ข่าว

ค้านกฎหมายคุมสื่อ รัฐบาลซุ่มดันเข้าสภาฯ 7ก.พ. จ่อดัน3วาระรวด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จับตา 7 ก.พ.นี้ รัฐบาล ดัน "กฎหมายคุมสื่อ" ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เข้าที่ประชุมร่วม 2 สภา จ่อดัน3วาระรวด

จับตา "กฎหมายคุมสื่อ" หรือ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. ซึ่งคณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ ถูกบรรจุอยู่ในวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 8 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ ซึ่งจะประชุมกันในวันวันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เวลา 09.00 น.


นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายและสิทธิ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เปิดเผยว่าในที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 จะมีการประชุมร่วมของรัฐสภา คือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อพิจารณาเรื่องด่วนคือ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... ซึ่งเป็นร่างที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล

 

ดังนั้นหากผ่านการพิจารณาร่วมของทั้ง 2 สภา ก็สามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้เลย ร่างพระราชบัญญัตินี้อ้างที่มาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 35 ที่รับรองเสรีภาพในการเสนอข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพไว้ จึงมีกฎหมายลูกเป็นพระราชบัญญัติเข้ามารองรับ

นายสุรพงษ์ ซึ่งเป็นอดีตกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยหรือไทยพีบีเอส กล่าวว่า มีความกังวลต่อกฎหมายฉบับนี้ที่ไม่ครอบคลุมการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพของสื่อมวลชน รัฐบาลควรดึงกลับ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของสื่อมวลชนอย่างรอบด้านก่อนเสนอเข้ามาใหม่

 

นายสุรพงษ์กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ควรมีทั้งการคุ้มครองและส่งเสริมเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งการคุ้มครองและส่งเสริมต้องเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนในสังคม แต่พระราชบัญญัติฉบับนี้กลับให้เป็นเพียงหน้าที่ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนเพียงองค์กรเดียวเท่านั้น การคุ้มครองและส่งเสริมเสรีภาพสื่อมวลชน มีเพียงมาตรา 5 ซึ่งเป็นมาตราเดียวอยู่ในหมวด 1 ที่ไม่ครอบคลุม

 

จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการคุ้มครองและส่งเสริมเสรีภาพสื่อมวลชนมากขึ้น และจะต้องมีรายละเอียดอีกหลายมาตราเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมเสรีภาพของสื่อมวลชน มาตราที่เหลือเป็นเรื่องของสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ดังนั้นจะเห็นชัดเจนว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่ใช่พระราชบัญญัติในการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพของสื่อมวลชน

นายสุรพงษ์กล่าวว่า การคุ้มครองเสรีภาพสื่อมวลชนที่ปฏิบัติตามจริยธรรมที่ต้องมี แต่ไม่มีในกฎหมายฉบับนี้คือ กรณีสื่อมวลชนถูกรังแกจะช่วยเหลืออย่างไร หรือสื่อมวลชนถูกฟ้องเพื่อปิดปาก กฎหมายจะเข้าไปคุ้มครองอย่างไร ถ้าสื่อมวลชนเสนอข่าวสารและความคิดเห็นตามจริยธรรมสื่อมวลชน ต้องไม่ถูกรังแกและไม่ถูกฟ้อง และต้องกำหนดหน้าที่ของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนที่จะต้องทำการคุ้มครองสื่อมวลชนด้วย การคุ้มครองและส่งเสริมสื่อมวลชนอย่างเสมอภาค ไม่มีการเลือกปฏิบัติ

 

“สื่อมวลชนที่จดแจ้งและไม่จดแจ้ง สื่อมวลชนทั้ง 2 ประเภทต้องได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้อย่างเท่าเทียมกัน เนื่องจากพระราชบัญญัติฉบับนี้เน้นให้ประโยชน์กับสื่อมวลชนที่จดแจ้งเป็นสำคัญ นอกจากนี้ในบทเฉพาะกาล ต้องกำหนดให้กรมประชาสัมพันธ์ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการสรรหากรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนเท่านั้น โดยไม่ต้องทำหน้าที่หน่วยงานธุรการให้กับสภาวิชาชีพสื่อมวลชน เพราะโดยหลักการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนต้องเป็นอิสระจากอำนาจรัฐและการจัดการโดยรัฐ ดังนั้นจึงใคร่เรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ออกจากการพิจารณา เพื่อไปปรับปรุงและรับฟังความคิดเห็นของสื่อมวลชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้รอบด้านครบถ้วน”นายสุรพงษ์ กล่าว

 

คลิกอ่าน>> ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ….

logoline