
มาร์คลั่นไม่มีพื้นที่ทับซ้อนในเขตเขาพระวิหารกลางเวทีดีเบต
"นายกฯ"ลั่นไม่มีพื้นที่ทับซ้อนในเขตเขาพระวิหาร อุ้ม"สุวิทย์"ไม่ได้ไปเซ็นยกดินแดนให้ใคร ชี้เอ็มโอยู 43 ไม่เคยยอมรับเรื่องของแผนที่ อ้างหากเอ็มโอยูยังอยู่เชื่อว่ายังมีประโยชน์ให้ฝ่ายไทย
(8ส.ค.) การจัดรายการพิเศษเพื่อชี้แจงกรณีเขาพระวิหารและเขตแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งมีการถ่ายทอดสดทางช่อง 11 ได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 10.20 น.ที่ผ่านมา โดยฝ่ายรัฐบาลประกอบด้วยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายศิริโชค โสภา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ส่วนภาคประชาชนประกอบด้วย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายสมปอง สุจริตกุล อดีตทนายความคดีปราสาทพระวิหาร นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ และนายวีระ สมความคิด
โดยการชี้แจงเริ่มย้อนความเป็นมาของปัญหาเริ่มจากคดีปราสาทพระวิหาร ที่กัมพูชานำขึ้นฟ้องศาลโลกในปี 2502 ซึ่งศาลโลกก็ตัดสินในปี 2505 เพียงว่า ปราสาทพระวิหารอยู่บนอธิปไตยของกัมพูชา แต่ไม่ได้กล่าวถึงแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนที่ฝ่ายกัมพูชาแนบท้ายคำฟ้องเป็นภาคผนวกที่ 1 ซึ่งนายสมปองย้ำว่า ผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยได้มีคำพิพากษาว่าแผนที่ดังกล่าวใช้ไม่ได้ เพราะขัดหลักสันปันน้ำ ไม่เป็นไปตามอนุสัญญา 1904 และ สนธิสัญญา 1907 ซึ่งหากคำพิพากษาหลักไม่ได้พูดถึงก็ถือว่าคำพิพากษาเสียงข้างน้อยเป็นคำพิพากษา
หลังจากนั้นพูดถึงการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา ซึ่งฝ่ายรัฐบาลโดยนายสุวิทย์อ้างว่าตนได้พยายามคัดค้านเรื่องนี้มาตลอด โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าแผนการจัดการไม่สมบูรณ์ แผนที่ที่กัมพูชาเสนอมายังไม่ชัดเจน เพราะฉะนั้นยังไม่ถือว่าเราเสียดินแดนรอบปราสาทพระวิหาร นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ได้กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนมรดกโลกไม่เกี่ยวกับเขตแดน เพราะฉะนั้นเป็นไม่ไม่ได้ที่นายสุวิทย์จะไปเซ็นยกดินแดนให้ใคร
นายกนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า การพูดคุยวันนี้ ไม่ใช่การดีเบต แต่เป็นการรับฟังเสียงประชาชนที่ห่วงใยว่า ประเทศไทยเสียดินแดน ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่า มีเจตนาไม่ต่างจากภาคประชาชนที่ต้องการปกป้องอธิปไตย แต่กรณีนี้ซับซ้อนและมีที่มายาวนาน จึงได้พบผู้แทนเครือข่ายฯนำมาสู่รายการนี้ที่ให้นำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อเป็นจุดเริ่มของการทำงานร่วมกันของภาครัฐกับประชาชนต่อไป ต้นตอของปัญหานี้เกิดเมื่อปี 2505 เมื่อกัมพูชาได้นำข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลโลก และมีคำพิพากษาว่าตัวปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา รัฐบาลในขณะนั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เคารพคำตัดสินใจ แต่พื้นที่โดยรอบเรายังไม่ยอมรับ ต่อมาในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช โดยนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ได้ไปออกแถลงการณ์ร่วมกับกัมพูชา ในปี 2551 จึงทำให้เปิดปัญหาเสมือนว่าไทยไปยอมรับกับข้อเสนอของกัมพูชา รัฐบาลนี้พยายามตามแก้ไขในสิ่งที่รัฐบาลชุดในอดีตได้กระทำผิดไปแล้วยืนยันว่า 4.6 ตารางกิโลเมตรไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อน อีกทั้งต้องทักท้วงบทบาทของยูเนสโกต้องส่งเสริมสันติภาพ ไม่ใช่ก่อ่ให้เกิดภาวะสงคราม
"ปัญหาเริ่มปีพ.ศ. 2505 มีการต่อสู้ทางคดี ซึ่งไทยถือว่า เขตแดนกำหนดโดยสนธิสัญญาซึ่งยึดสันปันน้ำ ตอนนั้นฝ่ายไทยมั่นใจว่า ปราสาทเป็นของไทย ส่วนกัมพูชา ต่อสู้โดยอ้างอิงแผนที่ ที่เรียกกันว่า แผนที่ 1 : 200,000 ที่ทำโดยฝรั่งเศส ซึ่งไทยโต้แย้งว่า รุกล้ำเข้ามาในดินแดนไทย และไม่ใช่เป็นไปตามที่ตามคณะกรรมการร่วมปักปันเขตแดนตามสนธิสัญญากำหนด ตอนนั้นศาลโลกวินิจฉัยว่า 1.ศาลไม่ได้ตัดสินก้าวล่วงว่า เขตแดนไทยกัมพูชาอยู่ตรงไหน 2 .ศาลไม่ได้รับรองแผนที่ของกัมพูชา แต่อ้างว่า ไทยไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน และได้ตัดสินว่า ตัวปราสาทอยู่เป็นของกัมพูชา ตอนนั้นรัฐบาลจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ เคารพมติศาลโลกและออกมติครม.เป็นแนวปฏิบัติเรื่องปราสาท แต่พื้นที่รอบๆปราสาทไม่ได้ยอมรับและขอสงวนสิทธิ์ต่อคำพิพากษา ตนเคยอภิปรายในสภาแบบนี้ และตอนนี้ก็ยืนยันเหมือนเดิม และนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ก็พยายามค้นหาหลักฐานเพิ่มเติมตลอด " นายกฯ กล่าว
จากนั้น นายปานเทพ และนายเทพมนตรี ตั้งข้อสังเกตว่า มติครม.ปีพ.ศ. 2505 ได้กั้นรั้วทิศเหนือและตะวันตกของปราสาท โดยรั้วนั้นไม่ใช่เส้นเขตแดน ซึ่งต่อมาในยุคปัจจุบัน แผนที่ตรงนี้คือแผนที่ แอล 7017 ที่ฝ่ายไทยยึด แต่ในสมัยรัฐบาลที่แล้วที่นายนพดล ปัทมะ เป็นรมว.ต่างประเทศ ปี 51 มติกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 32 ที่ควิเบก แคนาดา ให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ทำให้ไทยเสียพื้นที่โดยรอบปราสาทไปแล้วในเบื้องต้น 50 ไร่
ขณะที่นายสุวิทย์ ยอมรับก่อนรัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศปราสาทพระวิหารถูกขึ้นทะเบียนไปแล้ว ตั้งแต่สมัยนายนพดล หลังการออกแถลงการณ์ร่วม และถูกนำไปใช้อ้างอิง แต่เราได้ทักท้วงมาแล้ว 2ครั้ง เพราะตัวปราสาทต้องชัดเจน มติยูเนสโก ไม่ใช่ทำให้ไทยต้องเสียอธิปไตย การเสียดินแดนเมื่อถูกครอบครอง ดังนั้นการคัดค้านจึงถือเป็นการสงวนสิทธิ์ ซึ่งจากการประชุมครั้งหลังสุดที่ประเทศบราซิล ไทยประสบความยากลำบากไม่มีข้อมูลเนื่องจากยังไม่ได้รับเอกสารจนมาถึงวินาทีสุดท้าย ที่ได้เห็นเอกสารที่กัมพูชายื่นเข้าไป จึงได้คัดค้าน เพราะจุดยืนของไทยต้องแยกจากมติของคณะกรรมรการมรดกโลก
ด้านนายปานเทพ ได้มีการนำแผนที่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตามคำพิพากษาศาลโลก กัมพูชามีสนธิเหนือตัวปราวสาทพระวิหารเท่านั้น แต่ต้องยอมรับปัญหาข้อพิพาทนี้เป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ เพราะกัมพูชาเคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ซึ่งปัญหามรดโลก สันปันน้ำ เอ็มโอยู 43 ล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกัน และปัญหาการรุกล้ำอธิปไตยของฝ่ายกัมพูชาซึ่งเป็นที่วิตกของทุกฝ่าย และจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ต้องยกเลิกเอ็มโอยู 43 โดยให้ยึดสนธิสัญญาเพียงอย่างเดียว
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวต่อว่า หากรัฐบาลยกเลิกเอ็มยูโอ ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลชุดต่อไปจะไปตกลงกัมพูชา โดยไม่มีเงื่อนไขก็ยิ่งง่ายกันไปใหญ่ ตนขอยืนยันว่าเอ็มโอยู 2543 ไม่ได้ยอมรับเรื่องแผนที่ และเหตุที่ไม่ยกเลิกเพราะต้องการใช้ประโยชน์ตรงนี้ในการดูแลสถานการณ์ของประเทศ แต่ในอนาคตไม่ต้องห่วง รัฐบาลไทยจะทำเพื่อรักษาอธิปไตย
"วิธีการจะใช้การทูตผสมผสานกับการทหาร ได้ให้นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกองทัพ เพื่อดูว่าจะใช้แนวทางอย่างไรต่อไป ซึ่งไม่ควรนำมาพูดในที่นี้ หรือหากจะต้องมีการใช้กำลังก็จะเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะต้องดูผลกระทบที่เกิดกับการเมืองระหว่างประเทศ" นายอภิสิทธิ์กล่าว และว่า ยืนยันว่า เอ็มโอยู 2543 ที่เป็นตัวล็อกไว้ว่าทั้งสองฝ่ายจะไม่เข้าไปทำอะไรในพื้นที่ นี่คือเหตุผลว่าทำไมเอ็มโอยู 2543 จึงควรจะยังอยู่
นอกจากนี้ นายเทพมนตรี ได้นำเอกสารกระทรวงต่างประเทศ วันที่ 20 มิถุนายน 2551 สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ลงนามโดยอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ที่ชี้แจงถึงราชเลขาธิการมาแสดง โดยระบุว่า ในเอกสารฉบับนี้มีแผนผังและมีคำชี้แจงว่า ไม่สามารถเอาพื้นที่รอบปราสาทดังกล่าวคืนมาได้แล้ว จุดนี้ทำกัมพูชาเข้าใจว่า ไทยยอมรับแล้ว
นายสุวิทย์ ชี้แจงว่า ตอนนั้นฝ่ายไทยทำเรื่องคัดค้านไว้ที่ควิเบกว่า การขึ้นทะเบียนไม่ชอบ เพราะการเสนอไม่สมบูรณ์ เนื่องจากไม่มีขอบเขต คราวนี้ครั้งที่ 34 ที่บราซิลฝ่ายไทยก็ทำเรื่องคัดค้าน เพราะความไม่ชัดเจนเรื่องเขตแดน โดยยกกรณีเยรูซาเล็มที่ขึ้นทะเบียนทั้งที่ขอบเขตไม่ชัดจึงมีปัญหา ซึ่งการที่กรรมการมรดกโลกให้กัมพูชาเสนอรายละเอียดของขอบเขตแผนที่ให้ชัดเจนอีกครั้ง นี่แสดงว่า แผนที่ยังไม่ชัด แล้วดันทุรังขึ้นทะเบียนไป ดังนั้น 50ไร่รอบปราสาทนั้น คือฝ่ายไทยส่งหนังสือทักท้วงว่า ไม่ได้ยอมรับ
นายสุวิทย์ กล่าวว่า ที่มีการกล่าวหาว่า รัฐบาลไม่สนใจ และมาทำตอนไฟลน รัฐบาลไม่ใช่ไฟลนก้นแล้วทำ แต่เตรียมตัวคัดค้านมาตั้งนานแล้วตั้งแต่สมัยปี 51 ต่อเนื่องมาถึงปี 52 ที่สเปน มาถึงที่บราซิล ตนเอาแผนที่เอาภาพที่มีการวางกำลังของกัมพูชาไปให้ยูเนสโกดู ว่า มีการรุกล้ำ มีปัญหา แล้วกรรมการมรดกโลกจะเพิ่มปัญหาอีกหรือ ฉะนั้นขอให้หยุด ล็อบบี้จนเลื่อนมาที่บราซิล จากนั้นก็ไม่ได้หยุด คือ ทำหนังสือตามอีกว่า ขอเอกสารทั้งหมด ตามไปประชุมกับยูเนสโก จนมีรูปกับผอ.ยูเนสโกหลายสิบรูปแล้ว และรณรงค์ให้มีตัวแทนไทยเข้าไปเป็นกรรมการมรดกโลก เพื่อให้พูดในที่ประชุมได้ ก็เข้าไปได้ ทำจนวินาทีสุดท้าย กรรมการส่งวาระมา ไม่มีเอกสารประกอบ ก็ทำหนังสือสงวนสิทธิ์ ย้ำกับผอ.ยูเนสโกหลายรอบว่า ต้องทำให้เขตแดนชัดก่อน สุดท้ายกรรมการมรดกโลกจึงเลื่อนไปอีก 1 ปี พร้อมขอยืนยันว่า มติ 5 ข้อที่เซ็นที่บราซิล เป็นเอกสารดังกล่าวเป็นร่างข้อมติของประธานคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งไม่มีข้อผูกพัน โดยทั้ง 5 ข้อนั้นมติเดิมที่เคยตกลงไว้ที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา ไม่ใช่มติใหม่ แต่มีข้อหนึ่งเป็นข้อมติที่ให้เลื่อนการประชุมออกไปเป็นปีหน้า และดูแล้วว่า ไม่ให้มีข้อผูกพันให้กัมพูชานำไปขึ้นศาลโลกวันข้างหน้าดังนั้นถือว่าเป็นผลประโยชน์ของฝ่ายไทย ถ้าไปลงมติตามข้อเสนอ 7 ข้อของกัมพูชาต่างหากจะเป็นการยอมรับว่าที่ประชุมเห็นชอบตามกัมพูชาและทำให้ การขึ้นทะเบียนมีความสมบูรณ์
ด้านนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตอนนั้นรัฐบาลนี้ยังไม่เข้ามา แต่เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามาแล้ว พอเห็นอะไรที่ไม่ถูกต้องจึงพยายามแก้ไขอยู่ ตอนนี้เครือข่ายฯกับรัฐบาลเห็นตรงกันเกี่ยวกับแผนที่ และปัญหาหลังจากการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยรัฐบาลเห็นว่า มตินั้นไม่ถูกต้อง แต่ฝ่ายไทยไม่ควรยอมรับว่า เสียเขตแดนไปแล้ว เพราะยูเนสโกและกรรมการมรดกโลกมีจุดยืนอยู่ตลอดว่า จะไม่ขึ้นทะเบียนในสิ่งที่จะมีปัญหาเรื่องเขตแดนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ฝ่ายไทยก็ยื่นเรื่องคัดค้านเอาไว้เป็นหลักฐานไว้เสมอ เพราะกลัวว่า จะเหมือนปีพ.ศ. 2505 ที่ไม่ได้ทักท้วงและเกิดปัญหา ซึ่งปีต่อมา กรรมการมรดกโลกก็ขอแผนบริหารจัดการพื้นที่จากกัมพูชา แต่กัมพูชาก็เสนอโดยส่งแผนที่ทีมีปัญหาพิพาทไปด้วย ซึ่งรัฐบาลนี้ก็ส่งเรื่องคัดค้าน ทั้งนี้ ใครเห็นแผนที่ก็ไม่สบายใจ แต่มันเป็นการกระทำของฝ่ายอื่น ฉะนั้น เห็นอะไรอย่าเพิ่งตื่นเต้น และต้องช่วยยืนยันว่า ฝ่ายไทยไม่ยอมรับอะไรที่มันผิด เพราะฝ่ายไทยจะเสียถ้าไม่คัดค้าน
“เอกสารต่างๆ มติต่างๆต้องแยก โดยแยกจุดยืนประเทศไทย กับมติกรรมการบริหารมรดกโลก โดยคราวนี้ เราทำหนังสือถึงกรรมการทักท้วงว่า รับอะไรไม่ได้บ้าง ที่มันยากคือต้องชั่งใจว่า หากไม่เอา 5 ข้อนี้ แล้วกัมพูชายก 7 ข้อเดิมของเขาขึ้นมา หากเราแพ้แล้วจะทำอย่างไร จึงต้องชั่งใจ ว่า ถ้าประนีประนอม แล้วไม่เสีย มันจะดีไหม ซึ่งพอผลออกมาแบบนี้ จึงย้ำให้เข้าใจว่า ตอนนี้ กัมพูชา กรรมการมรดกโลก หรือยูเนสโก จะทำอะไรในพื้นที่ติดตัวปราสาทไม่ได้หากไม่ได้อนุญาตจากรัฐบาลไทย เพราะ 5 ข้อดังกล่าว เป็นร่าง และยังไม่พิจารณาจนกว่าจะถึงการประชุมครั้งหน้า” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ ในการพูดคุยดังกล่าวใช้เวลา กว่า 3 ชม. ซึ่งบรรยากาศค่อนข้างเป็นไปอย่างเข้มข้น และตึงเครียดเป็นระยะๆ โดยเฉพาะการไปเซ็นรับรองมติ 5 ข้อที่เซ็นที่บราซิล ของนายสุวิทย์ ที่ทางฝ่ายตัวแทนเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ ได้แสดงความเห็นว่าการไปเซ็นรับรองของนายสุวิทย์ จะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ แต่ทางนายสุวทิย์ ได้ยืนยันว่าการที่เซ็นรับรองเป็นเอกสารดังกล่าวเป็นร่างแค่ข้อมติของประธานคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งไม่มีข้อผูกพัน โดยทั้ง 5 ข้อนั้นมติเดิมที่เคยตกลงไว้ที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา ไม่ใช่มติใหม่