ข่าว

อลหม่าน...แดงพล่านทั่ว รพ.จุฬาฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ในที่สุดองค์กรทางการแพทย์ที่อยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวงตามหลักสากลก็ถูกบีบให้ต้อง "ปิด" และ "ย้าย" ผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล !?!

 ตั้งแต่กลุ่มคนเสื้อแดงมาปักหลักอยู่ที่สี่แยกราชประสงค์ รพ.จุฬาลงกรณ์ ก็ตกอยู่ในภาวะ "ตัวประกัน" ที่ต้องทนกับมลภาวะทั้งเรื่องกลิ่น เสียง และความปลอดภัย ทั้งบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยกับญาติ

 การตั้งค่ายเผชิญหน้ากันบริเวณแยกศาลาแดงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มผู้ชุมนุม บางครั้งมีทีท่าบานปลาย รพ.จุฬาฯ ก็กลายมาเป็น "เบี้ย" ตัวหนึ่งที่ถูกใช้เป็นข้อต่อรอง ด้วยการขู่จะจุดไฟเผาถังแก๊สจำนวนมากที่วางกองไว้ริมกำแพงโรงพยาบาล

 28 เมษายน 2553 รพ.จุฬาฯ ตัดสินใจเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากตึกที่ติดกับกำแพงไปอีกตึกหนึ่งที่อยู่ไกลออกไป เพื่อความปลอดภัย การเคลื่อนย้ายทำได้ยาก หลายคนเป็นผู้ป่วยหลัก ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์และพยาบาลอย่างใกล้ชิด สายออกซิเจน สายน้ำเกลือระโยงระยางเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้าย ยิ่งกว่าจับผีลุกปลุกผีนั่ง

 29 เมษายน 2553 "พายัพ ปั้นเกตุ" นำมวลชนการ์ดแดงร่วม 300 คน ไปบุกค้นโรงพยาบาลหาตำรวจทหาร กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายให้ผู้บริหาร รพ.จุฬาฯ ตัดสินใจย้ายผู้ป่วยบนตึก สก และตึก ภปร ไปอยู่ยังตึกต่างๆ ฝั่งถนนอังรีดูนังต์ และย้ายผู้ป่วยบางส่วนไปรักษาที่ รพ.ศิริราช รพ.เลิดสิน รพ.รามาธิบดี ฯลฯ ส่วนที่ป่วยไม่มากก็ให้กลับไปพักฟื้นที่บ้าน และงดให้บริการในแผนกผู้ป่วยนอกทั้งหมด ยกเว้นห้องฉุกเฉิน !?!

 เช้าวันที่ 30 เมษายน 2553 บรรยากาศที่ตึกคัคณางค์และตึกนวมินทราชินีสับสนอลหม่าน ผิดไปจากทุกๆ วัน แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่กว่า 100 คน ช่วยกันทยอยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่อยู่ในอาการโคม่าและผู้ป่วยธรรมดาอย่างทุลักทุเล เด็กหญิงวัย 1 เดือน เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ถูกนำออกมาจากห้องไอซียู เพื่อกลับไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลบ้านเกิดในต่างจังหวัด

 ส่วน "น้องอรนัท" ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาววัย 7 ขวบ โดย 2 ปีที่ผ่านมา นอนพักรักษาตัวอยู่ที่ รพ.จุฬาฯ ตลอด มาวันนี้เธอถูกเคลื่อนย้ายกลับไปอยู่โรงพยาบาลต่างจังหวัด ข้างๆ เตียงมีแม่ที่ร่ำไห้เสียใจ เกรงว่าลูกสาวจะได้รับอันตรายระหว่างเคลื่อนย้าย คอยดูแลอยู่ไม่ห่าง เช่นเดียวกับ "กาญชนิต์ พวงแก้ว" เด็กหญิงวัย 1 ขวบ ผู้ป่วยโรคตับม้ามโต ตัวเหลืองซีด รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลมาเกือบ 10 วัน ก็เป็นอีกคนที่ต้องกลับไปอยู่บ้าน โดยแพทย์นัดให้มาใหม่วันที่ 13 พฤษภาคม 2553

 แพทย์และพยาบาลอีกกลุ่มกำลังสาละวนอยู่กับการดูแลเด็กแฝดแรกเกิด 4 คน ที่ต้องคอยปั๊มหัวใจให้ออกซิเจนตลอดระหว่างการเคลื่อนย้าย ไม่รวมผู้ป่วยวัยชราที่เป็นโรคประจำตัวยักแย่ยักยันทยอยไปอยู่ยังตึกใหม่อีกหลายราย ทุกคนอยู่ในอาการเคร่งเครียด ใบหน้าซีดเซียวจากอาการเจ็บไข้ บ้างบิดเบี้ยวจากความเจ็บปวดยามเยื้องย่าง

 "สุภาวดี สิมสวัสดิ์" วัย 40 ปี น้องสาวผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจรั่ว ต้องพาพี่ชายขึ้นรถจาก จ.เลย มาตรวจร่างกายและรับยาที่ รพ.จุฬาฯ ทุก 3 เดือน และครบกำหนดในวันนี้ ก็ต้องพบกับความผิดหวัง เมื่อแพทย์แจ้งให้ไปตรวจเลือดที่ รพ.สิรินธร แล้วค่อยกลับมารับยาที่ รพ.จุฬาฯ

 "มันเดินทางลำบากนะ ใจหายเลย แต่ก็ต้องทำใจ เพราะคนอื่นก็โดนเหมือนกัน"

 ขณะที่ "บุปผา สุทธิโชคประสิทธิ์" วัย 48 ปี ต้องมารับยาให้หลานวัย 9 ขวบครึ่ง ซึ่งป่วยเป็นโรคหัวใจ เป็นประจำทุกเดือน ทว่าวันนี้ต่างออกไป เพราะห้องจ่ายยาปิดบริการ แพทย์แนะนำให้ไปซื้อยาที่ รพ.รามาฯ หรือศิริราชแทน เธอมีความรู้สึกเหมือนกับสุภาวดีและคนอื่นๆ ที่ต้องลำบากมากขึ้น และคิดว่ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวกับโรงพยาบาล

 ส่วน "ลั่นทม รอดเพราะบุญ" ย่าของเด็กหญิงแรกคลอดวัยเพียง 1 วัน ป่วยจากการสำลักน้ำคร่ำ ถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลชานเมือง เจ้าหน้าที่ รพ.จุฬาฯ ติดต่อให้มาทำเรื่องย้ายโรงพยาบาลตั้งแต่เช้า แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังหาโรงพยาบาลรองรับไม่ได้ เพราะเด็กมีอาการหนักมาก ยังเคลื่อนย้ายไม่ได้

 จนถึงขณะนี้มีผู้ป่วยเหลือรักษาตัวอยู่ใน รพ.จุฬาฯ 600 ราย จากทั้งหมด 1,500 เตียง ?!!

 เมื่อการเคลื่อนย้ายเริ่มลงตัว มีกลุ่มพยาบาลและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลพากันเดินขบวนถือป้ายข้อความ "รพ.จุฬาฯ สภากาชาดไทย เป็นกลาง ยึดถือหน้าที่ดูแลผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด โดยไม่แบ่งแยก โปรดอย่ามารุกล้ำการปฏิบัติหน้าที่ช่วยชีวิตมนุษย์ของพวกเรา"

 พร้อมกันนี้ บรรดาพยาบาลยังแสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องไม่ควร เนื่องจากโรงพยาบาลมีหน้าที่รักษาผู้ป่วย ดูแลคนไข้ให้ปลอดภัย แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อคืนรู้สึกเสียใจมาก มีคนไข้หลายรายรอรับการรักษา แต่ไม่สามารถทำได้เต็มที่

 "ตั้งแต่ทำงานมาไม่เคยเจอเหตุการณ์อย่างนี้ อยากให้เข้าใจเสียใหม่ การก้าวล้ำเข้ามาในโรงพยาบาลเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง"

 ด้านเจ้าหน้าที่ระดับสูงรายหนึ่งระบายว่า ตั้งแต่ม็อบแดงมาอยู่แยกราชประสงค์ เจ้าหน้าที่ รพ.จุฬาฯ ได้รับความเดือดร้อน ทั้งเรื่องการเดินทางมาทำงาน การเดินทางมารับการรักษาของผู้ป่วยและญาติ ไหนจะถูกข่มขู่ คุกคาม ก่อกวนด้วยการใช้เลเซอร์ส่องขึ้นตามตึกต่างๆ สร้างความรำคาญแก่ผู้ป่วยตลอดคืน ที่เลวร้ายไปกว่านั้น มีการขว้างปาก้อนหิน ยิงหนังสติ๊กมายังตัวอาคาร ฯลฯ

 "ผู้บริหารโรงพยาบาลติดตามสถานการณ์ความรุนแรงมาโดยตลอด หลังการปะทะที่แยกศาลาแดงมีคนบาดเจ็บล้มตาย ดูท่าทีว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นอีก โดยเฉพาะเวลามองลงไปด้านล่างบนถนนราชดำริจะเห็นกลุ่มเสื้อแดงเตรียมอาวุธและถังแก๊สจำนวนมาก ถูกลำเลียงมาวางไว้ริมกำแพงโรงพยาบาล แถมปราศรัยข่มขู่ตลอดว่า ถ้าทหารบุกจะจับแพทย์พยาบาลเป็นตัวประกัน"

 ไม่เฉพาะการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยให้ไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยเท่านั้น มีรายงานจากพยาบาลจุฬาฯ หลายคนว่า ผู้บริหารแจ้งให้แพทย์และพยาบาลที่พักอยู่ในหอพักหลังโรงพยาบาลกว่า 100 คน เก็บข้าวของออกจากโรงพยาบาลด้วยเช่นเดียวกัน

 "ตอนนี้พยาบาลต่างหวาดกลัวพฤติกรรมคนเสื้อแดงมาก"
 
 เท่าที่พูดคุยกับพยาบาลหลายคน เล่าว่า ตั้งแต่มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ผู้ชุมนุมบางส่วนบุกเข้ามาในโรงพยาบาลหลายครั้ง ขู่กรรโชกขอยาพาราเซตามอลที่ห้องฉุกเฉิน ทั้งที่สามารถร้องขอดีๆ ทุกคนก็ยินดีจะจ่ายยาให้ ตรงกันข้ามกลับบังคับข่มขู่แพทย์และพยาบาล บางครั้งพยายามตรวจค้นแพทย์ผู้หญิง รวมถึงโห่ฮาเมื่อเห็นพยาบาลสาวๆ เดินผ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์เมื่อคืนที่ผ่านมา ทำลายขวัญบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนมาก เพราะกลุ่มเสื้อแดงพยายามเข้าตรวจค้นหอพัก

 "บนหอพักมีแต่ผู้หญิง เขาเข้าใจผิดคิดว่า รปภ.โรงพยาบาลซึ่งใส่ชุดสีเขียวขี้ม้าเหมือนทหารเดินเข้ามาเซ็นชื่อ จึงเกิดโกลาหลขึ้น ถ้าเข้ามาค้นหอพักได้ ไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง นี่โรงพยาบาลเรียกประชุมบุคลากรแล้ว ให้เก็บข้าวของย้ายออกทันที" พยาบาลสาวกล่าวน้ำเสียงทดท้อ

 ด้าน รปภ.ตึก ภปร บอกว่า เมื่อคืนที่ผ่านมากลุ่มคนเสื้อแดงพยายามบุกเข้ามาจนไม่สามารถต้านทานได้  จากนั้นพยายามขึ้นไปบนตึกผู้ป่วย มีพยาบาลจบใหม่เดินมาบอกด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลว่า ขึ้นไปไม่ได้ เพราะมีคนไข้อยู่จำนวนมาก เกรงจะเป็นการรบกวน พร้อมทั้งยืนยันว่าไม่มีทหารหลบอยู่แม้แต่คนเดียว แต่กลับถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ตะคอกใส่ด้วยถ้อยคำเสียๆ หายๆ เธอกลัวจนตัวสั่นแล้วก็ร้องไห้

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ