม่มีอำนาจบรรจุหรือเลื่อนวาระหรือใช้ดุลพินิจได้ตามใจชอบ
  3. ส่วนการประชุมเพื่อลงมติเลือกตั้งผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันเป็นการประชุมรัฐสภา นั้น สามารถเสนอชื่อได้จนกว่าจะได้รับเลือก และหากรัฐสภาให้ความเห็นชอบด้วยเสียงเกิน 376 เสียงให้ผู้ใดดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะต้องนำรายชื่อนั้นขึ้นทูลเกล้าเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 จึงไม่อาจสลับเอารายชื่อบุคคลอื่นขึ้นทูลเกล้าได้ตามที่สื่อมวลชนบางสำนักนำเสนอ
     

โดยที่รัฐธรรมนูญมาตรา  80  บัญญัติให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา จึงเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญยิ่งเพราะเป็นประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยของประเทศ อันเป็นตำแหน่งที่เป็นทั้งสัญลักษณ์และหน้าตาของประเทศ

 

ดังนั้น ผู้ที่ควรได้รับการเสนอชื่อจึงควรมีความเหมาะสมทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ รวมทั้งต้องได้รับการยอมรับทั้งจาก ส.ส. ของพรรคการเมืองอื่น และจาก ส.ว.

 

เพราะจะต้องทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมของทุกฝ่ายมิได้เป็นเพียงประธานของพรรคการเมืองที่เสนอชื่อเท่านั้น การเสนอชื่อผู้ดำรงตำแหน่ง จึงควรคำนึงถึงการยอมรับจากทุกฝ่าย และประโยชน์สูงสุดของประเทศ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ