ข่าว

อดีต กกต. ห่วง 'นโยบาย' หลาย 'พรรคการเมือง' ไม่คำนึงถึงกฎหมาย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การเลียนแบบกันออก 'นโยบาย' ที่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินของหลาย 'พรรคการเมือง' ทำให้อดีต กกต. กังวลว่า จะผิดกฎหมายวินัยการเงินการคลัง

 

อดีตกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ห่วงการเลียนแบบ นโยบายของหลายพรรคการเมือง ที่ใช้งบประมาณแผ่นดินจำนวนมาก หลัง กกต. ระบุว่าสามารถทำได้ ทั้งที่ในข้อเท็จจริง การทำนโยบาย ควรคำนึงถึงขีดความสามารถทางงบประมาณรายจ่ายของประเทศ เช่น ปี 2568 มี 3.3 ล้านล้านบาท เป็นงบลงทุน 20.5 % ที่เหลือเป็นรายจ่ายประจำ และการก่อหนี้สาธารณะ ต้องไม่เกินเพดาน 70 %  ของ GDP

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้งระบุว่า หากจะเอางบประมาณแผ่นดินมาใช้ในนโยบายประชานิยม ต้องพิจารณาว่าจะเอามาจากส่วนใด  หากจะตัดงบลงทุนก็ต้องเติมกลับเข้าไป เพราะ กฎหมายวินัยการเงินการคลังกำหนดไว้ชัดว่า งบลงทุนต้องไม่น้อยกว่า 20% หากจะกู้ก็ต้องมีเหตุและผลที่เหมาะสม เพราะจะส่งผลต่อหนี้สาธารณะของประเทศ

 

จากการเปรียบเทียบในเชิงตัวเลข หลายพรรคใช้งบประมาณมากกว่าพรรคเพื่อไทยหลายเท่า เช่น นโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของพรรคพลังประชารัฐ ที่ระบุว่าจะให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไป คนละ 3,000 บาท  70 ปีขึ้นไป 4,000 บาท และ 80 ปีขึ้นไป 5,000 บาท หากจ่าย 4 ปี งบประมาณจะอยู่ที่  2 ล้านล้านบาท มากกว่าของพรรคเพื่อไทยถึง 4 เท่า

ในทางกฎหมายต้องพิจารณา 2 เรื่อง คือเป็นความผิดสัญญาว่าจะให้ ตามมาตรา 73 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ซึ่งหน้าที่การตีความควรเป็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่ใช่หน้าที่ของเลขาธิการ กกต.  ทั้งนี้ไม่ควรมีสิทธิมาพูดก่อนล่วงหน้า จะผิดหรือไม่ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของ กกต. และกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ ปี 2561

 

ซึ่งเกิดจากการประชุมระดมความคิดจากนักวิชาการ ผู้มีประสบการณ์ในการบริหารการเงินการคลังภาครัฐ ที่มองปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่อาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายที่มุ่งได้รับคะแนนนิยมจากประชาชน มากกว่า ความมั่นคงและยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีข้อกำหนดทางวินัยการเงินการคลังเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินจะทั้งในหรือนอกประเทศ ของหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ ต้องไม่เกินเพดานหนี้สาธารณะ ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ ไม่เกิน ร้อยละ 70 ของ GDP.

 

กฎหมายวินัยการเงินการคลัง กลายเป็นข้อห้ามและข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายที่หวือหวา จึงมีลักษณะเป็นแนวอนุรักษ์นิยม (Conservative) และอาจเป็นไม่ถูกใจของพรรคการเมืองแนวเสรีนิยม (Liberalist) ทั้งนี้เพื่อมุ่งรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ตราบใดที่ กฎหมายยังมีอยู่ ก็ยังจำเป็นต้องยึดถือ จนกว่าคณะรัฐมนตรี หรือ สภาผู้แทนราษฎร ชุดใหม่ จะเห็นว่า ไม่เป็นประโยชน์ ก็สามารถใช้กลไกทางนิติบัญญัติในการแก้ไขในอนาคตได้

 

ส่วนมาตรา 57 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ที่กำหนดว่าพรรคการเมืองต้องระบุแหล่งที่มาในการใช้งบประมาณ แต่มาตราดังกล่าวไม่ค่อยมีผลในการบังคับใช้ และ กกต.เองมีข้อจำกัดในการวิเคราะห์ อาจไม่มีผู้เชี่ยวชาญทางเศรษศาสตร์มหภาคที่จะบอกว่าตัวเลขต่าง ๆ จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไร ส่วนบทลงโทษในมาตรานี้ค่อนข้างน้อย คือการตักเตือน และปรับแค่วันละ 10,000 บาทจนกว่าจะมีการแก้ไขให้ถูกต้อง ซึ่งขณะนี้มีการส่งข้อมูลเพียงไม่กี่พรรคเท่านั้น

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ