อดีตประธานที่ปรึกษาพิเศษ EEC ร่วมทีมเศรษฐกิจพลังประชารัฐ
พรรคพลังประชารัฐ มอบหมาย อดีตประธานที่ปรึกษาพิเศษ EEC ในฐานะทีมเศรษฐกิจ ดูแลเขตพัฒนาพิเศษ 14 จังหวัด ชายแดนใต้
พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เปิดตัว ดร.คณิศ แสงสุพรรณ อดีตประธานที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมทีมนโยบายพรรคพลังประชารัฐในโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งเป็นหัวเรือหลักในการขับเคลื่อนนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษชายแดนใต้ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างความมั่งคั่ง ให้กับพี่น้องทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้
ดร.คณิศ แสงสุพรรณ มีความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน การพัฒนาเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ผ่านมา มีประสบการณ์และได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการนโยบายการเงิน, กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการธนาคารพาณิชย์ และ กรรมการการบินไทย
โดย ดร.คณิศ นั่งเป็นประธานที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการ นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC เป็นเวลากว่า 4 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเศรษฐกิจที่พรรคพลังประชารัฐให้การสนับสนุน
ดร. คณิศ กล่าวว่า หลายเดือนก่อน พล.อ.ประวิตร ได้พบปะกับ นายอันวาร์ อิมราฮิม นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียที่กรุงเทพฯ ได้มีการหารือกันเรื่องชายแดนภาคใต้ของไทยและภาคเหนือของมาเลเซีย เป็นที่มาของโครงการเขตพัฒนาพิเศษชายแดนภาคใต้เป็นนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ
เป็นเหตุผลที่ตัดสินใจเข้าสู่พรรคพลังประชารัฐ เพราะต้องการอาศัยความเป็นผู้นำที่จะก้าวข้ามความขัดแย้งทั้งเรื่องการระหว่างประเทศ สร้างความปรองดอง และความเข้าใจระหว่างหน่วยงานต่างๆ และประชาชนในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนโครงการนี้ให้สำเร็จ
สำหรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษชายแดนภาคใต้ มุ่งหวังให้เป็นความร่วมมือของทั้งสองประเทศ จะมีการจัดทำแผนเพื่อเชื่อมโยงเขตพิเศษทางเศรษฐกิจเข้าไว้ด้วยกัน ในฝั่งไทย โครงการดังกล่าว จะเชื่อมต่อ 5 จังหวัด คือ สงขลา ยะลา สตูล ปัตตานี นราธิวาส รวมเป็นเขตพัฒนาพิเศษแบบ EEC
โดยมีอย่างน้อย 6 โครงการเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ เช่น ยกระดับรายได้เกษตรกร ด้วยการแปรรูปพืชเกษตรให้มีคุณภาพ อาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่มุ่งสู่ตลาดโลก
พัฒนาการท่องเที่ยว ทั้งฝั่งอ่าวไทย ทำตากใบโมเดล ฝั่งอันดามัน ทำสตูลโมเดล ผ่านโครงข่ายเรือและเครื่องบินท่องเที่ยว เพื่อนำรายได้สู่พื้นที่
มีการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานหลัก เช่น Motorway และ Landbridge เชื่อมทั้ง 2 ฝั่งทะเล
สนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตลอดข้างทางของ Motorway เช่นศูนย์กลางอาหารระดับนานาชาติ อิเล็กทรอนิกส์ พลังงาน ยา โลจิสติกส์
ขยายความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างสองประเทศ และ ใช้ธนาคารอิสลามเป็นธนาคารหลักของเขตพัฒนาพิเศษ