
'กกต.' รองรับ 49 พรรค หาเสียงตามหมายเลขจับสลากได้
'กกต.' ตรวจสอบเอกสารครบ 49 พรรค หาเสียงตามหมายเลขจับสลากได้ ขณะที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี รอเปิดรายชื่อทางการอีกครั้ง ยืนยันบัตร 2 ใบ แตกต่างชัดเจนป้องกันความสับสน
เมื่อวันที่ 4 เม.ย. นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุปภาพรวมการรับสมัคร สส.บัญชีรายชื่อ วันแรกจำนวน 49 พรรค ว่า จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานทั้งหมด พบว่าทั้ง 49 พรรค มีเอกสารเรียบร้อย ดังนั้นหมายเลขที่จับไปในวันนี้ จึงใช้เป็นหมายเลขในการหาเสียง สส.บัญชีรายชื่อได้ นอกจากนี้มีพรรคการเมืองที่มายื่นเอกสารในช่วงหลังจาก 08.30 น. จำนวน 5 พรรคตามขั้นตอนจะได้รับหมายเลขเรียงลำดับเวลาที่มายื่นเอกสารทันที รวมเป็นทั้งหมดวันนี้มีพรรคการเมืองมาสมัครจำนวน 53 พรรคการเมือง
ส่วนรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีการยื่นทั้งหมด 16 พรรค 20 คน หลังจากนี้ กกต.จะแจ้งอย่างเป็นทางการอีกครั้ง พร้อมเปิดรายชื่อผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อแต่ละพรรค ซึ่งจะตรวจสอบคุณสมบัติเช่นเดียวกับสส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง หากพบว่า ไม่มีคุณสมบัติจะไม่ประกาศรายชื่อ ซึ่งผู้ที่ถูกตัดรายชื่อออก สามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้ หากศาลไม่คืนสิทธิให้พรรคการเมืองก็จะเหลือจำนวนผู้สมัครเท่าที่มีอยู่ ขณะที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีกฎหมายกำหนดให้กกต.เป็นเพียงผู้รับแจ้งชื่อเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติ
นายแสวง กล่าวถึงการวิพากษ์วิจารณ์ทำไมไม่ให้พรรคการเมืองยื่นเอกสารก่อนให้จับหมายเลขเลยว่า กฏหมายกำหนดชัดเจน หมายเลขจับสลาก ไม่ใช่หมายเลขที่ใช้หาเสียง เมื่อเตรียมเอกสารครบถ้วนและชำระค่าธรรมเนียมครบถ้วนทุกพรรค ถือว่าหมายเลขดังกล่าวเป็นหมายเลขหาเสียงโดยอัตโนมัติ
ส่วนการตรวจสอบคุณสมบัติแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ตามระเบียบปฏิบัติที่ผ่านมาไม่ต้องมีการตรวจสอบ หากแต่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วคุณสมบัติต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดคุณสมบัติของรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี กับการเป็น สส. เช่นคุณสมบัติของรัฐมนตรี หากเคยถูกพิพากษาให้จำคุกก็ไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้ และหากรู้ตัวอยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติ หากได้ดำรงตำแหน่งแล้ว ยังสามารถไปลาออกจากตำแหน่งที่นายกรัฐมนตรีได้ และกฎหมายเปิดให้ดำเนินการได้ เช่นการกระทำที่เป็นลักษณะต้องห้าม เช่น การถือหุ้น ต้องไปดำเนินการให้ถูกต้องแล้วค่อยนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯรับการแต่งตั้ง
ส่วนบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จะสร้างความสับสนให้ประชาชนหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า บัตรเลือกตั้งแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อแตกต่างกันชัดเจน บัตรเลือกตั้งจะให้หมายเลขผู้สมัครทั้งหมดอยู่หน้าเดียวกันและในหน่วยเลือกตั้งมีหมายเลขผู้สมัครและหมายเลขแบบบัญชีรายชื่อไว้อำนวยความสะดวกให้ประชาชนด้วย