ข่าว

'งบ2พันล้าน'กกต.คาดใช้เลือกสสร.

'งบ2พันล้าน'กกต.คาดใช้เลือกสสร.

01 มี.ค. 2555

กกต. คาดใช้งบเลือก สสร. 2,000 ล้าน แต่ขอความชัดเจน เลือกตั้งนอกเขตจังหวัดและต่างประเทศ

             1มี.ค. 2555 นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงการเตรียมความในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ว่า จากที่เห็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาที่ให้มีการแก้ไขมาตรา 291 กำหนดให้กกต.เป็นผู้จัดการเลือกตั้งสสร. โดยให้ใช้ระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตโดยอนุโลม เท่ากับว่าได้ให้อำนาจกกต.ในการจัดการเลือกตั้งสสร.

             อย่างไรก็ตามกกต.ต้องการความชัดเจนเรื่องของการเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดและเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เพราะยังไม่มีความชัดเจนจะใช้วิธีการเลือกตั้งส.ส.หรือไม่ หากไม่ชัดก็อาจเกิดข้อโต้แย้งภายหลังได้ เนื่องจากการเลือกตั้งดังกล่าวจะต้องใช้เวลาในการลงทะเบียน รวมทั้งใช้ต้องใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมาก หากถ้าไม่บัญญัติให้ชัดเจน กกต. ก็อาจจะเกิดการโต้แย้ง

             “ผมเชื่อว่าการเลือกตั้งสสร.จะไม่มีปัญหาและอุปสรรค เพราะมีวิธีการและรูปแบบคล้ายกับการเลือกตั้งส.ส. โดยคาดว่าจะใช้หน่วยเลือกตั้งเท่ากัน แต่อาจจะประหยัดในเรื่องของกรรมการประจำหน่วย เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่จะลดจำนวนลงเหลือเท่ากับการออกเสียงประชามติ ประมาณ 7-9 คน เบื้องต้นกกต.ได้จัดงบประมาณฉุกเฉินสำรองไว้ 900 ล้านบาท จากที่คาดไว้จะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 2,000 ล้านบาท โดยส่วนที่เหลือต้องให้รัฐบาลจัดสรรให้ “นายประพันธ์ กล่าว

             ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่กังวลว่าจะมีคนของนักการเมืองเข้ามาเป็นสสร. นายประพันธ์ กล่าวว่า อยู่ที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมจะกำหนดคุณสมบัติสสร.อย่างไร เพราะกกต.มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งเท่านั้น คงจะไปแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวนี้คงไม่ได้ อีกทั้งต้องรอให้ทางคณะกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญพิจารณาไปสักระยะก่อนว่าจะมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร และคาดว่าหลังจากนั้นในชั้นการแปรญัตติอาจจะมีการถามความเห็นมายังกกต.ในฐานะผู้ปฏิบัติ

             เมื่อถามว่าในเดือนพ.ค.นี้ กลุ่มบ้านเลขที่ 111 จะพ้นโทษการถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกจะสามารถลงสมัครเป็น สสร.ได้หรือไม่ นายประพันธ์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวนี้ อยู่ที่คณะกรรมาธิการว่าจะยกร่างกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่สมัคร สสร.ไว้อย่างไร แต่ในการออกเสียงประชามติที่ผ่านมา ผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งสามารถออกเสียงประชามติได้ เนื่องจากการออกเสียงไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง