ข่าว

กทม.เปิดรับฟังความเห็น 'แบ่งเขตเลือกตั้ง' 4-13 กุมภาพันธ์ นี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

5 รูปแบบ 'แบ่งเขตเลือกตั้ง' กรุงเทพมหานคร เปิดให้แสดงความเห็นผ่านคิวอาร์โค๊ด 4-13 กุมภาพันธ์นี้ ตามประกาศ กกต.

 

กกต.กทม.วอนพรรคการเมือง-ประชาชนช่วยกันแสดงความเห็นประกาศ 5 รูปแบบ การแบ่งเขตเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 4 – 13 กุมภาพันธ์นี้    ก่อนสรุปความเห็นให้ กกต.กลาง 16 กุมภาพันธ์ 

 

สำนักงาน กกต.กทม. ได้ประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร  เป็นเวลา 10 วัน   โดยจะเริ่มแสดงความคิดเห็นได้ในวันพรุ่งนี้  ซึ่งสำนักงาน กกต.กทม.ได้จัดทำประกาศ แผนที่รูปแบบการแบ่งเขต บรรจุไว้ใน  QR CODE   โดย กทม. จัดทำรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งไว้  5 รูปแบบ

 

นายสำราญ  ตันพานิช ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร บอกว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นเพียงขั้นตอนการเริ่มต้น    โดยให้ ผอ.กกต.จังหวัดและกรุงเทพมหานคร  เป็นผู้ดำเนินการจัดการแบ่งเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 3 รูปแบบ ต่อ 1 จังหวัด   เพื่อประกาศ รับฟังความคิดเห็น พรรคการเมือง ประชาชน ในเขตนั้นๆ  ยังไม่ได้เคาะกว่ารูปแบบไหนดีกว่าแบบไหน    ซึ่ง กทม.แบ่งเขตเลือกตั้งไว้ 5 รูปแบบ ทุกรูปแบบเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ทุกประการ   โดยจะรับฟังความเห็นพรรคการเมือง คนกรุงเทพว่ารูปแบบไหนที่เห็นว่ามีความเหมาะสมที่สุดกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น   

 

คิวอาร์โค๊ด สแดงความเห็นแบ่งเขตเลือกตั้ง กทม.

คิวอาร์โค๊ดแสดงความเห็นแบ่งเขตเลือกตั้งกทม.

 

หลังจาก 10 วันแล้ว จะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดในแต่ละรูปแบบเสนอต่อ กกต.กลางให้วินิจฉัยรูปแบบเขตเลือกตั้งที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุด   ซึ่งวิธีการขั้นต้นในการแบ่งเขตแต่ละจังหวัดไปดำเนินการ    โดยออกประกาศรูปแบบการแบ่งเขตวันนี้    มีผลวันพรุ่งนี้   และเริ่มแสดงความคิดเห็นได้ไปจนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์รวมระยะเวลา 10 วัน ตามที่กำหนด  และภายในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ทุกจังหวัดก็จะพิจารณารูปแบบที่เห็นว่ามีความเหมาะสมเรียงตามลำดับ

 

 

 

ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร ยอมรับว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งในครั้งนี้    ในส่วนของ กทม.มีการเปลี่ยนแปลงจากการเลือกตั้งปี  2562    ซึ่งเดิมมี 30 เขต  ส.ส. 30 คน   ปัจจุปันเพิ่มมาเป็น 33 เขต ส.ส. 33 คน    ซึ่งในการแบ่งเขตได้นำรูปแบบการแบ่งเดิมมาปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามเงื่อนไขในมาตรา 27 กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.   ก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็น ขณะเดียวกันก็ย้อนไปดูการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 และ 2557 ที่มี 33 เขตเลือกตั้งเท่ากันด้วย

 

คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 และประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปครั้งแรก ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 พร้อมให้ความเห็นชอบกรอบระยะเวลาการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ดำเนินการดังนี้

 

1.จังหวัดที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมากกว่า 1 คน ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจัดทำรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งภายใน 3 วัน โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขต ให้ติดต่อกันและต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งใกล้เคียงกัน แล้วประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างน้อย 3 รูปแบบ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดเป็นเวลา 10 วัน ซึ่งแต่ละรูปแบบต้องประกอบด้วย

  • รายละเอียดเกี่ยวกับอำเภอหรือตำบล หรือเขตพื้นที่ที่อยู่ในเขตเลือกตั้งแต่ละเขต
  • จำนวนราษฎรของแต่ละเขตเลือกตั้ง และผลต่างของของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งจากจำนวนเฉลี่ยราษฎรต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คนในจังหวัดนั้น ทั้งนี้ ผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของจำนวนเฉลี่ยต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คนในจังหวัดนั้น เว้นแต่ เป็นกรณีมีความจำเป็นเพื่อให้ราษฎรในชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกันสามารถเดินทางได้โดยสะดวก
  • เหตุผลประกอบการเสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้ง
  •  แผนที่แสดงรายละเอียดของพื้นที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งแต่ละเขตเลือกตั้ง

ในกรณีที่จังหวัดใดมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 และมีผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งจากจำนวนเฉลี่ยราษฎรต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคนในจังหวัดนั้นไม่เกินจำนวนผลต่างที่กำหนดไว้ใน (2) ให้จัดทำรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ใช้ในการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปเมื่อปี 2562 และประกาศรับฟังความคิดเห็นในการแบ่งเขตเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย

 

 2. ให้ดำเนินการปิดประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ ณ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล ทั้งนี้ ให้รวมถึงศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร สำนักงานเขต และศาลาว่าการเมืองพัทยาด้วย และให้เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองและประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น

 

  3. จังหวัดที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 1 คน ให้ดำเนินการปิดประกาศเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ ณ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล และให้เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ