ข่าว

เปิดขั้นตอนศาลรธน.รับเรื่องจนถึงวินิจฉัย วาระดำรงตำแหน่ง "นายกฯ 8 ปี"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"อัยการธนกฤต" เผย ขั้นตอน ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตีความประเด็น "นายก 8 ปี" กรณีเร่งด่วน ศาลจะต้องพิจารณารับคำร้องหรือไม่ภายใน 5 วัน และสามารถวินิจฉัยเร่งด่วนข้ามขั้นตอนไต่สวนได้

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 65 ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์ข้อความถึงกรณีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ปม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี โดยศาลจะต้องมีระยะเวลาวินิจฉัย กรณีดังกล่าวนั้น มีกฎหมายและระเบียบที่กำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาคำร้องดังกล่าว ซึ่งตนได้สรุปให้ความรู้ด้านกฎหมายและให้ความเห็นทางวิชาการด้านกฎหมายเป็นการส่วนตัว โดยไม่มีความเกี่ยวข้องและไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น 

 

ขั้นตอนและระยะเวลาการพิจารณาคำร้องปมระยะเวลาดำรงตำแหน่ง "8 ปี นายกรัฐมนตรี" ดังนี้

1. ส่งคำร้องให้คณะตุลาการพิจารณา

ในปัจจุบันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ได้แต่งตั้งคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาว่าจะรับคำร้องที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ จำนวน 2 คณะ คือ คณะ 1 และคณะ 2 โดยแต่ละคณะจะประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 4 คน เมื่อมีการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยแล้ว หน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาลจะส่งเรื่องให้คณะ ตุลาการ คณะใดคณะหนึ่งเป็นผู้พิจารณาภายใน 2 วันนับแต่วันที่หน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาลได้รับคำร้องตามข้อกำหนดศาลฯ โดยให้ถือว่าวันที่หน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาลรับเข้าสารบบคดีเป็นวันที่ได้รับคำร้อง 

2. ระยะเวลาในการมีคำสั่งว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่

2.1 กรณี คณะตุลาการ มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย คณะตุลาการที่รับคำร้องไว้พิจารณา วินิจฉัย มีระยะเวลา 5 วัน ในการตรวจและมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย นับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาล (2+5 วัน)

2.2 กรณีคณะตุลาการมีความเห็นควรสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ให้คณะตุลาการเสนอศาลรัฐธรรมนูญหรือ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คน พิจารณาภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการของศาล และ ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 5  (2+5+5 วัน) 


3. คดีสำคัญที่มีความจำเป็นเร่งด่วน 
เช่น คดีคำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ นายกรัฐมนตรี นี้ ศาลรัฐธรรมนูญหรือคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน อาจจะเป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่งว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ แทนที่จะเป็นคณะตุลาการคณะเล็กเป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่งดังกล่าวข้างต้น ซึ่งในกรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาและมีคำสั่งว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ภายใน 5 วัน (2+5 วัน)

4. ระยะเวลาในการพิจารณาคดีหลังจากมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
คดีที่วินิจฉัยเรื่องความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเนื่องจากดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลาตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ และมาตรา 170 วรรคสอง หรือไม่ รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาคดีไว้ ซึ่งจะแตกต่างจากคดีบางประเภทที่รัฐธรรมนูญกำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาคดีไว้ เช่น คดีที่วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง (รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (9) ) คดีที่วินิจฉัยเรื่อง ส.ส. ส.ว. หรือกรรมาธิการ กระทำการเพื่อให้ตนมีส่วนโดยตรงหรือโดยอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย หรือไม่ ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็น (รัฐธรรมนูญ มาตรา 144)  คดีที่วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของเงื่อนไขการตราพระราชกำหนด ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง (รัฐธรรมนูญ มาตรา 173) เป็นต้น

 

คดีคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยระยะเวลาดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีนี้ ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาคดีไว้ มีปัจจัยสำคัญหลายอย่างที่มีผลต่อระยะเวลาในการพิจารณาคดี ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะบางเรื่องที่เห็นว่าน่าสนใจ ดังนี้

 3.1 คดีตามคำร้องนี้เป็นคดีที่มีคู่กรณี คือ ส.ส. พรรคการเมือง ฝ่ายค้าน เป็นผู้ร้อง และ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกร้อง จึงต้องมีการส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้ถูกร้อง และเมื่อผู้ถูกร้องได้รับสำเนาคำร้อง จะมีระยะเวลาในการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ซึ่งในคดีที่มีความสำคัญเร่งด่วน ศาลอาจจะกำหนดระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาให้น้อยกว่า 15 วัน เพื่อให้การพิจารณาคดีรวดเร็วขึ้นก็ได้

3.2 การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญใช้ระบบไต่สวน (พ.ร.ป. วิ.ศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 27) ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการใช้ดุลพินิจพิจารณาพยานหลักฐานได้อย่างกว้างขวาง และหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคดีใดเป็นปัญหาข้อกฎหมาย หรือมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีโดยไม่ทำการ ไต่สวน ก็ได้ (พ.ร.ป. วิ.ศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 58) 

ดังนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ประเด็นระยะเวลาดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญแล้วหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายหรือมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีได้โดยไม่ต้องทำการไต่สวน ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนในกระบวนพิจารณาคดีหลายอย่างถูกตัดออกไป และส่งผลให้ระยะเวลาในการพิจารณาคดีสั้นและรวดเร็วกว่าคดีที่ต้องมีการไต่สวนตามขั้นตอนปกติ

ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ติดตามกระแสรายวัน คมชัดลึก ได้ที่
Website -  www.komchadluek.net
Twitter - https://twitter.com/Kom_chad_luek
 

เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote ได้ที่นี่ ( https://awards.komchadluek.net/# )

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ