ข่าว

แนะรัฐบาลผลักดัน​ ‘อาหารไทย’ สู่ครัวโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผู้ประกอบการแนะรัฐดัน​ “อาหารไทย” เป็น “ซอฟต์พาวเวอร์​” นำวัตถุดิบอาหารเป็นใบเบิกทางสู่ “ครัวโลก” พร้อมส่งเสริมอาหาร “สตรีทฟู้ด” ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นโกยรายได้เข้าประเทศ

เวทีเสวนา “อนาคตประเทศไทย Soft Power ขับเคลื่อนประเทศ?”  จัดโดย​เครือเนชั่น​ กรุ๊ป ฉายภาพความสำคัญของ “อำนาจละมุน” หรือซอฟต์พาวเวอร์ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าอาหารไทย ศิลปวัฒนธรรม กีฬา ที่จะช่วยสร้างรายได้จำนวนมหาศาล ซึ่งตัวแทนหน่วยงาน และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องมีข้อเสนอแนะไว้อย่างน่าสนใจ 

 

เวทีเสวนา “อนาคตประเทศไทย Soft Power ขับเคลื่อนประเทศ?”  จัดโดย​เครือเนชั่น​ กรุ๊ป

นายสรเทพ โรจน์พจนารัช ประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร สะท้อนให้เห็นว่า ร้านอาหารไทยในแต่ละประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา มีร้านอาหารไทยอยู่ถึง 5,000 ร้าน รวมถึงในประเทศอื่นๆ​ อีกมาก พบว่าเฉพาะมูลค่าการสั่งซื้อวัตถุดิบอาหารไทยในสหรัฐฯ เช่น ส่วนผสมต่างๆ ทั้งอาหารพร้อมรับประทาน,อาหารที่นำไปปรุงและของสด มีมูลค่าถึงปีละ 3,092 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  เช่นเดียวกับประเทศชิลี ที่มีมูลค่านำเข้าของกินเล่นขนมจากประเทศไทย 2,650 ล้านดอลลาร์ 

 

นายสรเทพ โรจน์พจนารัช ประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ​​​​​​

 

ดังนั้น จะมีสินค้า​ Geographical Indication  (GI)​ สินค้าที่มี​ GI หรือเครื่องหมายสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจงซึ่งคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้านั้นๆ เป็นผลผลิตจากในพื้นที่​ รัฐบาลจึงต้องส่งเสริมให้เป็นสินค้าพิเศษ เช่น​ อาหารทะเลบางประเภท ผลไม้ไทยบางประเภท เป็นต้น 

 

 

แน่นอนว่าไม่ใช่แค่การส่งออกสินค้า แต่มองในแง่การส่งเสริมการท่องเที่ยว หนึ่งในจุดมุ่งหมายของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทย คืออาหาร ไม่ใช่มากินเฉพาะ "อาหารไทย" แต่รวมถึงร้านอาหารต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นอาหารชาติใด การมากินในประเทศไทยรสชาติจะอร่อยที่สุด
เขาเสนออีกว่า รัฐบาลควรประชาสัมพันธ์ในเชิงประวัติศาสตร์ของอาหารโดยอาศัยสื่อ เช่น เน็ตฟลิกซ์ภาพยนตร์ หรือภาพยนตร์ต่างประเทศที่มาถ่ายทำในไทย​ รวมถึงสารคดีต่างๆ รัฐบาลควรยกระดับให้ร้านอาหารข้างถนน​ หรือสตรีทฟู้ด​ ให้เป็นมากกว่าแค่ร้านอาหารริมทางเดิน เพื่อสื่อสารให้รู้ถึงวิถีชุมชนของอาหารแต่ละภาค แต่ละท้องถิ่น ซึ่งมีเขตวัฒนธรรม​อาหารไทย เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งประโยชน์ของอาหารแต่ละชนิด สามารถสร้างอัตลักษณ์ให้แต่ละพื้นที่ได้  ขณะเดียวกันรัฐบาลควรมีหน่วยงานส่งเสริมธุรกิจร้านอาหารของคนไทยให้ไปเติบโตทั่วโลก เช่น หน่วยงาน Jetro ของญี่ปุ่น (องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศ) ดูแลด้านกฎหมาย ภาษี  แรงงาน และการนำเข้าส่งออก

 

ที่สำคัญกว่านั้นรัฐบาลควรส่งเสริมดูแลภาคธุรกิจร้านอาหารมากกว่านี้ เช่น​ ลดขั้นตอนเรื่องใบอนุมัติ การปรับเปลี่ยนเวลาการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ดูแลเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งค่าไฟ ก๊าซหุงต้มต่างๆ 

 

นายชุมพล แจ้งไพร หรือ “เชฟชุมพล” ผู้เชี่ยวชาญอาหารไทย ระดับมิชลินสตาร์ 2 ดาว

 

นายชุมพล แจ้งไพร หรือ “เชฟชุมพล” ผู้เชี่ยวชาญอาหารไทย ระดับมิชลินสตาร์ 2 ดาว อธิบายว่า​  ดีเอ็นเอของ “อาหารไทย” คือมีความแตกต่างและหลากหลายเมื่อเทียบกับอาหารทั่วโลก ได้แก่ รูป รส กลิ่น สี เนื้อสัมผัส ซึ่งอาหารไทยยังมีเรื่องราว แต่ต้องพัฒนาไปให้ทั่วถึง อะไรดีที่อยู่แล้วเก็บไว้ อะไรที่พัฒนาได้ก็ต้องพัฒนาต่อยอดอย่าให้สูญหายไป 

 

“อาหารไทยเป็นยาที่อร่อยที่สุดในโลก เพราะ ‘อาหารไทย’ มีส่วนผสมของสมุนไพรเยอะ ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือการพัฒนาวัตถุดิบให้ปราศจากสารเคมีตกค้าง เพื่อเป็นใบเบิกทางในการส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรป  นอกจากนี้​ ยังต้องพัฒนาเชฟไทยที่มีคุณภาพเข้าสู่ครัวโลก และพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลในการเรียนรู้อาหารไทยให้ทั่วโลกรับรู้ ไม่ว่าจะเป็นในโลก Metaverse และอาจเทิร์นเป็น NFT ที่มีคุณค่า

 

“สินค้าไทยที่มีทุกบ้าน​ อย่างซอสศรีราชา หรือน้ำจิ้มไก่​ น้ำจิ้มซีฟู้ด เป็นของที่น่าจับตามองและเป็นของที่ต้องมีทุกบ้าน ซึ่งลอกเลียนแบบได้ยาก เพราะส่วนผสมที่เป็นเอกลักษณ์คือ พริกขี้หนู ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะในประเทศไทย ถือเป็นส่วนผสมสำคัญที่ทรงพลังในเรื่องของรสชาติ เพราะฉะนั้นควรให้ความสำคัญกับการปลูกด้วยกระบวนการปลอดสารเคมีซึ่งจะเป็นใบเบิกทางที่ดีสู่ต่างประเทศ” ” เชฟชุมพล​ ระบุ


 

logoline