ข่าว

'ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ' คร่ำหวอด กาแฟ สู่ คีย์แมน ต่างประเทศ 'พิธา'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ' ลูกไม้ใต้ต้น 'สุรินทร์ พิศสุวรรณ' จากผู้คร่ำหวอดวงการ กาแฟ สู่ทีมที่ปรึกษาด้านต่างประเทศ 'พิธา'

ชื่อของ “ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ” ได้รับความสนใจขึ้นมาทันที หลังจากที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เอ่ยถึงกลางเวที ลงนาม MOU 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาล เพราะเขาถูกวางตัวให้เป็นคีย์แมน หนึ่งในทีมที่ปรึกษาด้านต่างประเทศของรัฐบาลใหม่

 

 

 

 

หากเอ่ยชื่อ “ฟูอาดี้” หลายคนคงไม่คุ้นหูมากนัก แต่ถ้าเอ่ยถึงนามสกุล “พิศสุวรรณ” แล้วนั้น น่าจะพอคุ้นหูกันบ้าง เพราะฟูอาดี้ เป็นลูกชายคนโตของ “สุรินทร์ พิศสุวรรณ” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย และเลขาธิการอาเซียนชาวไทยคนที่ 2 “คมชัดลึก” จะพาไปรู้จักกับ “ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ” ผ่าน 10 ข้อ ว่าเส้นทางชีวิตของเขาเป็นอย่างไร จนมาเป็นหนึ่งในทีมต่างประเทศ รัฐบาลพรรคก้าวไกล

 

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

1. ”ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ” เกิดที่ จ.นครศรีธรรมราช มีชื่อเต็มว่า ฟูอาดี้ บิน อับดุล ฮาลีม พิศสุวรรณ ชื่อเล่นว่า ดี้ เป็นบุตรชายคนโตของ ดร.สุรินทร์ และนางอลิสา พิศสุวรรณ และมีน้องอีก 2 คน คือ ฮุสนี พิศสุวรรณ และ ฟลิกรี่ พิศสุวรรณ

 

 

2. จบปริญญาตรี สาขาการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ วอชิงตัน ดี.ซี. (Georgetown University in Washington DC)

 

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

 

3. หลังจบปริญญาตรี เขาเริ่มทำงานที่ “Cohen Group” บริษัทที่ปรึกษาด้านการทหารของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาล บิล คลินตัน เป็นเวลา 3 ปี จากนั้น จึงกลับไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ด้านนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University)

 

4. ปัจจุบัน กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอก ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University) และเป็น Pre-Doctoral Fellow อยู่ที่สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

5. นอกจากนี้ ฟูอาดี้ ยังเป็นทีมรุ่นบุกเบิกของ Teach For Thailand องค์กรไม่แสวงหากำไร ที่ทำงานด้านการศึกษาในประเทศไทย โดยปัจจุบันทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาฝ่ายยุทธศาสตร์

 

 

6. นอกจากทำงานด้านความคิด การทหารแล้ว “ฟูอาดี้” ยังมีความสนใจด้านกาแฟเป็นพิเศษ โดยเขาได้ร่วมก่อตั้ง “Beanspire Coffee” เริ่มทำงานกับชาวสวนกาแฟบนดอยในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ เชียงราย โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและส่งออกเมล็ดกาแฟ ในชื่อแบรนด์ BEANSPIRE COFFEE

 

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

 

เริ่มเส้นทางการเมือง

 

 

7. ช่วงแรกของการเข้าสู่ถนนสายการเมือง เขาตามรอยพ่อ ด้วยการสังกัดสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ตรงกับช่วงเวลาที่พรรคก่อตั้งกลุ่ม “New Dem” ขึ้น หวังใช้เป็นแกนหลักในการ “ถ่ายเลือด” เข้าสู่ศักราชใหม่ แต่ท้ายที่สุด “New Dem” ก็ถึงคราวปิดฉากลง เมื่อ “เลือดใหม่” และ “เลือดเก่า” คิดเห็นสวนทางกัน เขาจึงตัดสินใจลาออกจากบทบาทสมาชิกพรรคด้วย

 

 

8. บทบาททางการเมืองของ “ฟูอาดี้” เริ่มต้นชัดเจน เมื่อร่วมกับ “ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ” เพื่อผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ในนามของกลุ่ม “Re-solution” ภายใต้แคมเปญ “ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์”

 

 

9. เขารู้จักกับ “พิธา” เพราะเป็นรุ่นน้องเรียนที่ Harvard Kennedy School of Management เป็นวิทยาลัยภายใต้มหาวิทยาลัย Harvard โดยพิธาเรียนรุ่นปี 2011 ส่วนเขาเรียนรุ่นปี 2013 และเขาเป็นคนโพสต์ยืนยันเองว่า พิธา เป็นรุ่นพี่ของเขา หลังมีดราม่า พิธา ไม่ได้จบ Harvard

 

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ แจงปม พิธา

 

 

10. วันที่ 22 พ.ค. 2566 ในการแถลงลงนาม MOU เพื่อการจัดตั้งรัฐบาล พิธา เปิดเผยบนเวทีว่า ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ จะเป็นหนึ่งในทีมต่างประเทศของรัฐบาลก้าวไกล โดยเบื้องต้นได้มอบหมายให้เขา ศึกษารายงานจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ว่าด้วยเรื่องของอันดับการส่งออกอาวุธให้พม่า ซึ่งไทยติดโผ “Top 5” ด้วย

 

ฟูอาดี้ พิศสวุรรณ-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล

 

แนวคิด 3R ร่วมรัฐบาลก้าวไกล

 

  • R แรก Revive คือ ฟื้นฟู จะฟื้นฟูสถานะประเทศไทยในอาเซียน ชูธงนำแก้ปัญหาในภูมิภาค เช่น ปัญหาในเมียนมา ปัญหา PM2.5 เป็นต้น
  • R สอง Rebalance คือ สร้างสมดุล เมื่อก่อนหลายชาติมองไทยเป็นประชาธิปไตยไม่เต็มใบ ทำให้การคุยกับประเทศมหาอำนาจเอียงไปทางจีน ก็จะปรับให้มาตรงกลางมากขึ้น
  • R สาม Recalibrate คือ ปรับจุดยืนใหม่ ทำอย่างไรให้ไทยเป็นประเทศที่มีความรับผิดชอบต่อปัญหาต่างๆ ในนานาชาติ เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม, ปัญหาสภาวะอากาศ อาจไปพูดที่ยูเอ็น ถือธงนำมากขึ้น

 

 

Key Point

 

  • นายพิธากล่าวว่า จากรายงานของนายทอม แอนดรูว์ ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมาขององค์การสหประชาชาติ (UN) เผยแพร่รายงานหัวข้อ ‘การค้าความตายพันล้านดอลลาร์: เครือข่ายอาวุธระหว่างประเทศ ที่เปิดโอกาสให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา’แล้วพบว่า โดยพบเป็นอาวุธจากประเทศไทย 28 ล้านดอลลาร์ (964,964,000 บาท) นั้น ตอนนี้ให้ทีมต่างประเทศของพรรค นำโดยนายฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ค้นหาข้อมูลจากรายงานฉบับดังกล่าวเพิ่มเติม เพราะการขนส่งอาวุธเข้าไป จะต้องเพิ่มแรงกดดันและแรงจูงใจ ให้ทุกฝ่ายกลับสู่โต๊ะเจรจา และทำให้ความเป็นประชาธิปไตยกลับสู่เมียนมา อันนำไปสู่ความเป็นเอกภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทย

 

 

 

อ้างอิง : Thaipbs, The Momentum ขอบคุณภาพจาก : Fuadi Pitsuwan

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ