ข่าว

ปรากฎการณ์ 'พรรคการเมือง' หาเสียงผ่าน Social เลือกตั้ง66 ดุเดือดกว่าที่เคย

ปรากฎการณ์ 'พรรคการเมือง' หาเสียงผ่าน Social เลือกตั้ง66 ดุเดือดกว่าที่เคย

15 มี.ค. 2566

ปรากฎการณ์ 'พรรคการเมือง' หาเสียงด้วย Social Media สนาม เลือกตั้ง66 จะดุเดือดมากยิ่งขึ้น ครีเอทีฟสอนมวยคอนเทนต์แบบไหนจะจับใจโหวตเตอร์

บรรยากาศการหาเสียงของ "พรรคการเมือง" เริ่มดุเดือดมากขึ้นเรื่อยๆ  หลายพรรคเปิดตัวแคนดิเดตนายก ประกาศนโยบายเรียกคะแนนจาก โหวตเตอร์ กันแบบไม่มีใครปราณีใคร ทุกคนงัดกลยุทธ์การหาเสียงเพื่อจะให้พรรคตัวเองได้คะแนนโหวต และได้เก้าอี้ ส.ส.มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการติดป้ายหาเสียง ริมทางเท้า ข้างเสาไฟฟ้า การเปิดเพจเฟซบุ๊กสำหรับนำเสนอนโยบายของตัวเองให้สามารถจับใจโหวตเตอร์ได้มากที่สุด

 

 

แต่นับจากนี้ต่อไปประชาชนหรือ โหวตเตอร์ทั้งหลายที่เล่นโซเชียลอาจจะถูก "พรรคการเมือง" ยิงแอดในช่องทางต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็น Facebook Youtube  Tiktok  Line เพื่อขายนโยบายกันมากยิ่งขึ้น ปรากฎการณ์การใช้ Social Media เพื่อหาเสียงนั้นเริ่มต้นและเป็นผลมากที่สุดในช่วงปี 2562 ที่ พรรคอนาคตใหม่ (ชื่อก่อนถูกยุบพรรค) ชนะการเลือกตั้งและได้คะแนนจากโหวตเตอร์มากที่สุด  รวมถึง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนปัจจุบัน ที่กวาดคะแนนอย่างท่วมท้นกันมาแล้ว ด้วยกลยุทธ์การหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียที่จับคนกรุงเทพฯได้แบบอยู่หมัด  

แน่นอนว่าความสำเร็จของ "พรรคการเมือง" และนักการเมืองทั้ง 2 กรณีไม่ได้เกิดมาจากการใช้ Social Media  หาเสียงแบบเปิดเพจ แปะรูป อย่างแน่นอน เพราะรูปแบบการหาเสียงผ่าน Social Media แม้ว่าทุกพรรคจะมองว่าเป็นเทรนด์และเป็นช่องทางที่ดีที่สุดสำหรับการเข้าถึงใจโหวตเตอร์ แต่ก็ไม่ได้ทำกันง่าย ๆ เหมือนปลอกกล้วย

 

นายประกิต กอบกิจวัฒนา ครีเอทีฟและทีมกลยุทธ์ของชัชชาติ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่และผู้ว่าฯชัชชาติ ให้สัมภาษณ์กับ คมชัดลึก ถึง มุมมอง รูปแบบ การหาเสียงของพรรคการเมืองผ่านโซเชียลสำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้อย่างสนใจ ว่า  การใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียงไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ใช่เรื่องแปลกในสนามการเมือง เพราะจากนี้ไปเราจะได้เห็นแต่ละพรรคทุ่มเงินไปกับการซื้อแอดบนโซเชียลมีเดีย และยิงโฆษณาไปยังกลุ่มโหวตเตอร์ที่เป็นเป้าหมายมากขึ้น  และในการเลือกตั้งครั้งนี้ช่องทางหาเสียงที่เรียกว่า โซเชียลมีเดียจะยิ่งดุเดือดมาก ๆ เพราะทุกพรรคเห็นความสำเร็จจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ และทุกคนสามารถใช้โซเชียลได้

 

ประกิต กอบกิจวัฒนา ครีเอทีฟและทีมกลยุทธ์ของชัชชาติ

ที่แน่ๆ คือ ทุกพรรคมีความพร้อมและมีความเท่าเทียมในการใช้โซเชียลแบบพอๆ กัน แต่สิ่งที่จะทำให้แต่ละพรรคเกิดความได้เปรียบและเสียเปรียบจากการหาเสียงผ่านโซเชียล คือการคิดกลยุทธ์ คอนเทนต์ที่จะทำยังไงให้สามารถแย่งเวลาของโหวตเตอร์มาจากคอนเทนต์อื่น ๆ ที่มีอย่างมากมายในโลกโซเชียล เพราะแค่นโยบาย และภาพลงพื้นที่ กินข้าว หอมแก้ม คงไม่เพียงพอ 

 

ประกิต กอบกิจวัฒนา ครีเอทีฟและทีมกลยุทธ์ของชัชชาติ

 

  • ลงพื้นที่และใช้โซเชียลมีเดียการหาเสียงที่ตัดขาดกันไม่ได้ 

 

ในยุคที่โลกทรานฟอร์มไปสู่ยุคดิจิทัล หลายคนอาจจะคาดหวังว่าต่อไปการหาเสียงแบบเคาะประตู ขึ้นเวทีปราศรัยอาจจะตายไปจากสนามการเมือง แต่ในความเป็นจริงรูปแบบการหาเสียงแบบดั่งเดิม และแบบที่ใช้ Social จำเป็นที่จะต้องทำคู่กัน โดย ประกิต ได้อธิบายเรื่องรูปแบบการหาเสียง และการใช้ Social ในการหาเสียงไว้อย่างน่าสนใจ ว่า ไม่ว่าจะยังไงการหาเสียงทั้ง 2 รูปแบบก็แยกออกจากันไม่ได้ เพราะพรรคการเมืองจำเป็นจะต้องลงพื้นที่จริง ขึ้นเวลาปราศรัยจริง สัมผัสชีวิตของประชาชนจริง ๆ เพื่อที่จะได้นำข้อมูลเหล่านั้นมาผลิตเป็นคอนเทนต์และเผยแพร่ลงในเพจ เพราะจริงๆ แล้วโซเชียลเป็นเพียงช่องทางที่เราจะเอาเรื่องราวจากการลงพื้นที่มาทำเป็นคอนเทนต์ เพื่อให้เกิดการขยี้ใจเหล่าโหวตเตอร์ต่อเท่านั้น และแน่นอนว่าโซเชียลไม่ใช่พื้นที่ที่พรรคการเมืองจะให้หาเสียงได้โดยตรง แต่โซเชียลเป็นเพียง 1 ช่องทางการสื่อสารที่พรรคจะต้องเอานโยบาย สิ่งที่อยากสื่อสารมาฝากไว้และให้เหล่าโหวตเตอร์ได้เข้ามารับชมเท่านั้น และตัดสินใจต่อจากนี้

 

ประกิต กอบกิจวัฒนา ครีเอทีฟและทีมกลยุทธ์ของชัชชาติ

 

  • Social Media แต้มต่อดึงคะแนนจากโหวตเตอร์ 

 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้ไม่มีพรรคไหนที่ไม่ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ ใช้โซเชียลในการหาเสียง ขอคะแนนจากประชาชน ซึ่งพรรคที่ใช้โซเชียลมีโอกาสที่จะได้คะแนนจากประชาชนอย่างแน่นอน เพราะทุกวันนี้ไม่มีใครไม่เช่นโซเชียล แต่การใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียงให้ได้ผลจะต้องมีการวางแผน วางกลยุทธ์ที่เหมาะสม เวลาก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน แน่นอนว่าพรรคที่ใช้โซเชียลในการสื่อสารมาก่อนมีความได้เปรียบ พรรคที่เพิ่งจะเริ่มทำแต่ไม่ว่าจะทำช้าหรือเร็ว เนื้อหา กลยุทธ์ คือหัวใจสำคัญของการหาเสียงบนโลกโซเชียล และต่อจากนี้ไปการหาเสียงบนโซเชียลจะกลายเป็นเกมบังคับที่มีผลต่อคะแนนโหวต และมีส่วนสำคัญในการสร้างประสบการณ์ร่วมระหว่างพรรคการเมืองและโหวตเตอร์ โดยเราเห็นได้จากความสำเร็จของพรรคอนาคตคตใหม่ หรือ พรรคก้าวไกล ที่มีคอนเทนต์เด็ดๆ มาเสริ์ฟให้คนได้ดูตลอดเวลา

 

ประกิต กอบกิจวัฒนา ครีเอทีฟและทีมกลยุทธ์ของชัชชาติ

 

  

  • ใช้ Social หาเสียงไม่ถูกวิธีไม่ ไม่มีกลยุทธ์ ไม่ต่างจากการว่ายน้ำในมหาสมุทร 

 

ดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย แต่การหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียไม่ได้ทำกันได้ง่าย ๆ อย่างที่ทุกคนกำลังคิด เพราะกว่าจะได้หนึ่งคอนเทนต์ต้องผ่านการเก็บข้อมูล วางแผน ทำการวิเคราะห์มาอย่างยาวนาน  นายประกิต อธิบายเรื่องการ สร้างคอนเทนต์และกลยุทธ์ในการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย ว่า หากการใช้โซเชียลมีเดียของพรรคการเมืองไม่มีวางแผนที่ดี ไม่ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์มาก่อนก็ไม่ต่างอะไรจากเพจที่เอาไว้โปรโมตภาพกิจกรรม ดังนั้นพรรคการเมืองอย่าลืมว่าจะต้องออกแบบการนำเสนอยังไงให้เนื้อหาสามารถหยุดโหวตเตอร์ให้ดูเราจนจบได้ ในขณะนี้รอบตัวโหวตเตอร์ก็มีคอนเทนต์จำนวนมากวิ่งเข้ามาหาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันตนเห็นว่า ทุกพรรคเปิดเพจ นักการเมืองทุกคนมีเพจ สิ่งนี้กำลังสะท้อนให้เห็นว่าหลายพรรคตีความเรื่องการใช้โซเชียลหาเสียงผิดไป  

 

ครีเอทีฟทีมชัชชาติ

 

  • สอนมวยพรรคการเมืองวางกลยุทธ์หาเสียงให้ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง 

 

ไม่มี "พรรคการเมือง"  ไหนจะเลี่ยงการหาเสียงผ่านโซเชียลได้ โดยเฉพาะในช่วงของการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นนับจากนี้ และโค้งสุดของการหาเสียง รวมไปถึงช่วงเวลาของการดีเบต นายประกิต ให้แนวทางสำหรับนักการเมืองเพื่อใช้เป็นดาบในการหาเสียงสำหรับโกยคะแนนเลือกตั้งครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ว่า นอกจากจะต้องวางแผนทำคอนเทนต์ให้ดี ให้โดนใจโหวตเตอร์ พรรคการเมืองควรให้ความสำคัญกับการสร้างเพจให้เป็นพื้นที่สำหรับการมีส่วนร่วม (involve)เพื่อจะได้เห็นปัญหา และเข้าใจในสิ่งที่คนต้องการจริง ๆ  เมื่อเราเข้าใจและรู้ที่ไปที่มาเราสามารถนำสิ่งที่ประชาชนเข้ามาแสดงความเห็นมาแปรเปลี่ยนเป็นโยบายหรือสิ่งที่ต้องทำให้แก่โหวตเตอร์ของเราได้ 

 

"ความเปลี่ยนแปลงในการหาเสียงนับจากนี้ที่เราจะได้เห็นคือ การใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียงแบบสร้าสรรค์ ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย และรูปแบบการหาเสียงที่จะมาบลัฟคู่ต่อสู้จะมีให้เห็นน้อยลง" ประกิตกล่าวทิ้งท้าย 

 

อย่างไรก็ตามหัวใจสำคัญของการหาเสียงของ "พรรคการเมือง" คือ การวางนโยบายให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ และจะต้องรู้ลึกถึงปัญหาจริง ๆ ใช้โซเชียลมีเดียเป็นหนึ่งช่องทางในการกระจายนโยบาย และสิ่งที่อยากสื่อสารกับประชาชนให้ตรงจุด ที่สำคัญอย่าสูญเสียความเป็นตัวตนและภาพลักษณ์ที่เคยทำมาตลอดไม่เช่นนั้นจะทำให้"พรรคการเมือง" จะสูญเสียโหวตเตอร์ไปแบบไม่รู้ตัว ดังนั้นการทำการตลาดการเมืองหรือ Polisic Maketing จึงเป็นวิธีการที่พรรคกาเมืองเลือกใช้มาโดยตลอด เพราะหากตีความพรรคการเมืองไม่ต่างจากสินค้า ที่มีกลุ่มโหวตเตอร์เป็นกลุ่มเป้าหมาย ประชาชนจะจดจำเราได้จากคาแรคเตอร์ ตัวบุคคล จุดยืน ของพรรคการเมือง ดังนั้นหากจะพูดว่า  Polisic Maketing และ Social media เป็นสิ่งที่นักการเมืองต้องทำควบคู่กันไปในสนามการเลือกตั้งครั้งนี้