การแก้ปัญหายาเสพติด ของรัฐบาลกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนกฎกระทรวงให้ผู้ครอบครองยาเสพติดมากกว่า 1 เม็ด เป็นผู้ค้า แม้จะยังไม่ได้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และถูกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะมองว่าแก้ปัญหายาเสพติดไม่ได้ ทำให้นึกถึงยุคสมัยที่มีการปราบปรามยาเสพติดอย่างหนัก จนมีปัญหาสิทธิมนุษยชนตามมา
ย้อนกลับปี2539 ในรัฐบาลพล.อ. เชาวลิต ยงใจยุทธ เสนาะ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น คือผู้ตั้งชื่อยาเสพติดประเภท เมทแอมเฟตามีน ว่า ยาบ้า หลังเกิดการแพร่ระบาดอย่างหนักในห้วงเวลาดังกล่าว
ปี 2546 รัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ประกาศสงครามกับยาเสพติด ส่งผลให้มีการปราบปรามอย่างเด็ดขาด บรรดามาเฟียขาใหญ่ นักค้ารายย่อย
รัฐบาลกำหนดกรอบเวลาปฏิบัติการที่เร่งรัดอย่างมาก ต้องบรรลุผลภายใน3เดือน ทุกอำเภอต้องรายงานผลการดำเนินการต่อศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดจังหวัด (ศตส.จ.) ภายในเวลา 16.30 และ ศตส.จ. ต้องรายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบภายในเวลา 18.00 น.ของทุกวัน ทุกจังหวัดต้องทำยอดให้ได้ 25% ของตัวเลขที่ส่วนกลางกำหนดไว้
ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2546 มีคดีฆาตกรรมเกิดขึ้นสูงเฉลี่ยถึงร้อยละ 87.98 ต่อเดือน หรือเฉลี่ยจากเดือนละ 454 คดี เป็น 853 คดี คณะกรรมการฯ (คตน.) ระบุว่ามีคดีฆาตกรรมเกิดขึ้น 2,604 คดี เป็นคดีฆาตกรรมที่ผู้ตายมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด 1,187 คดี โดยมีผู้เสียชีวิต 1,370 คน มีการประกาศเป็นวาระแห่งชาติ จำนวนคดียาเสพติดและผู้เกี่ยวข้องลดลงอย่างเห็นได้ชัด ภายใต้แนวคิดหลัก ภายใต้แสงอาทิตย์นี้ ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้
ในปี 2552 รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กำหนดยุทธสาสตร์ 5 รั้ว แก้ปัญหายาเสพติด ประกอบด้วย รั้วชายแดน ปลุกพลังคนชายแดนป้องกันไม่ให้ยาเสพติดทะลักเข้ามา รั้วชุมชน ดึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม.เข้ามาร่วมแก้ปัญหา รั้วสังคม สร้างพื้นที่ ในเชิงสร้างสรรค์เช่นลานดนตรี ลานกีฬา ลานกิจกรรมให้เยาวชน รั้วโรงเรียน ช่วยปลูกฝังและสอดส่องพฤติกรรมเด็ก และรั้วครอบครัวต้องมีความเข้มแข็งพร้อมดูแลสมาชิกในครอบครัวและมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อเอาชนะยาเสพติดในทุกจังหวัด
รัฐบาลเพื่อไทยดำเนินนโยบายปราบปรามยาเสพติด ตามแนวทางของ ทักษิณ ชินวัตร นโยบายปราบปรามยาเสพติด ถูกวางไว้เป็นนโยบายเร่งด่วน ของรัฐบาลและเป็นวาระแห่งชาติ โดยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีต้องการแก้ไขจุดอ่อน ที่เคยถูกโจมตีในสมัยรัฐบาลทักษิณ จึงวางยุทธศาสตร์การปราบปรามยาเสพติดในลักษณะ เชิงการป้องกันควบคู่การปราบปราม คือ ยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ คงแนวทางเดิมในสมัยรัฐบาลทักษิณที่เป็นเชิงแข็งกร้าว ในการปราบปราม และเน้นหนักการป้องกันและการบำบัดรักษาที่เป็นเชิงละมุนมากขึ้น ใช้เป้าหมายเชิงปริมาณมากำกับชี้วัดความสำเร็จของนโยบายปราบปรามยาเสพติด ทั้งการป้องกันและการบำบัดรักษา
ขณะที่นโยบายการแก้ปัญหายาเสพติด รัฐบาลปัจจุบัน กำหนดให้ปัญหายาเสพติดเป็นนโยบายระดับชาติ มีการปรับปรุงประมวลกฎหมายยาเสพติด เพื่อทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ การปราบปรามขยายผล มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีศูนย์ปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ มีมาตรการป้องกันผู้เสพหน้าใหม่ และการทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่สีขาว โดยมีกองทัพสนับสนุนดูแลพื้นที่ชายแดน กระนั้นสถานการณ์ การแพร่ระบาดยาเสพติดก็ไม่มีทีท่าว่าจะทุเลาลง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง