ข่าว

"ไทยสร้างไทย" ไม่เห็นด้วย สั่ง "ห้ามชุมนุม" ช่วงเอเปค ชี้เป็นสิทธิประชาชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ไทยสร้างไทย" ไม่เห็นด้วย รัฐบาลประกาศ "ห้ามชุมนุม" 19 จุด ช่วงเอเปค ชี้เป็นสิทธิประชาชนแสดงความเห็น เพื่อให้ผู้นำต่างประเทศรับรุ้

หลังจาก ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่ตามนัยมาตรา 8 (5) แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 หรือ "ห้ามชุมนุม" ในพื้นที่ 19 แห่ง บริเวณพื้นที่จัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และสถานที่พำนัก ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกเตือน หากมีผู้ฝ่าฝืนจะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด 


ล่าสุดวันนี้ 15 พ.ย. นางสาวธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย เปิดเผยว่า ตนไม่เห็นด้วย เพราะภาคประชาชนควรได้รับพื้นที่ให้การแสดงความเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาล และมีสิทธิในการจัดชุมนุมโดยสันติ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับเจ้าหน้าที่และประชาชนโดยรอบสถานที่จัดประชุม การออกประกาศดังกล่าวจึงเห็นได้ชัดว่า รัฐบาลไม่ได้คำนึงถึงสิทธิของประชาชนเป็นหลักและไม่เห็นประโยชน์ของการเปิดเวทีภาคประชาชน

นอกจากนี้ประกาศดังกล่าวยังขัดกับหลักสากลเกี่ยวกับสิทธิการชุมนุมสาธารณะ เป็นการลิดรอนเสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มโดยสงบ ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights: UDHR) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Right: ICCPR) ที่ว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพแsj'การชุมนุมและการสมาคมโดยสงบ แต่อาจถูกจำกัดสิทธิได้โดยกฎหมาย เพื่อแสดงการยอมรับและเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น และสอดคล้องกับศีลธรรมความสงบเรียบร้อยของประชาชน และสวัสดิภาพโดยทั่วไปในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งในการประชุมระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ล้วนเปิดพื้นที่ชุมนุมสาธารณะคู่ขนานภายในบริเวณกับที่จัดงาน 

นางสาวธิดารัตน์ ยกตัวอย่าง การประชุม COP27 ที่อียิปต์ที่เกิดขึ้น อนุญาตให้ภาคประชาชนจัดการชุมนุมคู่ขนานได้ โดยมีผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและผลักดันให้เกิดกลไกการเงินเพื่อโลกร้อนในระดับโลกและระดับประเทศอย่างเป็นรูปธรรม  หรือในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในทุกๆ ปี ได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่มารวมตัวกันหน้าสถานที่จัดการประชุม โดยเป็นการชุมนุมเรียกร้องและต่อต้านรัฐบาลที่เดินทางเข้ามาร่วมงานและเป็นไปอย่างสงบ ปราศจากความรุนแรงใดๆ

"การเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนสามารถนำเสนอประเด็นที่แตกต่างจากรัฐบาล ถือเป็นการเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมและแสดงจุดยืนให้แก่ผู้นำต่างประเทศที่เข้าร่วมการประชุมเอเปค โดยเห็นว่าสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่อยู่ใกล้สถานที่จัดงาน เพื่อให้ผู้แทนจากต่างประเทศเข้ารับฟังได้สะดวก ไม่ควรปิดกั้น โดยเฉพาะเรื่องที่ประชาชนได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐบาล ซึ่งการชุมนุมต้องนำเสนอประเด็นที่เหมาะสม ไม่สร้างความแตกแยกบนเวทีระหว่างประเทศ"

logoline