ข่าว

ไทยใช้ 'รัฐธรรมนูญ' มา 20 ฉบับ นับจากปี2475

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รำลึกวันพระราชทานรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรก 10 ธันวาคม นับจาก'เปลี่ยนแปลงการปกครอง' 2475 ประเทศไทยใช้รธน. 20 ฉบับแล้ว

 

 

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

 

นี่คืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย การก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเริ่มขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นผลงานการออกแบบของหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล ซึ่งชนะการประกวดการออกแบบอนุสาวรีย์แห่งนี้ โดยได้นำสถาปัตยกรรมแบบไทยมาผสมผสาน ตรงกลางเป็นสมุดไทยที่สื่อถึงรัฐธรรมนูญประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า นอกจากการเป็นสัญลักษณ์เพื่อระลึกถึงประชาธิปไตยแล้ว อนุสาวรีย์แห่งนี้ ยังเป็นหลักกิโลเมตรที่ศูนย์ของกรุงเทพมหานครและประเทศไทยอีกด้วย

 

 

10 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันรัฐธรรมนูญถือเป็นวันที่ระลึกถึงโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทย

การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ทำให้ต้องยกเลิกพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ปีเดียวกัน

ประเทศไทยได้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นการปกครองแบบรัฐสภา เนื่องจาก พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง เป็นผู้ใช้อำนาจทางคณะรัฐมนตรี ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้บริการราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ   มิได้ใช้แต่เพียงอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น แต่มีอำนาจที่จะควบคุมคณะรัฐมนตรีในการบริหารแผ่นดินด้วย

คณะรัฐมนตรีรวมทั้งพระมหากษัตริย์ซึ่งประกอบกันเป็นรัฐบาล ก็มีอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนได้ หากเห็นว่าได้ดำเนินการไปในทางที่จะเป็นภัยหรือเสื่อมเสียผลประโยชน์สำคัญของรัฐ ซึ่งมีผลเท่ากับถอดถอนสมาชิกสภาที่ได้รับเลือกตั้งมาเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งใหม่  โดยในส่วนที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์นั้น ได้บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน ผู้ใดจะละเมิดมิได้

 

 

นับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญใช้ 20 ฉบับประกอบด้วย

1.พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475

2.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม

3.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489

4.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 รัฐธรรมนูญตุ่มแดง หรือ รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม

5.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492

6.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495

7.ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502

8.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511

9.ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515

10.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517

11.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519

12.ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520

13.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521

14.ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534

15.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534

16.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

17.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549

18.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

19.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557

20.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

 

รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด มีการแก้ไขแล้ว1ครั้ง เป็นการแก้ไขที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง กำหนดให้มีส.ส.ระบบเขต 400 เขต ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และให้คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่ทุกพรรคได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ แล้วนำไปหารด้วย 100 ผลลัพธ์ที่ได้คือ คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ