ข่าว

"สุรพล "ชี้ "รัฐบาล"ที่ไม่จัดหา"วัคซีน"ที่ดีให้ประชาชน เป็นการ"ทรยศ"ต่อความไว้วางใจ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อดีตอธิการบดี มธ. "สุรพล นิติไกรพจน์ "ชี้ "รัฐบาล"ที่ไม่จัดหา"วัคซีน"ที่ดีให้ประชาชน เป็นการ"ทรยศ"ต่อความไว้วางใจ ไม่ทำหน้าที่ดูแลให้ประชาชนได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ในท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดร้ายแรงนี้


ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ได้เขียนบทความ ว่า การติดเชื้อโควิดรายวันของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้นจนเป็นสถิติใหม่ทุก ๆ วัน จนสูงสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 13 สิงหากว่าสองหมื่นสามพันคน และผู้เสียชีวิตในสัปดาห์ล่าสุดเฉลี่ยอยู่ราววันละ 200 คน สร้างความตระหนกในวงกว้างถึงโอกาสที่ผู้คนจะติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคโควิดไปทั่วประเทศ

 

ยิ่ง ศบค. ออกมาแถลงเมื่อวานนี้ว่ากระทรวงสาธารณสุขได้คาดการณ์ว่า ด้วยมาตรการ"ล็อกดาวน์"ที่เป็นอยู่ ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้ออาจจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 45,000 รายต่อวันในเดือนกันยายน ก็ยิ่งทำให้ผู้คนแตกตื่นและหาวิธีป้องกันเอาชีวิตรอดจากโควิด19ให้ได้ และดูเหมือนจะมีวิธีเดียว นอกเหนือจากการ"ล็อกดาวน์"ที่ทำอยู่แล้ว ตามคำแถลงที่ศบค. ก็ยอมรับคือการฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุดเท่านั้น

 

เป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีเคยแถลงเอาไว้ก็คือประเทศไทยต้องฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 15 ล้านโดส หรือเฉลี่ยวันละ 500,000 โดส เราจึงมีโอกาสที่จะมีภูมิคุ้มกันหมู่และติดเชื้อน้อยลงได้

 

แต่ตัวเลขการฉีดวัคซีนทั้งประเทศที่รายงานเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม เราฉีดไปได้ทั่วประเทศเพียงเฉลี่ยวันละไม่ถึง 300,000 โดสเท่านั้น (19.091 ล้านโดสหารด้วยจำนวน 68 วันนับแต่ 7 มิถุนายน) ทำไมผู้คนไม่อยากฉีดวัคซีน ไม่เกรงกลัวโควิดหรือ

 

เปล่าเลย เราให้ประชาชนขวนขวาย กระเสือกกระสนดิ้นรนไปลงทะเบียนขอจองคิว ขอรับวัคซีนกันแน่นขนัดในทุกสถานที่ที่มีประกาศให้ฉีดวัคซีน หลายสถานที่ต้องเข้าแถวรอเบียดเสียดยัดเยียดเหมือนในเวทีคอนเสิร์ต หลายที่ที่จัดแถวมีคนมารอตั้งแถวยาวเป็นกิโลเมตรเพื่อหวังจะให้ได้รับวัคซีน เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันตัวเองและครอบครัว

 

แต่ทุกครั้งก็จะมีคนผิดหวังและคนจำนวนมากจะไม่ได้รับวัคซีนเพราะเรามีวัคซีนไม่เพียงพอ และไม่มีใครจัดการให้มีวัคซีนเพียงพอให้กับประชาชน และมีการประกาศเลื่อนวันนัดฉีดออกไปในแทบทุกพื้นที่อยู่เป็นระยะ ๆ

 

จนถึงเมื่อวานนี้ มีประชาชนคนไทยได้รับวัคซีนไปครบสองเข็มหรือสามเข็มสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า หรือเพียงเข็มเดียวสำหรับคนจำนวนมากคิดรวมกันแล้วมีจำนวนเพียง 17.2 ล้านคนหรือนับจำนวนเข็มเท่ากับ 22.5 ล้านเข็มเท่านั้น

 

แปลว่ามีคนไทยอีกมาก 50 ล้านคนที่ยังไม่เคยมีโอกาสได้รับวัคซีนเลยแม้แต่เข็มเดียวทั้ง ๆ ที่เรามีวัคซีนมาให้เริ่มฉีดได้ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 64 แปลว่าห้าเดือนที่ผ่านมาเราฉีดวัคซีนให้กับผู้คนไปได้เพียงเดือนละประมาณ 4.5 ล้านเข็มเท่านั้น เทียบกับเป้าหมายเดือนละ 15 ล้านเข็มที่นายกรัฐมนตรีแถลงไว้ก็แปลว่าเราฉีดได้เพียงหนึ่งในสามเท่านั้น

 

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

คำตอบที่ทุกคนในประเทศนี้ (อาจจะยกเว้นเฉพาะผู้กำหนดนโยบายเรื่องวัคซีน) ทราบดีอยู่ก็คือ เราไม่มีวัคซีนมาให้ฉีดอย่างเพียงพอ ในขณะที่ประชาชนเรียกร้อง อ้อนวอน กราบกรานและขอความช่วยเหลือในการให้มีโอกาสได้รับวัคซีนมาตลอด

 

ถ้าไม่นับวัคซีนทิพย์ที่มีคำสัญญาว่าจะมาถึงในไตรมาสแรกของปี 2565 หรือไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ไม่นับรวม Pfizer ซึ่งมาจากการบริจาคจำนวนจำกัดสำหรับบุคลากรด่านหน้าแล้ว เรามีวัคซีนให้ฉีดได้เพียงสองชนิดเท่านั้นในประเทศไทยคือ Astra Zeneca (AZ) ซึ่งเป็นวัคซีนหลักและประเทศไทยได้ลงนามสั่งซื้อไปแล้วตามคำแถลงของรัฐบาลจำนวน 61 ล้านโดส และในปัจจุบันได้ส่งมอบมาให้แล้วเพียง 8.1 ล้านโดส

 

กับวัคซีน Sinovac (SV) จากประเทศจีนที่รัฐบาลเพิ่งสั่งซื้อเพิ่มไปอีกกว่าเก้าล้านโดสเมื่อปลายเดือนที่แล้วรวมเป็นจำนวนสั่งซื้อทั้งสิ้น 19.5 ล้านโดส และได้มีการส่งมอบมาแล้ว 14.5 ล้านโดสขาดอีกเพียง 5 ล้านโดส

 

ทั้งนี้ ไม่ได้นับรวมวัคซีน Sinopharm ซึ่งไม่ได้เป็นการดำเนินการโดยรัฐบาล แต่การนำเข้ามาให้กลุ่มองค์กรต่าง ๆ ที่จองซื้อผ่านราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้อีกจำนวน 2-4 ล้านโดส

 

จะเห็นได้ว่าวัคซีนหลักของประเทศไทยคือ AZ ที่ทำสัญญาจองซื้อไว้แล้วถึง 61 ล้านโดส กับอันดับสองคือ SV ซึ่งมีจำนวนจองชื้อสุทธิ 19.5 ล้านโดส และในวันนี้ SV ยังส่งมาไม่ครบถ้วนอีก 5 ล้านโดส ในขณะที่ AZ มียอดทำสัญญาจองซื้อไป 61 ล้านโดส เพื่อส่งมอบมาเพียง 8.1 ล้านโดส ยังขาดอยู่อีกถึง 52.9 ล้านโดส

 

ไม่ต้องพูดถึงความเชื่อมั่นของสาธารณะต่อวัคซีนเชื้อตายกับวัคซีนไวรัลเวคเตอร์ในเรื่องประสิทธิภาพและการป้องกันโรค ซึ่งมาจากผลงานการวิจัยในประเทศมากมายที่แถลงโดยกระทรวงสาธารณสุขและคณะแพทย์ เพียงแต่ดูจำนวนวัคซีนที่จะต้องส่งมอบมาตามสัญญา ชาวบ้านทั้งหลายก็เข้าใจได้อยู่แล้วว่า อะไรคือวัคซีนหลักจะช่วยให้คนไทยเอาชีวิตรอดโดยสร้างภูมิคุ้มต่อโรคได้ ก็เลยมีคำถามกันอย่างกว้างขวางมาหลายเดือนแล้วว่า ทำไมเราไม่มีวัคซีน AZ มาฉีดให้คนไทย

 

ในเมื่อเราได้รับการบอกเล่ายืนยันมาตลอดว่าบริษัทสยามไบโอซายน์ซึ่งเป็นโรงงานที่รับจ้างผลิตให้กับ Astra Zeneca คู่สัญญาของรัฐบาลไทยนั้น เป็นบริษัทของคนไทย100% และตั้งโรงงานผลิตอยู่ที่บางใหญ่ จังหวัดนนทบุรีนี่เองและบริษัทไทยที่รับจ้างผลิตวัคซีนชนิดนี้ก็มีกำลังผลิตได้ถึงเดือนละ 15 ล้านโดส

 

ทำไมวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยจึงไม่ถูกแบ่งมาให้คนไทยได้ฉีดป้องกันโรคระบาดร้ายแรงด้วยได้ ทั้ง ๆ ที่เราก็ได้สั่งซื้อไปตั้ง 61 ล้านโดสแล้ว และยังไม่ได้รับอีกกว่า 52 ล้านโดส  ทำไมบริษัทถึงได้บอกว่าคิวของประเทศเราจะไปได้รับวัคซีนตามสัญญาจองซื้อเอาเมื่อถึงกลางปีหน้า ตามที่ รมช.สาธารณสุขออกมาแถลงไม่นานมานี้

 

ทำไมสัญญาจองซื้อวัคซีนนี้จึงเปิดเผยให้คนไทยที่เสียภาษีทราบเงื่อนไขข้อตกลงไม่ได้  ทำไมเราจึงไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนที่ผลิตอยู่ในประเทศได้   ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตรายวันจากโควิดของประเทศไทยต่อจำนวนประชาชนล้านคนเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกแล้วในวันที่ 11 สิงหาคม 64 (จาก ourworldindata.com)

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดหลักพื้นฐานในการปกครองประเทศ และรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้บัญญัติรับรองสิทธิของประชาชนชาวไทยไว้ในบทบัญญัติ มาตรา 47 ว่า

 

“มาตรา 47 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ บุคคลย่อมมีสิทธิในการได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย”

 

นอกจากนั้นในบทบัญญัติมาตรา 55 ของรัฐธรรมนูญซึ่งอยู่ในหมวด 5 ว่าด้วยหน้าที่ของรัฐ ได้บัญญัติให้รัฐต้องทำหน้าที่ในเรื่องการบริการสาธารณสุขไว้ว่า

 

“มาตรา 55 รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค และส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด บริการสาธารณสุขตามวรรคหนึ่ง ต้องครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมและป้องกันโรคการรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพด้วยรัฐต้องพัฒนาการบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

 

นอกจากนั้น บทบัญญัติมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญยังกำหนดบังคับให้คณะรัฐมนตรีซึ่งจะเข้าทำหน้าที่เป็นรัฐบาลปกครองประเทศ จะต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ว่าจะปฏิบัติตามหน้าที่และหลักการของรัฐธรรมนูญไว้ในวรรคสอง ด้วยถ้อยคำที่กำหนดไว้ว่า

 

“ข้าพระพุทธเจ้า ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

 

ดังนั้น ถ้าหากรัฐบาลใดละเลยไม่ปฏิบัติตามคำถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ไม่เคารพต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ไม่ทำหน้าที่ดูแลให้ประชาชนได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ในท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดร้ายแรงนี้ รัฐบาลนั้นก็ต้องได้ชื่อว่าทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน และไม่ปฏิบัติตามคำสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์อย่างแน่นอน

 

คำถามคือ รัฐบาลนี้ได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว แต่สถานการณ์การระบาดรุนแรงทั่วโลก ความต้องการใช้วัคซีนที่มีสูงมากกว่าความสามารถในการผลิตวัคซีน เป็นเหตุให้รัฐบาลไม่สามารถจัดหาวัคซีนมาให้ประชาชนได้ใช้ป้องกันโรคอย่างเพียงพอ เป็นคำอธิบายที่รับฟังได้หรือไม่ว่ารัฐบาลได้พยายามกระทำการอย่างดีที่สุดแล้วในทุก ๆ ทางและไม่มีหนทางอื่นที่รัฐบาลจะสามารถดำเนินการให้ดีไปกว่านี้แล้วหรือไม่ 

 

คำตอบในทางกฎหมายและในทางการบริหารราชการแผ่นดิน และในทางหน้าที่ความรับผิดชอบต่อปวงชนชาวไทยของคนที่มีอำนาจบริหารประเทศก็คือ ไม่ใช่รัฐบาลยังมีช่องทางในการทำตามหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในเรื่องการป้องกันโรคระบาดได้ แต่รัฐบาลไม่ตัดสินใจและไม่เลือกที่จะทำเองต่างหาก

 

พระราชบัญญัติความมั่นคงทางด้านวัคซีคแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา และพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้โดยชอบในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 บัญญัติเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนที่ผลิตในประเทศ โดยให้อำนาจรัฐบาลอย่างกว้างขวางในเรื่องการจัดสรรหรือส่งออกวัคซีนที่ผลิตได้ในประเทศเพื่อการส่งออกไปต่างประเทศโดยได้กำหนดไว้ในมาตรา 18 (2) ว่า

 

“มาตรา 18 ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือมีเหตุจำเป็นเพื่อประโยขน์สาธารณะเพื่อป้องกัน ควบคุม รักษา หรือลดความรุนแรงของโรค หรือเพื่อความมั่นคงของประเทศให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดเรื่องหนึ่ง เรื่องใด ดังต่อไปนี้

(2) สัดส่วนการส่งออกวัคซีนไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวซึ่งต้องเหมาะสมกับสัดส่วนการใช้วัคซีนภายในประเทศ”

 

นอกจากนั้นมาตรา 18 ในวรรคสองยังบัญญัติให้อำนาจของรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย ซึ่งก็คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเอาไว้ด้วยว่า

 

“ในกรณีที่ไม่อาจขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการได้ทันต่อสถานการณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีออกประกาศไปก่อน แล้วดำเนินการเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อให้ความเห็นชอบภายในสามวันทำการในกรณีที่มิได้ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนด หรือคณะกรรมการไม่ให้ความเห็นชอบให้การประกาศดังกล่าวเป็นอันสิ้นสุดลงและให้สถาบันแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ”

 

ในขณะนี้ อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติความมั่นคงทางด้านวัคซีนแห่งชาติฉบับนี้ได้ถูกโอนไปเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีแล้วตามประกาศที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารรราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งออกประกาศไว้เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564

 

ดังนั้น การดำเนินการออกประกาศกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีน Astra Zeneca ที่ผลิตในประเทศไทยไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว จึงกระทำได้โดยเพียงนายกรัฐมนตรีออกประกาศตามพระราชบัญญัติความมั่นคงทางด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 18 เท่านั้น

 

ข้อเสนอสำหรับการทำหน้าที่รัฐบาลที่ดีให้เป็นไปตามความคาดหวังและความไว้วางใจของประชาชนตามที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณไว้ว่า คณะรัฐมนตรีจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและปฏิบัติตามหน้าที่ของรัฐในการดูแลสิทธิในการได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่อร้ายแรงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้นั้น ไม่ใช่เป็นการประกาศห้ามมิให้บริษัทสยามไบโอซายน์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนมิให้ส่งออกวัคซีนไปยังประเทศอื่น ๆ โดยเด็ดขาด แต่เป็นเพียงเสนอให้จำกัดการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเท่านั้น

 

เมื่อบริษัทมีกำลังการผลิตได้เดือนละ 15 ล้านโดส จะเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนชาวไทยผู้รอคอยวัคซีนอยู่หรือไม่ หากนายกรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายความมั่นคงทางวัคซีนจะออกประกาศให้บริษัทสามารถส่งวัคซีนออกไปต่างประเทศได้เพียงครึ่งเดียวของกำลังการผลิตแต่ละเดือน เพื่อให้มีวัคซีน AZ เหลืออีก 7.5 ล้านโดสต่อเดือนเพื่อฉีดให้กับคนไทย

 

และที่สำคัญก็คือมาตรการที่เป็นมาตรการที่ใช้เพียงชั่วคราวเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น เพราะเราไม่ต้องการบังคับยึดเอาวัคซีนของบริษัทมาใช้ เพียงแต่จะขอให้บริษัทส่งมอบวัคซีนที่ผลิตในประเทศเพื่อเอาฉีดป้องกันโรคให้คนไทยตามสัญญาสั่งซื้อที่ประเทศไทยได้ตกลงไว้กับ Astra Global จำนวน 61 ล้านโดสเท่านั้น

 

เมื่อไหร่ที่ได้วัคซีนรายเดือนเดือนละ 7.5 ล้านโดสครบถ้วนตามจำนวนที่ขาดอยู่อีก 52.5 ล้านโดส นายกรัฐมนตรีก็ควรออกประกาศยกเลิกการกำหนดสัดส่วนการส่งออกเสีย จากนั้นบริษัทจะส่งวัคซีนออกไปที่ไหนอย่างไรก็ทำได้ตามปกติเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อบริษัทไม่มากนัก

 

เนื่องจากเราเพียงแต่ขอให้บริษัทปฏิบัติตามสัญญาสั่งซื้อที่ทำไว้กับประเทศไทย และขอให้ส่งมอบให้คนไทยได้มีวัคซีนไว้เพียงครึ่งเดียวของกำลังการผลิตเท่านั้น

 

ทั้งยังเป็นการใช้มาตรการตามที่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยถูกต้อง ไม่ได้เป็นการใช้อำนาจของรัฐบาลไปบังคับไปยึดหรือไปยกเลิกสัญญาโดยไม่มีกฎหมายรองรับอย่างที่มีกรณีที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยในเรื่องอื่น ๆ เมื่อไม่กี่ปีมานี้หลายครั้งหลายหนอีกด้วย

 

ยิ่งไปกว่านั้น การปฏิบัติในลักษณะเดียวกันนี้ ก็ได้ทำกันในรัฐบาลทั่วโลก ในยามที่มีภาวะวิกฤตที่ทำให้ส่งผลกระทบให้ประชาชนเดือดร้อนร้ายแรง รัฐบาลอินเดียเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็ทำรุนแรงมากกว่าที่เสนอนี้อีก เพราะรัฐบาลอินเดียออกประกาศห้ามการส่งออกวัคซีนที่ผลิตในอินเดียโดยสิ้นเชิง เพื่อให้ประชาชนชาวอินเดียได้มีโอกาสเข้าถึงวัคซีนก่อน ไม่ใช่แต่เพียงการจำกัดการส่งออกให้ส่งออกไว้เพียง 50% อย่างกรณีที่เสนอนี้เท่านั้น

 

ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และประเทศยุโรปในกลุ่ม EU ก็ได้เคยออกประกาศกำหนดห้ามมิให้มีการส่งออกหน้ากากป้องกันเชื้อโรค N95 ที่ผลิตโดยบริษัท 3M หรือบริษัทผลิตเวชภัณฑ์ที่มีโรงงานผลิตในประเทศของตน มิให้ส่งออกแม้แต่ชิ้นเดียวไปต่างประเทศเมื่อมีการระบาดรุนแรงรอบแรกในปี 2563 มาแล้วทั้งสิ้น

 

รัฐบาลของทุกประเทศเข้าใจความเดือดร้อนจำเป็นของประชาชนของตนและใช้มาตรการที่รุนแรงมากกว่าที่เสนอ คือห้ามการส่งออกยา วัคซีนและเวชภัณฑ์สำหรับโควิด19 มาแล้วทั้งสิ้น จนกลายเป็นมาตรฐานสากลในเรื่องประโยชน์สาธารณะของประชาชนในประเทศที่จะต้องมาก่อนในทุก ๆ ประเทศ โดยไม่มีใครเกรงใจบริษัทผู้ผลิตเวชภัณฑ์หรือเกรงใจว่าประเทศเพื่อนบ้านจะเดือดร้อนมาแล้วทั้งสิ้น

 

ดังนั้น มาตรการแบบเกรงใจเพื่อนบ้านอย่างที่ได้เสนอต่อรัฐบาลไทยนี้ โดยให้ส่งออกวัคซีนได้เพียงครึ่งเดียวอย่างที่เสนอให้ทำ จึงดูเป็นมาตรการที่เหมาะสมกับสังคมขี้เกรงใจหรือรัฐบาลขี้เกรงใจของเรามากที่สุดแล้ว ในสถานการณ์ร้ายแรงที่ผู้คนชาวไทยล้มตายจำนวนมากในขณะนี้

 

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดกับประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าหากเราอนุญาตให้ส่งออกวัคซีนที่ผลิตในประเทศได้เพียง 50% ก็ต้องตั้งคำถามว่าประเทศเพื่อนบ้านประเทศใดในกลุ่มอาเซียนที่เขาใช้วัคซีน Astra Zeneca เป็นวัคซีนหลักบ้าง คำตอบคือไม่มีเลย

 

ทุกประเทศแม้กระทั่งประเทศลาวและกัมพูชา ต่างก็มีวัคซีนสารพัดชนิด ทั้งวัคซีนเชื้อตายหลายชนิดจากจีน วัคซีนไวรัลเวคเตอร์ วัคซีนmRNA และมียี่ห้อวัคซีนสารพัด นับแต่ Sinovac Sinopharm Pfizer Moderna Nanovac Johnson&Johnson Astra Zeneca ไปจนถึง Sputnik V ของรัสเซีย

 

มีแต่ประเทศไทยของเราเท่านั้นที่ใช้วัคซีนหลักเป็น Astra Zeneca เพียงชนิดเดียว เพราะฉะนั้น อย่าไปห่วงผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านเลย เขาไม่ได้รับผลกระทบมากนักหรอก ห่วงชีวิตของคนไทยที่ฝากทุกสิ่งทุกอย่างไว้กับวัคซีน AZ ที่ผลิตในประเทศไทยเองนี้เถิด

 

อย่าไปเป็นห่วงในข้อวิตกกังวลของนักกฎหมายบางคนในเรื่องที่ว่า การออกประกาศลักษณะนี้จะเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาเลย เพราะนี่เป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติที่ใหญ่กว่าข้อสัญญาและไม่เกี่ยวข้องกับการจองซื้อวัคซีน

 

ก็ถ้าประเทศมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีความขาดแคลนวัคซีนถึงขนาดผู้คนล้มตายกันเป็นใบไม้ร่วง แล้วมีกฎหมายให้ “จำกัดการส่งออกวัคซีน” ขอให้ส่งออกเพียงครึ่งเดียวโดยกลไกที่กฎหมายบัญญัติ ก็ไม่เห็นจะต้องมีข้อสงสัยเลยว่ารัฐบาลจะละเมิดสัญญาอย่างไร เพราะเงินค่าวัคซีนก็จ่าย จำนวนวัคซีนก็ไม่ได้ไปบังคับเอามากมาย แต่ขอเพียงให้ส่งตามยอดที่เราสั่งซื้อไว้คือ 61 ล้านโดส เดือนละ 7.5 ล้านโดส จากกำลังการผลิต 15 ล้านโดส

 

อันนี้เป็นการใช้อำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมายและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญโดยแท้ทีเดียว ถ้าไม่ทำต่างหากจึงจะเป็นการละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนและไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของรัฐอย่างชัดแจ้ง

 

การที่เราประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินให้ปิดเส้นทางคมนาคมขนส่ง ปิดกิจการ ห้ามออกนอกบ้าน และไปบังคับให้กิจการขนส่งมวลชนที่เอกชนมาลงทุนตามที่เขามีสัญญากับรัฐไว้ หรือที่เขาได้รับการส่งเสริมการลงทุนไว้ ให้ทำมาหากินได้แค่สามทุ่ม ให้ปิดโรงงาน ปิดโรงแรม หยุดการขนส่งทางอากาศ ปิดธนาคารในห้างสรรพสินค้า อันนี้เป็นการทำผิดสัญญาที่เขาได้รับสัมปทานหรือได้รับอนุญาตจากรัฐ หรือผิดเงื่อนไขที่ให้การส่งเสริมการลงทุนแก่ต่างชาติไป

 

เป็นการกระทำที่ขัดต่อความตกลงหรือสัญญาหรือเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนไหม  แต่ทำไมรัฐบาลถึงทำไปได้ละ  แล้วทำไมจะกำหนดเกณฑ์เรื่องการส่งออกวัคซีนจึงจะทำไม่ได้

 

คำตอบก็คือ มันมีเหตุผลความจำเป็นที่เร่งด่วน เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและกำจัดโรคระบาดร้ายแรง อันเป็นสิ่งที่เรียกว่าประโยชน์สาธารณะ (Public Interest) ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้รัฐบาลทำได้และเป็นเรื่องที่ทำโดยชอบด้วยหลักกฎหมาย

 

ทุกประเทศในโลกก็ทำกันอย่างนี้ ไม่มีใครออกมาโวยวายว่าไม่เป็นไปตามสัญญาสัมปทาน ไม่เป็นไปตามความตกลงหรือข้อกำหนดในเรื่องส่งเสริมการลงทุน

 

เพราะสำหรับรัฐทุกรัฐ หลักกฎหมายที่ยอมรับเป็นสากลก็คือความมั่นคงและการดำรงอยู่ของรัฐและของประชาชนของรัฐจึงต้องมีความสำคัญสูงสุด นั่นคือเหตุผลที่กฎหมายการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและกฎหมายความมั่นคงทางด้านวัคซีนแห่งชาติกำหนดไว้นั่นเอง

 

อย่าไปเชื่อความคิดของบางคนที่บอกว่าการจำกัดสิทธิการส่งออกวัคซีนให้เหลือสักครึ่งหนึ่งของกำลังบริษัทจะทำให้เกิดความรับผิดทางปกครอง เพราะกลัวว่าฝรั่งเจ้าของบริษัทเขาจะออกมาฟ้องเรียกค่าเสียหาย

 

เพราะตั้งแต่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมาปีเศษนี้ รัฐบาลได้เที่ยวไปปิดกิจการการบิน การท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า และกิจการขนส่งต่าง ๆ ไปค่อนประเทศ จนคนตกงานกันเกือบหมดทั้งประเทศอยู่แล้ว ไม่เห็นมีนักกฎหมายคนไหนออกมาถามว่า ทำอย่างนี้จะเป็นการกระทำที่ทำให้เกิดความเสียหายและต้องชดใช้ค่าเสียหายทางปกครองหรือไม่

 

เพราะเมื่อใช้อำนาจตามกฎหมายโดยเหตุที่ชอบตามสมควรแก่เหตุ กำหนดมาตรการทีได้สัดส่วนกับการแก้ปัญหา ก็ย่อมไม่มีความรับผิดชอบในทางกฎหมายเกิดขึ้นอยู่แล้ว และไม่ว่าศาลไหน ๆ ก็ไม่อาจมาบังคับให้ต้องมีความรับผิดใดได้ เว้นแต่ว่า ถ้ารัฐบาลผู้ทำให้เขาเดือดร้อนจะ “เยียวยา” ชดเชยช่วยเหลือหรือช่วยชดเชยความเสียหายของผู้ได้รับผลกระทบบ้าง ก็จะเป็นเรื่องที่เหมาะที่ควรที่พึงจะกระทำเท่านั้น

 

ท้ายที่สุดอาจจะมีใครมาบอกว่า เราไม่สามารถผลิตหัวเชื้อสำหรับวัคซีนได้ ต้องพึ่งพาของ Astra Global ถ้าเราไปห้ามส่งออก เขาก็จะไม่ส่งสารตั้งต้นมาให้เราเพาะเลี้ยง วัคซีนก็จะไม่ได้มาอยู่ดี

 

เรื่องนี้ก็ต้องชี้แจงว่าเชื้อตั้งต้นนั้นได้ถูกส่งมาและเพาะเลี้ยงในประเทศเป็นเวลาหลายเดือน และหลายรอบแล้วที่มีการเพาะเลี้ยงและขยายสเกลขึ้นในประเทศ ถ้าเราประสงค์เพียงจะได้วัคซีนอีกเดือนละ 7.5 ล้านโดสใน 3-4 เดือนนี้ จำนวนและปริมาณของเชื้อตั้งต้นที่มีอยู่ในประเทศและที่เพาะเลี้ยงขยายสเกลอยู่โดยนักวิทยาศาสตร์และนักชีววิทยาคนไทยในประเทศไทยขณะนี้ มากเพียงพอที่จะทำให้ผลิตวัคซีนไปได้ถึงปลายปี

 

และถ้ารัฐบาลไทยประกาศชัดว่า เราไม่ได้ห้ามการส่งออก เราเพียงแต่จะขอจำกัดให้ส่งออกไปต่างประเทศได้เพียงครึ่งหนึ่งและให้ประชาชนชาวไทยได้ใช้วัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยมาแก้ปัญหาของประเทศและของประชาชนเพียงจำนวนตามสัญญาที่เราสั่งซื้อไว้ ไม่ใช่การริบเอาวัคซีนทั้งหมดเอาไว้ใช้เองอย่างเห็นแก่ตัว

 

เช่นนี้แล้ว จะมีเหตุผลใดที่ Astra Global ซึ่งมีกำลังซื้อจากประเทศต่าง ๆ มากมายล้นหลามและมีโรงงานผลิตเพียงไม่กี่แห่งในโลกจะต้องยุติกำลังการผลิตของโรงงานในประเทศไทย ซึ่งกำลังผลิตส่งออกไปต่างประเทศให้เขาได้ถึงเดือนละ 7.5 ล้านโดสเสียเล่า

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงจะบอกเล่าให้ประชาชนชาวไทยและรัฐบาลได้ทราบว่า หนทางแก้ปัญหาการขาดแคลนวัคซีน AZ ซึ่งเป็นวัคซีนหลักชนิดเดียวของประเทศและแก้ไขความทุกข์ยากเดือดร้อน และปัญหาการล้มตายเป็นใบไม้ร่วงของคนไทยที่เกิดขึ้นทุก ๆ วันจากการติดเชื้อและระบาดรุนแรงของโควิด-19 นั้น

 

มีหนทางเดียวที่จะทำได้ นอกเหนือไปจากมาตรการต่าง ๆ ที่ทำไปแล้วทั้งหมด ก็คือการจัดหาวัคซีน AZ มาให้ได้อย่างเพียงพอและรวดเร็ว รวดเร็วที่ไม่ได้หมายความว่าปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า รวดเร็วคือเพื่อให้ประชาชนคนไทยได้ฉีดวัคซีนกันอย่างกว้างขวางวันละไม่น้อยกว่า 750,000 โดสตั้งแต่เดือนนี้

 

อย่าไปเสียเวลารณรงค์ให้ประชาชนมาฉีดวัคซีนเลย เอาเวลาและทรัพยากรไปจัดหาวัคซีนดี ๆ มาให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนดีกว่า และไม่ต้องไปหาไกลถึงวัคซีน mRNA จากต่างประเทศที่บอกว่าจะได้มาในปี 2565 อีก 20 หรือ 30 ล้านโดสเลย

 

ช่วยทำหน้าที่ของรัฐบาลที่ดีในการใช้อำนาจตามกฎหมาย ขอความร่วมมือจากบริษัทวัคซีนในประเทศให้แบ่งวัคซีนที่ผลิตได้และการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ ให้เหลือไว้ให้ประชาชนชาวไทยที่ทุกข์ยากเดือดร้อนและหวั่นวิตกกับชีวิตและอนาคตที่ไม่แน่นอน ให้ได้มีโอกาสเข้าถึงวัคซีน AZ ได้เพียงแต่ครึ่งหนึ่งของศักยภาพที่ผลิตได้

 

ก็น่าจะเป็นการทำหน้าที่ของรัฐบาลที่ดีที่พึงกระทำ และไม่ถูกกล่าวหาว่าทรยศต่อความคาดหวังและความไว้วางใจของประชาชนในภาวะที่ยากแค้นลำเค็ญที่สุดของประเทศไทยในคราวนี้แล้ว

 

ที่มา :สำนักข่าวอิศรา

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ