ข่าว

ผู้เสียหาย กรณีปลูกปาล์มที่อินโดนีเซีย ร้อง 'ป.ป.ช.'หยุดปฏิบัติหน้าที่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรรมการ ป.ปช. 2 ราย ถูกผู้เสียหายคดี ปาล์มน้ำมันที่ประเทศ 'อินโดนีเซีย' เรียกร้องให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ กล่าวหา ช่วยคนผิดให้พ้นโทษ

นิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ถูกกล่าวหาและผู้เสียหายในคดีปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซียได้ยื่นหนังสือกล่าวหา นางสาวสุภา ปิยะจิตติ นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา กรรมการ  ป.ป.ช.ผู้รับผิดชอบสำนวน ว่าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ปกปิดซ่อนเร้นพยานหลักฐาน ช่วยเหลือพรรคพวก ไม่ให้ได้รับโทษ พร้อมทั้งคัดค้านให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที

 

นิพิฐให้สัมภาษณ์ว่า สืบเนื่องจากที่ได้นำส่งพยานหลักฐานที่สำคัญแห่งคดี  ต่อคณะกรรมการป.ป.ช.หลายครั้งหลายหน แต่มีกรรมการป.ป.ช. ผู้รับผิดชอบสำนวนบางคนได้ ขัดขวางกระบวนการยุติธรรมโดยการ ปกปิดซ่อนเร้นพยานหลักฐานที่สำคัญในคดีไม่นำมาเข้าสำนวนและไม่นำมาพิจารณา ทั้งนี้โดยมีเจตนาช่วยเหลือพรรคพวก  และกลั่นแกล้งให้ตนได้รับโทษในทางอาญา ในวันนี้จึงนำส่งพยานหลักฐานที่สำคัญอีกครั้งต่อกรรมการป.ป.ช.รายบุคคล

 

 

หนังสือร้องเรียนตรวจสอบการทำหน้าที่ป.ป.ช.

 

โดยมีพยานหลักฐานที่สำคัญ อาทิเช่น เอกสารทางราชการของประเทศอินโดนีเซีย ที่บังคับใช้ทั่วราชอาณาจักร และราคาประเมินสวนปาล์มโดยบริษัทประเมินที่จดทะเบียน ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างปราศจากข้อสงสัยว่าตนเข้าร่วมลงทุนในโครงการในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดไม่มีความเสียหายใด แต่ความเสียหายเกิดจากการขายในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด  มีความพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงในการไต่สวน ว่า วิธีการประมูลก่อนขาย ถูกต้อง

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลว่ามีการบิดเบือนข้อเท็จจริง ว่าบริษัท PT.TAP และบริษัท CIMB (ประเทศไทย) ได้ประเมินราคาทุกโครงการถูกต้องก่อนการขายแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้เพราะ บริษัท PT.TAP และบริษัท CIMB (ประเทศไทย) ไม่ได้เป็นบริษัทประเมินราคาสวนปาล์มและไม่ได้จดทะเบียนบริษัทประเมินสวนปาล์มที่อยู่ในรายการ (list) ของ KJPP (Kantor Jasa Penilai Publik) ซึ่งถูกกำกับโดยธนาคารชาติอินโดนีเซียโดยกระทรวงการคลังอินโดนีเซียและไม่ได้จดทะเบียนอยู่ภายใต้ OJK และไม่มีใบอนุญาต STTD การประเมินจึงเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย    การที่บริษัท PT.TAP และบริษัท CIMB (ประเทศไทย)  ซึ่งไม่ใช่บริษัทประเมินทรัพย์สินมาช่วยประเมินทำให้ราคาถูกกว่าท้องตลาดอย่างมาก ทำให้ บริษัท ปตท.กรีนเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ได้รับความเสียหายอย่างมหาศาล

ผู้ดำเนินการประเมินทั้ง 2 บริษัทไม่มีคุณสมบัติเป็น KJPP (Kantor Jasa Penilai Publik) ไม่ได้จดทะเบียนภายใต้ OJK และไม่มีใบอนุญาตประเมิน STTD ตามกฎหมายอินโดนีเซีย แต่กรรมการป.ป.ช.บางคนกลับนำผลการประเมินของบริษัท PT .TAP และบริษัท CIMB (ประเทศไทย)  มาระบุว่าเป็นการประเมินที่ถูกต้อง

 

 

หนังสือร้องเรียนการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.

 

นิพิฐระบุว่า เขาได้รวบรวมพยานหลักฐานยื่นฟ้องกลุ่มที่ร่วมกันกระทำทุจริตก่อให้เกิดความเสียหายแก่ ปตท. และ ปตท. กรีนเอ็นเนอร์ยี่ ในโครงการสวนปาล์มในประเทศอินโดนีเซียต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเมื่อปี พ.ศ.2560 รวมทั้งสิ้น 6 คดี  เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า ตนเองมิใช่กลุ่มบุคคลที่กระทำการทุจริตในโครงการปาล์มอินโดฯ และทำให้ ปตท. ต้องเสียหาย    แต่ปรากฏว่านางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ผู้รับผิดชอบสำนวนได้มีหนังสือถึงศาลอ้างว่าเรื่องดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จนเป็นเหตุให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีทั้งหมดเพื่อรอผลการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.  แต่กระทั่งปัจจุบันคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ได้เริ่มลงมือไต่สวนข้อเท็จจริงในประเด็นที่ตนได้กล่าวหาและยื่นฟ้องทั้ง 6 คดี

นิพิฐ บอกว่าเรื่องทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องกล่าวหา และคัดค้านนางสาวสุภา ปิยะจิตติ นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา กรรมการป.ป.ช.ผู้รับผิดชอบสำนวน ว่าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ปกปิดซ่อนเร้นพยานหลักฐาน ช่วยเหลือพรรคพวก ไม่ให้ได้รับโทษ และกลั่นแกล้งตนให้ได้รับโทษ ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 , 200  และมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา  172, 177, 180, 183 พร้อมทั้งคัดค้านให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันทีด้วย

และหากมีการละเว้นปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลผู้ที่ทำให้ ปตท. และ ปตท. กรีนเอ็นเนอร์ยี่ ได้รับความเสียหาย ตนจะฟ้องสำนักงานป.ป.ช.และผู้ที่เกี่ยวข้องเรียกค่าเสียหาย 2 หมื่นล้านบาท

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ