ข่าว

'9 ปี รัฐประหาร' ย้อนเหตุการณ์ รัฐประหาร ไทย วัน ก้าวไกล ลงนาม MOU

ย้อนเหตุการณ์ '9 ปี รัฐประหาร' วัน ก้าวไกล ลงนาม MOU จัดตั้งรัฐบาล ส่งสัญญาณอะไร รัฐประหาร ในประเทศไทย เกิดมาแล้วกี่ครั้ง

นับถอยหลัง “พรรคก้าวไกล” เลือกเวลา 16.30 น. ของวันที่ 22 พ.ค. 2566 ในการแถลงลงนาม MOU ร่วมกับ 8 พรรคการเมือง ในการ “จัดตั้งรัฐบาล” ซึ่งเป็น วัน และ เวลาเดียวกับ เหตุการณ์ “รัฐประหาร” เมื่อ 9 ปีที่แล้ว กำลังส่งสัญญาณอะไร ทำไมถึงเลือกวันนี้ ในการ “ลงนาม MOU”

 

 

 

 

ย้อนกลับไป กับเหตุการณ์ “9 ปี รัฐประหาร” เกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์การเมือง ซึ่งเริ่มเมื่อเดือน ต.ค. 2556 เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ และอิทธิพลของ ทักษิณ ชินวัตร ในการเมืองไทย หลังรัฐประหาร 2549 เรียกว่าเป็นการ ขุดรากถอนโคน โค่นระบอบทักษิณ

 

รัฐประหาร 2557

ย้อนเหตุการณ์ 9 ปี รัฐประหาร

 

 

1. นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เข้ารักษาการนายกรัฐมนตรี โดยมาจากการคัดเลือกลงมติจากคณะรัฐมนตรี ที่เหลือรอดจากคดีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เข้ารักษาการวันที่ 7 พ.ค. 2557 ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด ให้พ้นสภาพการเป็นนายกฯรักษาการ สิ้นสุดลงวันที่ 7 พ.ค. 2557 วันเดียวกัน

 

2. วันที่ 20 พ.ค. 2557 เวลา 03:30 น. กำลังทหาร พร้อมอาวุธ เข้าควบคุมสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก

 

3. เวลา 06:30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร จัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ กอ.รส. และออกคำสั่ง 12 ฉบับ เรียกตัวแทนจาก 7 ฝ่าย เข้าร่วมประชุมที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต

 

4. วันที่ 22 พ.ค. 2557 ในการประชุมร่วม 7 ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจยึดอำนาจ หลังตัวแทนรัฐบาล ยืนยันไม่ลาออก พร้อมสั่งจับกุมสมาชิกคณะรัฐมนตรี ตลอดจนแกนนำ กปปส., นปช. และพรรคการเมืองที่เข้าร่วมเจรจา ทั้งหมดถูกนำไปกักขัง ที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์

 

5. ต่อมา เวลา 16:30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศตั้ง "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" (คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการทันที

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

6. ผลของรัฐประหาร ทำให้สิทธิพลเมืองและสิทธิการเมืองถูกระงับ กองทัพมีอำนาจในการเมืองไทยมากขึ้น และมีการวางแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ซึ่งเท่ากับทำให้ประเทศเข้าสู่ยุคที่กองทัพชี้นำประชาธิปไตย

 

7. พล.อ.ประยุทธ์ เคยให้สัมภาษณ์นิตยสารไทม์ ว่า “การตัดสินใจยึดอำนาจเป็นการตัดสินใจที่ยากที่สุดในชีวิต เขาใช้เวลามากกว่า 6 เดือนเพื่อตัดสินใจ (แต่ดำเนินการมานานกว่า 3 ปี) ไม่ได้ตั้งใจไว้ล่วงหน้าว่าจะทำการรัฐประหาร เพียงแต่เขาไม่สามารถปล่อยให้ประเทศชาติเสียหายไปมากกว่านี้”  

 

8. ส่วนสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. (ในขณะนั้น) ก็ยอมรับว่า เขาพูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ถอนรากถอนโคนอิทธิพลของทักษิณ และพันธมิตรนับแต่การชุมนุมทางการเมืองในปี 2553 เป็นประจำ ก่อนรัฐประหาร  

 

9. รัฐประหาร 2557 มีการคาดการณ์ว่า มีการเตรียมการมานานพอสมควร เนื่องจากได้มีการออกคำสั่งให้รายงานตัวแม้กระทั่งคนทำงานรับเหมาก่อสร้างคนหนึ่ง ที่ทหารสืบทราบมานานแล้วว่า เป็นผู้หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

 

การทำ รัฐประหาร

 

รัฐประหารในประเทศไทย เกิดมาแล้วกี่ครั้ง

 

  • รัฐประหาร 1 เม.ย. 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา
  • รัฐประหาร 20 มิ.ย. 2476 นำโดย พล.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจรัฐบาล พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
  • รัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 นำโดย​ จอมพล​ ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
  • รัฐประหาร 6 เม.ย. 2491 คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 จี้บังคับให้ พ.ต. ควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบตำแหน่งต่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
  • รัฐประหาร 29 พ.ย. 2494 นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
  • รัฐประหาร 16 ก.ย. 2500 นำโดยจอมพล​ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม
  • รัฐประหาร 20 ต.ค. 2501 นำโดยจอมพล​ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล​ ถนอม กิตติขจร (ตามที่ตกลงกันไว้)
  • รัฐประหาร 17 พ.ย. 2514 นำโดย จอมพล​ ถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
  • รัฐประหาร 6 ต.ค. 2519 นำโดย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.​เสนีย์​ ปราโมช​
  • รัฐประหาร 20 ต.ค. 2520 นำโดย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
  • รัฐประหาร 23 ก.พ. 2534 นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
  • รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 นำโดย พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร
  • รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ​ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล (ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี หลัง น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร​ ถูก​ศาล​รัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง)

 

แถลงจัดตั้งรัฐบาล

 

เปิดร่าง MOU ตั้งรัฐบาลก้าวไกล วันรัฐประหาร

 

  1. ฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนให้เร็วที่สุด โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
  2. เพื่อสร้างความสมานฉันท์ในสังคม ทุกพรรคจะร่วมผลักดันการอำนวยความยุติธรรมในคดีที่เกี่ยวข้องกับ การแสดงออกทางการเมืองผ่านกลไกของรัฐสภา
  3. ยืนยันและผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อรับประกันสิทธิสมรสสำหรับคู่รักทุกเพศ โดยจะไม่บังคับ ประชาชนที่เห็นว่าขัดแย้งกับหลักการของศาสนาที่ตนเองนับถือ
  4. ผลักดันการปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม ให้สอดคล้องกับหลัก ประชาธิปไตย โดยยึดหลักความโปร่งใส ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน
  5. เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เป็นระบบสมัครใจ
  6. ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่นตอบสนองความต้องการของ ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ปราศจากการทุจริต
  7. ร่วมผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคำนึงถึงหลักการ ด้านสิทธิมนุษยชน การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงทบทวน ภารกิจของหน่วยงานและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง
  8. ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโต อย่างเป็นธรรม
  9. ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น ตัด ลด หรือพักใช้ ชั่วคราวซึ่งใบอนุมัติ อนุญาตที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคเพื่อปรับปรุงใหม่ ให้ความช่วยเหลือสภาพคล่อง ทางด้านการเงินและสร้างแต้มต่อให้กับ SME พร้อมกับมุ่งเน้นการเติบโต GDP ของ SME สนับสนุน อุตสาหกรรม และสินค้าไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้
  10. ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เช่น เครื่องดื่ม แอลกอฮอล์
  11. ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ด้วยการผลักดันกฎหมายปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม แก้ปัญหาแนวเขตป่าไม้และที่ดินของรัฐที่ทับซ้อนกับที่ดินของประชาชน รวมถึงการทบทวนคดีที่เป็นผล จากนโยบายทวงคืนผืนป่า
  12. ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า การคำนวณราคา และกำลังการผลิตที่เหมาะสม เพื่อลดค่าครองชีพ ประชาชนและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน
  13. จัดทำงบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นใช้วิธีการจัดงบประมาณฐานศูนย์ (Zero-based budgeting)
  14. สร้างระบบสวัสดิการดูแลประชาชนตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงวัย โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและภาระ ทางการคลังระยะยาว
  15. แก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเร่งด่วน
  16. นำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ โดยมีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา
  17. ส่งเสริมเกษตรและปศุสัตว์ปลอดภัย คุ้มครอง รักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมการตลาด ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยี และแหล่งน้ำ ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อวางแผนการผลิตและรักษาผลประโยชน์เกษตรกร ส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้ เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ
  18. แก้ไขกฎหมายประมง ขจัดอุปสรรค เยียวยา ฟื้นฟู และพัฒนาอาชีพประมงให้ยั่งยืน
  19. ยกระดับสิทธิแรงงานทุกอาชีพให้มีสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม และได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมสอดคล้อง กับค่าครองชีพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
  20. ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  21. สร้างความร่วมมือและกลไกภายในและระหว่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษ รวมถึงการลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) โดยเร็วที่สุด
  22. ดำเนินการนโยบายการต่างประเทศ โดยการฟื้นฟูบทบาทผู้นำของ อาเซียน และรักษาสมดุล การเมืองระหว่างประเทศของไทยกับประเทศมหาอำนาจ

 

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก วิกิพีเดีย

ข่าวยอดนิยม