ข่าว

"มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์" จาก นักการตลาด สู่ นักการเมือง 4 ปี 3 พรรค

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดประวัติ "มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์" จาก นักการตลาด สู่ นักการเมือง กับจุดยืนที่เปลี่ยนไป ย้ายซบอก "พลังประชารัฐ"

นับเป็นข่าวที่สร้างความฮือฮา กับการแถลงเปิดตัว นาย "มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์" อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ และผู้ก่อตั้งพรรคโอกาสไทย ที่หันไปซบอก พรรคพลังประชารัฐ พร้อมยกตำแหน่งสำคัญคือ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ของพรรค

 

เมื่อปี 2562 "มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์" เคยประกาศไว้ว่า พรรคพลังประชารัฐกับตัวเค้า เป็นคนละอุดมการณ์กัน และไม่น่าจะเดินทางเดียวกันได้ แต่ในที่สุด เวลาเปลี่ยนใจคนเปลี่ยน ในที่สุด พลังประชารัฐ ก็เป็นตัวเลือกการย้ายพรรคของ "มิ่งขวัญ" อีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปี 2565

มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอายุ 70 ปี เป็นบุตรคนสุดท้อง ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 3 คน จบการศึกษาระดับมัธยม จากโรงเรียนวัดนวลนรดิศ ศิษย์โรงเรียนเดียวกับ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับปริญญาคณะนิติศาสตร์​ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประกาศนียบัตรหลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารระดับสูง จากโรงเรียนวอร์ตัน มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา  

 

จุดเริ่มต้นการทำงาน จากนักการตลาด 

 

เริ่มเข้าทำงานเป็นพนักงานฝ่ายขาย กับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์สประเทศไทย จำกัด ต่อมาเลื่อนขึ้นไปอยู่แผนกการตลาด, แผนกประชาสัมพันธ์โฆษณา, สื่อสารองค์กร จนกระทั่งได้รับตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และยังเป็น เลขานุการมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย โดยกล่าวกันว่า มิ่งขวัญเป็นพนักงานคนเดียว ในบรรดาพนักงาน 70,000 คน ของเครือโตโยต้าทั้งหมด ที่สามารถข้ามขั้นจากผู้จัดการฝ่าย ขึ้นไปเป็นผู้อำนวยการทันที โดยมิได้เป็นไปตามจารีตการบริหารแบบญี่ปุ่น คือการเรียงตามลำดับอาวุโส และชั้นงาน

 

จากนักการตลาด สู่เส้นทาง นักการเมือง

 

ต่อมา ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร นายมิ่งขวัญ มีโอกาสเข้าช่วยงาน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีทางเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น โดยเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับการท่องเที่ยว และเป็นผู้ริเริ่มการประชาสัมพันธ์ งานเย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์, เทศกาลตรุษจีนไชนาทาวน์เยาวราช และ เทศกาลดนตรีพัทยา เป็นต้น

 

มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์

จากนั้น นายมิ่งขวัญได้รับเลือก ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) โดยเริ่มงานจากการเข้าปฏิรูป สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. จากยุคเดิม ที่เป็นแดนสนธยา ให้กลายเป็น "สถานีโทรทัศน์แห่งความทันสมัย โมเดิร์นไนน์ทีวี" จนนำไปสู่การแปรรูป อ.ส.ม.ท.จากองค์การภาครัฐ ไปเป็นบริษัทของรัฐ ภายใต้ชื่อ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)

 

ต่อมาหลังเกิดการรัฐประหาร ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ได้เกิดรัฐประหาร ขึ้น นายมิ่งขวัญตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) พร้อมคณะกรรมการทั้งชุด ในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2549

 

กลับสู่เส้นทางการเมือง

 

  • ในปี 2550 พรรคพลังประชาชน ทาบทามให้เป็น หัวหน้าคณะทำงานด้านเศรษฐกิจของพรรค และในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 
  • วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ได้รับเลือกเป็น ส.ส.แบบสัดส่วน เขต 6 กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
  • วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551  เข้ารับตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในคณะรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี 
  • วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2551 มีการปรับคณะรัฐมนตรี นายมิ่งขวัญ ถูกปรับให้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมแทน จนพ้นจากตำแหน่ง หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายสมัคร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551 
  • วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2551 ศาลวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน นายมิ่งขวัญจึงย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย และได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2554 ซึ่งในครั้งนั้น เค้าได้ฝากวาทะเด็ด ประกาศก้องกลางสภา เสนอตัวเป็น นายกรัฐมนตรีคนที่ 28

 

"แล้วถ้าผมโชคดี ผมคงได้มีโอกาสสมัครเป็นนายกรัฐมนตรี แข่งกับท่านนายกฯ อภิสิทธิ์นะครับ"

 

  • วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2556 นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และขอเว้นวรรคทางการเมือง แต่ยืนยันว่า ยังคงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพรรค แม้ว่าความเห็นทางการเมืองของเขากับพรรค จะไม่ตรงกันบ้างแต่ไม่ได้มีความขัดแย้งกัน
  • จากนั้น ปี พ.ศ.2562 นายมิ่งขวัญได้เข้าร่วมและดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ เพื่อลงสมัครรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป และประกาศว่าจะไม่เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกัน

 

มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์

แต่ช่วงสงกรานต์ 2562 ชื่อของมิ่งขวัญ ติดแฮชแท็ก #มิ่งขวัญ และ #ลุงมิ่งโป๊ะแตก ขึ้นเทรนด์ยอดฮิตของทวิตเตอร์ไทย หลังมีการรายงานข่าวว่า นายมิ่งขวัญ จะนำพรรคเศรษฐกิจใหม่ พลิกไปร่วมงานกับพลังประชารัฐแทน เนื่องจาก "ลุงมิ่ง" มีสัมพันธ์อันดียิ่งกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี บุคคลที่แกนนำ พปชร. เรียก "อาจารย์" ทุกคน จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างร้อนแรงไปทั่ว

 

  • วันที่ 23 พฤษภาคม 2562 เขาประกาศขอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ สืบเนื่องมาจากตน และลูกพรรคมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่ยังไม่ลาออกจากความเป็น ส.ส. 
  • วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 มิ่งขวัญ ประกาศลาออกจาก ส.ส. ในระหว่างการอภิปรายทั่วไปซักฟอกรัฐบาล ซึ่งในการอภิปรายครั้งนั้น นายมิ่งขวัญ ได้อภิปรายเน้นย้ำถึงความล้มเหลวในการบริหารราชการของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

 

"ผมขออภิปราย และไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าท่านไปทำอะไร หรือให้ใครไปทำอะไร ทำไมพวกเขาเหล่านั้นจึงเปลี่ยนจุดยืน ผมขอบอกไว้เลยว่า สัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ผมไม่สามารถทรยศได้ 2 ปีเศษผมไม่มีความสุขกับการทำงาน" 

 

  • วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2565 ชื่อของ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ก็ปรากฎ เข้าซบอกพรรคพลังประชารัฐ ด้วยตำแหน่งที่สำคัญ ในการเป็นผู้นำพาเศรษฐกิจของพรรค

 

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า การร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ ของ "มิ่งขวัญ" ในครั้งนี้ ถูกตั้งคำถาม และกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงจุดยืนของเค้า ทั้งการประกาศไม่เข้าร่วมอุดมการณ์กับพลังประชารัฐ กับเส้นทาง 4 ปี เปลี่ยนขั้ว ย้ายพรรคมามิใช่น้อย

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ