
ต่างมุมมอง นักกฎหมายใหญ่ ตีความ "วาระดำรงตำแหน่งนายกฯ"
เค้าลางคำวินิจฉัย "ศาลรัฐธรรมนูญ" ดูได้จากการใช้ดุลยพินิจ ต่างมุมมอง"วาระดำรงตำแหน่งนายกฯ" จบวันที่ 23 สิงหาคมนี้ หรือไม่
ไพศาล พืชมงคล อดีตที่ปรึกษารองนายกฯ ยังคงมั่นใจว่า วาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะครบ 8 ปี ในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ และต้องดำเนินการสรรหานายกรัฐมนตรี คนใหม่ หาก ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องไม่ทำถือว่ามีความผิดตามมาตรา 157
เฟสบุ๊ค ของไพศาล มีเนื้อหาว่าเมื่อวาระ8ปีครบลงในวันที่ 23 สิงหาคม 65 เวลา 24:00 นผู้ที่มีหน้าที่สำคัญที่สุดคือประธานรัฐสภา ที่จะต้องเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาสรรหานายกรัฐมนตรีตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ
ถ้าไม่ทำหน้าที่นี้ จะต้องรับผิดทางกฎหมายทั้งในทางอาญาในทางจรรยาบรรณและการละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ
จับตาดูว่าประธานรัฐสภาจะว่าอย่างไรในเรื่องนี้ เพราะนี่คือหน้าที่และความรับผิดชอบของประธานรัฐสภาโดยตรง
แต่ถ้าเห็นว่ามีปัญหาต้องตีความก็เป็นหน้าที่ของประธานรัฐสภาที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ครบถ้วนทุกประเด็นปัญหา
ส่วนการที่สมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อกันขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ก็เป็นสิทธิในส่วนของสมาชิกรัฐสภาที่จะทำได้ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ
และในเรื่องนี้คงไม่ต้องใช้เวลามาก เพราะใช้เอกสารหลักฐานและการอ้างอิงน้อยมาก
เอกสารที่ว่าประกอบด้วย
- พระบรมราชโองการในรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯตั้งพลเอกประยุทธ์เป็นนายกเมื่อ 24 สิงหาคม 57
- มติที่ประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ ทั้งชุด โดยเฉพาะมติที่ประชุมว่าด้วยเจตนารมณ์ของมาตรา 158
3 อ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนายสิระ เจนจาคะ และในเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินของพลเอกประยุทธ์ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเรียกและนำสำนวนทั้ง 2 เรื่องนั้นมาประกอบการพิจารณา เพราะเป็นบรรทัดฐานที่ศาลรัฐธรรมนูญ เคยวินิจฉัยให้รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับกับกรณีนายสิระถูกจำคุกในปี 2538 และ กรณีการไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินของนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นการดำรงตำแหน่งต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 57 จึงไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตามกฎหมาย ปปช.
ส่วนข้ออ้างตามกฎหมายก็ต้องอ้างมาตรา 264 ประกอบมาตรา 158 เป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา
ถ้าดำเนินการโดยถูกต้องครบถ้วน ในชั้นรับคำร้อง ศาลสามารถสั่ง ให้มีการปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติใดๆก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยก็ได้ ซึ่งจะป้องกันปัญหาในอนาคตได้มาก
ด้าน จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ บอกกับคมชัดลึกว่า การสั่งให้ปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติใดๆ ไม่มีบัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาคดี ของศาลรัฐธรรมนูญ แต่สามารถใช้ดุลยพินิจได้ ซึ่งที่ผ่านมา ยังไม่เคยปรากฏว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ได้เคยใช้ดุลยพินิจ สั่งการให้ข้าราชการระดับสูงหยุดปฏิบัติหน้าที่ ระหว่างการพิจารณา เพราะการใช้ดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้เห็นเค้าลางของคำตัดสินได้
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
YouTube:https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote