ข่าว

'ก้าวไกล' กัดไม่ปล่อย ยื่น 'ศาลรัฐธรรมนูญ' เอาผิดศักดิ์สยาม ม.144

'ก้าวไกล' กัดไม่ปล่อย ยื่น 'ศาลรัฐธรรมนูญ' เอาผิดศักดิ์สยาม ม.144

16 มี.ค. 2566

ฝ่ายค้าน ยื่น 'ศาลรัฐธรรมนูญ' วันพรุ่งนี้ เอาผิด 'ศักดิ์สยาม ชิดชอบ' ตามรัฐะรรมนูญมาตรา 144 โทษตัดสิทธิ์เป็นรัฐมนตรี 2ปี

 

ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ในฐานะผู้ร้องที่ 1 และผู้ร้องที่ 2 จะร่วมกันยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 17 มีนาคมนี้ สืบเนื่องจากกรณีศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยกรณีการคงไว้ซึ่งหุ้นส่วน และยังคงเป็นผู้ถือหุ้น และเจ้าของ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น โดยวันพรุ่งนี้ จะเป็นการยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 144

 

ก่อนหน้านี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านเคยยื่นต่อประธานสภาฯ มาแล้ว พร้อมกับคำร้องมาตรา 170 และมาตรา 82 ที่มีผลให้ศักดิ์สยามถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่เนื่องจากฝ่ายกฎหมายของสภาฯ ตีความว่าความผิดตามมาตรา 144 นั้นไม่อยู่ในอำนาจของประธานสภาฯ ที่จะยื่น ทางพรรคก้าวไกลและพรรคประชาชาติ จึงร่วมกันร่างคำร้องและรวบรวมรายชื่อ สส. จำนวน 1 ใน 10 ของ สส. ทั้งหมด เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง 

 

ปกรณ์วุฒิบอกว่า ปัจจุบันได้รายชื่อ สส. ครบแล้ว จังหวะการยื่นครั้งนี้ไม่ใช่การฉวยโอกาสทางการเมือง เพราะตั้งแต่แรกคำร้องตามมาตรา 144 เคยอยู่ในคำร้องเดียวกันกับคำร้องฉบับก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 แต่เมื่อทางประธานสภาฯ แจ้งว่าไม่มีอำนาจในการยื่นตามมาตรา 144 ทำให้ต้องตัดเนื้อหาบางส่วนออก ดังนั้น คำร้องฉบับนี้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องยื่นอยู่แล้ว เพราะเป็นส่วนประกอบที่จะทำให้คำร้องฉบับก่อนหน้านั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยคาดว่าผลคำวินิจฉัยในคำร้องก่อนหน้า จะส่งผลต่อเนื่องมาถึงคำร้องนี้ด้วย

 

เมื่อถามถึง คำร้องเดิมที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ไปแล้วนั้น ปกรณ์วุฒิกล่าวว่า เมื่อดูตามข้อกฎหมายแล้ว เรื่องนี้จะมีผลสืบเนื่องในอนาคต เพราะตามคุณสมบัติของรัฐมนตรีนั้น ระบุว่าหากเคยถูกวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติ จะไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ไปอีก 2 ปี ดังนั้น คิดว่าศาลรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมีคำวินิจฉัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าศักดิ์สยาม จะยังอยู่ในตำแหน่งในวันที่มีคำวินิจฉัยหรือไม่ก็ตาม

 

 

ทั้งนี้ สาระสำคัญ รัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคสาม ระบุว่า “ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการ การเสนอ การแปรญัตติหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาหรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย จะกระทำมิได้”