ข่าว

40.1 ล้านคน'แรงงาน' ฐานเสียงสำคัญพรรคการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สำรวจนโยบาย'ค่าจ้างแรงงาน'พรรคการเมือง ก่อนเลือกตั้งครั้งใหม่ นโยบายพรรคไหนตอบโจทย์ 40.1 ล้านคนวัยทำงานบ้าง

 

ปลายปีที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย เรียกเสียงฮือฮาจากการประกาศนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ในปี 2570 หรืออีก5 ปี ข้างหน้า จากการเลือกตั้งเมือปี 62 ที่เสนอค่าแรงขั้นต่ำไว้ 400 บาทต่อวันเงินเดือนปริญญาตรี 18,000 บาท  โดยเชื่อว่า ค่าแรง 600 บาทต่อวัน จะเป็นตัวเร่งสำคัญในระบบเศรษฐกิจ เพราะจะมีแรงซื้อตามมาจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้น

 

นอกจากมีเสียงวิพากวิจารณ์ตามมาว่าเป็นนโยบายประชานิยมขายฝันยังถูก สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีแรงงานที่ยังสังกัดพรรคพรรคพลังประชารัฐในขณะนั้นบอกว่า เป็นการหาเสียงแบบนึกสนุกไม่คำนึงถึงหายนะทางเศรษฐกิจ โยนระเบิดเวลาให้เจ้าของกิจการ โยนภาระให้ภาคเอกชน 

 

 

การเลือกตั้งปี 62 พรรคพลังประชารัฐก็เสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 - 425 บาทต่อวัน เงินเดือนอาชีวะ 18,000 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 20,000 บาท เช่นกัน  แม้ได้เป็นรัฐบาลจนกระทั่งใกล้ครบวาระ แต่ค่าแรงขั้นต่ำก็ขยับขึ้นมาได้แค่ใกล้เคียงนโยบายที่หาเสียงไว้ในบางพื้นที่เท่านั้น

การเลือกตั้งที่งวดใกล้เข้ามาพรรคพลังประชารัฐยังไม่ประกาศนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ แต่หันไปรีแบรนดิ้ง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจน ที่มีมาตั้งแต่ปี2560 ด้วยการประกาศเพิ่มวงเงินจากเดิม 200 - 300 บาทต่อคนต่อเดือน เป็น 700 บาททันทีที่ได้เป็นรัฐบาลแทน

 

พรรคก้าวไกล ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทันทีเป็น 450 บาท หากได้เป็นรัฐบาลโดยคำนวณให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ และดัชนีค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทุกปี  และเพิ่มการคุ้มครองสิทธิแรงงาน อาทิ ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถ้าทำงานเกินเวลา จะต้องมีค่าล่วงเวลาเป็นต้น  โดยในสมัยที่ยังเป็นพรรคอนาคตใหม่เสนอให้ปรับตามอัตราเงินเฟ้อ

 

พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเคยเสนอประกันรายได้ของแรงงาน ขั้นต่ำ 120,000 บาทต่อปี เมื่อการเลือกตั้งปี 2562  มาคราวนี้ยังไม่ประกาศนโยบายค่าแรง แจ้งเอาไว้ ว่าหลังปีใหม่จะมีความคืบหน้า

 

ขณะที่พรรคสร้างอนาคตไทยเสนอใช้ระบบกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำแบบใหม่ จากเดิมที่พิจารณากำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตามอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพในแต่พื้นที่จังหวัด  เปลี่ยนเป็นการกำหนดค่าแรงที่ยึดเอาประสิทธิภาพของแรงงานเป็นหลัก เช่นเดียวกับของประเทศสิงคโปร์

 

 

สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานประชากรวัยทำงานของประเทศไทย ณ สิ้นปี2565 อยู่ที่40.1 ล้านคน  ปลายปีที่ผ่านมาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นวันละ 712 บาท เพื่อให้เพียงพอสำหรับการเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว 3 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ  ขณะที่ แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ฐานเศรษฐกิจไว้ว่า ตามธรรมชาติ ไม่เคยมีองค์กรนายจ้างไหน เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรง

 

แต่ค่าแรงในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทยในอดีต จาก 215 บาท เป็น 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ  สะท้อนให้เห็นว่าคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปรับค่าแรงขั้นต่ำ เป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองเพื่อรองรับนโยบายรัฐบาลเท่านั้น หากรัฐบาลยืนยันจะทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มทุน

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ