ข่าว

ศาล สั่ง 'คุณหญิงณัษฐนนท' ไม่ต้องชดใช้ 429 ล้าน คดี รถ-เรือดับเพลิง ปี 47

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายืน 'คุณหญิงณัษฐนนท ทวีสิน' อดีตปลัด กทม. ไม่ต้องชดใช้ 429 ล้าน คดีจัดซื้อ รถ-เรือดับเพลิง ปี 47

เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกรุงเทพมหานคร ของคุณหญิงณัษฐนนท ทวีสิน ถูกกรุงเทพมหานคร ยื่นฟ้อง ฐานกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ เกี่ยวกับการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง พร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ทำให้มีการจัดซื้อในราคาที่สูงเกินความเป็นจริง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ จากบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จํากัด ประเทศออสเตรีย เมื่อปี 2547  

 

ล่าสุด ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษา ในคดีที่คุณหญิงณัษฐนนท ทวีสิน อดีตปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยื่นฟ้อง กทม.,ผู้ว่า กทม. เเละ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 ขอเพิกถอนคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ให้ชดใช้เงินจำนวน 429,977,904.46บาท ให้กับ กทม. โดยพิพากษายืน คุณหญิงณัษฐนนท ไม่ต้องร่วมชดใช้เงินจำนวนดังกล่าว

 

โดยศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 20 ก.ย.62 โดยให้เหตุว่า ข้อเท็จจริงในคดี รับฟังได้ว่า คุณหญิงณัษฐนนท อดีตปลัด กทม. เพียงลงนามผ่านเรื่องให้นายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผู้ว่า กทม.ในขณะนั้น อนุมัติตามคำสั่งของนายสมัคร ส่วนกรณีที่อ้างว่า คุณหญิงณัษฐนนท ไม่สั่งการให้มีการตรวจสอบในเรื่องภาษีอากรนำเข้ารถ และเรือดับเพลิงจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญเหตุหนึ่ง ทำให้ กทม.ไม่สามารถนำรถดับเพลิงออกจากท่าเรือแหลมฉบัง และต้องมีข้อพิพาทกับกรมศุลกากรนั้น

 

เป็นผลมาจาก คตส.และ ป.ป.ช.ตรวจสอบการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง อุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยดังกล่าว และ กทม.ฟ้องคดีต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าต่างประเทศกลาง ขอยกเลิกข้อตกลงซื้อขายรถ-เรือดับเพลิง อุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย กับบริษัท สไตเออร์ฯ จึงไม่มีตรวจรับรถ รวมทั้ง กทม.ไม่ได้หาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ชัดเจนและยุติโดยเร็ว เป็นเหตุรถ-เรือดับเพลิง อุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยเสื่อมสภาพ 

 

ดังนั้น การที่ ผู้ว่าฯ กทม.พิจารณาว่าคุณหญิงณัษฐนนท ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยรับฟังข้อเท็จจริงมาไม่ถูกต้องครบถ้วน และมีคำสั่ง กทม.ให้คุณหญิงณัษฐนนท อดีตปลัด กทม.ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอนคำสั่ง ผู้ถูกฟ้องคดียื่นอุทธรณ์คดี

ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า แม้จะมีการเสนอหนังสือ  ลงวันที่ 25 ส.ค.47 เลขที่เดียวกันจำนวน 2 ฉบับ ถึงผู้ฟ้องคดี เพื่อขอให้เสนอนายสมัคร พิจารณาอนุมัติตามข้อ 1-4 แต่เมื่อหนังสือฉบับแรกผู้ฟ้องคดีได้มอบหมายให้ ผู้อำนวยการสำนักการคลังพิจารณา และมีการพิจารณาตามลำดับชั้นการบังคับบัญชา ก่อนที่จะเสนอนายสมัครอนุมัติ แต่นายสมัครไม่ได้ลงนามในหนังสือฉบับแรก ส่วนหนังสือฉบับที่ 2 น่าเชื่อว่า เป็นการจัดทำขึ้นภายหลัง เพราะมีข้อเท็จจริงที่ใช้ประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับการลงนามการค้า ต่างตอบแทน และคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่อนุมัติให้ใช้ข้อตกลงฯ ที่กองอำนวยการกลางฯ (กรป.กลาง) เคยทำไว้ เป็นข้อตกลงฯ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะทำในครั้งนี้เพิ่มเติมจากหนังสือฉบับแรก ผู้ฟ้องคดีก็ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักการคลังพิจารณา แต่ไม่ได้เสนอนายสมัคร ลงนามอนุมัติ ปรากฏว่านายสมัครกลับลงนามอนุมัติในหนังสือฉบับที่ 2 นี้ เสียเอง กรณีนี้จึงถือว่า ผู้ฟ้องคดีได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ก่อนที่นายสมัครจะลงนามอนุมัติแล้ว

 

ส่วนขั้นตอน การลงนามในข้อตกลงซื้อขายฯ ระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับบริษัทสไตเออร์ฯ นั้น  ในส่วนนี้รับฟังได้ว่า เดิมสำนักงานกฎหมายและคดีของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กทม.) พิจารณาจัดทำ ร่างข้อตกลงซื้อขาย โดยใช้ข้อตกลงซื้อขายอะไหล่ยานพาหนะ และสิ่งอุปกรณ์ก่อสร้างถนน สำหรับโครงการของ กรป.กลาง ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นแบบ ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือส่งทั้งร่างข้อตกลง ซื้อขายฯ ครั้งนี้ และข้อตกลงซื้อขายอะไหล่ดังกล่าว ให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา เมื่อวันที่ 18 ส.ค.47 ต่อมา พลตำรวจตรี อธิลักษณ์ ถึงผู้ฟ้องคดีขอให้เสนอนายสมัครอนุมัติให้ใช้ข้อตกลง ที่ กรป. กลาง เคยทำไว้เป็นแบบสัญญาข้อตกลงซื้อขายในครั้งนี้ และขอให้ลงนามถึงสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อถอนการตรวจร่างข้อตกลงซื้อขาย

 

โดยอ้างว่า บริษัท สไตเออร์ฯ ได้ส่งสำเนาข้อตกลงความเข้าใจในเรื่องการจัดหาสิ่งอุปกรณ์สายขนส่ง สิ่งอุปกรณ์สายช่างของออสเตรียให้แก่ กรป.กลาง ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลออสเตรีย ซึ่งข้อตกลงดังกล่าว ได้มีการตรวจร่างสัญญาจากอัยการสูงสุดเรียบร้อยแล้ว และมีลักษณะที่เหมือนการจัดซื้อ ของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในครั้งนี้ และข้อ 132 วรรคสาม ของระเบียบ สำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุฯกำหนดว่า ในกรณีที่ไม่อาจทำสัญญา ตามตัวอย่างที่ กวพ. กำหนดไว้ และจำเป็นต้องร่างสัญญาขึ้นใหม่ ต้องส่งร่างสัญญานั้น ให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาก่อน เว้นแต่หัวหน้าส่วนราชการเห็นสมควรทำสัญญา ตามแบบที่เคยผ่านการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดมาแล้ว ก็ให้กระทำได้ ผู้ฟ้องคดี จึงเสนอนายสมัครลงนามอนุมัติให้ใช้ข้อตกลงที่ กรป. กลางเคยทำไว้  ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1ได้มีหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุด ขอถอนการตรวจร่างข้อตกลงซื้อขาย วันเดียวกันนั้น นายสมัครได้ลงนามอนุมัติตามที่เสนอ และทำข้อตกลงซื้อขาย กับบริษัทสไตเออร์ฯ

  

เห็นว่า หนังสือดังกล่าว เป็นการอ้างว่ามีข้อเท็จจริงที่ใช้ในการจัดทำร่างข้อตกลงซื้อขายฯ เปลี่ยนแปลงไป และมีข้อกฎหมายให้อำนาจผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ใช้ร่างข้อตกลงฯ ที่เคยผ่านการพิจารณาของ สำนักงานอัยการสูงสุดในครั้งนี้ได้ ผู้ฟ้องคดีจึงมีหน้าที่ขอคืนร่างข้อตกลงซื้อขายจากสำนักงาน อัยการสูงสุดและเสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ให้ใช้ข้อตกลงฯ ที่เคยผ่านการพิจารณาของสำนักงานอัยการ สูงสุดมาเป็นข้อตกลงซื้อขายฯ ในครั้งนี้ เพื่อให้สำนักงานกฎหมายและคดี ตรวจพิจารณาเรื่องดังกล่าวเสียก่อน แต่ปรากฏว่านายสมัครได้ลงนามในข้อตกลงซื้อขายกับ บริษัทสไตเออร์ฯ ในวันเดียวกับที่ผู้ฟ้องคดี มีหนังสือถึงสำนักงานอัยการสูงสุดขอถอนร่างข้อตกลง ซื้อขาย โดยที่ผู้ฟ้องคดียังไม่มีโอกาสส่งเรื่องให้สำนักงานกฎหมายและคดีของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตรวจพิจารณาก่อน อีกทั้ง เมื่อลงนาม ข้อตกลง ย่อมมีผลสมบูรณ์ไปแล้วนับแต่เวลานั้น การที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้มีข้อทักท้วง หรือมีข้อโต้แย้งการลงนามในข้อตกลงซื้อขายฯ จึงหาใช่การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งปลัดกรุงเทพมหานคร ยังไม่มีข้อยุติว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะได้รับความเสียหายจากการดำเนินโครงการฯ หรือไม่ และผู้ฟ้องคดีได้เกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 1 ต.ค.49 ก่อนที่ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีหนังสือลงวันที่ 28 พ.ย.51 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 แจ้งว่า การจัดซื้อรถดับเพลิงและเรือดับเพลิง พร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นการจัดซื้อในราคาที่สูงเกินความเป็นจริง ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ

 

ส่วนเรื่องภาระการเสียภาษี นายอภิรักษ์ โกษะธิน ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต่อจากนายสมัคร ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ได้ดำเนินการขอผ่อนผันเพื่อขอยกเว้นภาษีศุลกากรและภาษีมูลค่าเพิ่มจาก กรมศุลกากร เนื่องจากเป็นการจัดซื้อตามโครงการที่รับโอนภารกิจจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมาโดยตลอด ปัจจุบันอยู่ในระหว่างดำเนินการขออนุมัติยกเว้นภาษี จากกระทรวงการคลัง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินการขอผ่อนผันการชำระภาษี ในระหว่างการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว

 

ดังนั้น ขณะที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งปลัดกรุงเทพมหานคร จึงยังไม่อาจสั่งการตรวจสอบเรื่องที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ต้องรับภาระในการเสียภาษี ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1ไม่สามารถนำรถดับเพลิงออกจากท่าเรือแหลมฉบัง และต้องมีข้อพิพาทกับกรมศุลกากรแต่อย่างใด พฤติการณ์การกระทำ ของผู้ฟ้องคดีจึงไม่ใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1ได้รับความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามมาตรา 8 ประกอบกับมาตรา 10 แห่ง พรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 คำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน จำนวน 429,977,904.46บาท  จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ