ข่าว

คำนูณ แนะ กกต. สอบ "พปชร." ชี้เป็นเรื่องใหญ่ ขับออก-ลาออกเอง ผลต่างกัน

คำนูณ แนะ กกต. สอบ "พปชร." ชี้เป็นเรื่องใหญ่ ขับออก-ลาออกเอง ผลต่างกัน

22 ม.ค. 2565

ส.ว. คำนูณ สิทธิสมาน ชี้เป็นเรื่องใหญ่ได้ทันที ถ้า กกต. เข้ามาตรวจสอบอย่างจริงจังว่า "พรรคพลังประชารัฐ" ขับ 21 ส.ส. ออกจริงหรือไม่ เพราะผลตามกฎหมายต่างกันมาก ถูกขับออกยังเป็น ส.ส.แต่ลาออกเองขาด ส.ส. ทันที

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีข่าวขับ 21 ส.ส.ซุ้มธรรมนัสออกจาก"พรรคพลังประชารัฐ" และนายสมศักดิ์ พันธ์เกษม หนึ่งในส.ส.ที่ถูกขับออก ออกมาร้องขอความเป็นธรรม ว่า กรณีตามข่าวนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ได้ทันทีถ้า กกต.ก้าวเข้ามาตรวจสอบอย่างจริงจัง โดยประเด็นสำคัญที่สมควรตรวจสอบเพื่อตอบคำถามให้ชัดเจนในฐานะองค์กรผู้กำกับดูแลพรรคการเมืองให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าตกลงแล้วนี่เป็นการจงใจขับออกจากพรรคโดยบริสุทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (9) จริงหรือไม่ 

 

เพราะผลของการที่ ส.ส. ถูกขับออกจากพรรค  ตาม 101 (9) กับ ลาออกจากพรรค ตาม 101 (8) มันต่างกันเยอะ

 

ลาออก ทำให้พ้นสภาพส.ส.

 

ถูกขับออก  ยังคงสภาพ ส.ส.ไว้ได้ หากหาพรรคสังกัดใหม่ได้ภายใน 30 วัน

รัฐธรรมนูญไทยมีบทบัญญัติบังคับ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองมาตั้งแต่ปี 2517 เพื่อแก้ปัญหาส.ส.ต่อรองกดดันฝ่ายบริหารอันเป็นเหตุให้การเมืองขาดเสถียรภาพในช่วงปี 2512 - 2514 จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การรัฐประหารตอนปลายปี 2514

 

นับจากนั้นมาการย้ายพรรคระหว่างวาระทำไม่ได้โดยหลักการ ยกเว้นส.ส.ที่ต้องการย้ายพรรคจะยอมแลกด้วยตำแหน่งส.ส.ก็ไม่ว่ากัน ทำได้โดยปกติส.ส.จะย้ายสังกัดได้เมื่อมีการยุบสภาแล้วเท่านั้น โดยรัฐธรรมนูญบางฉบับมีกำหนดระยะเวลาการเป็นสมาชิกพรรคก่อนลงสมัครรับเลือกตั้งไว้ยาวถึง 90 วัน ไว้อีกต่างหาก ทำให้การย้ายพรรคไม่ง่ายนัก