ข่าว

"ศาลแพ่ง" สั่งห้าม"นายกฯ" บังคับใช้ข้อกำหนดตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ปิดปากสื่อ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ศาลแพ่ง"คุ้มครองชั่วคราวสั่งห้าม "นายกฯ" บังคับใช้ข้อกำหนดตามม.9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปิดปากสื่อ ด้านทนายพอใจศาลสั่งคุ้มครองให้ประชาชนและสื่อมวลชน

เมื่อวันที่ 6 ส.ค.64 ศาลแพ่ง รัชดาภิเษก มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวคดีที่ทนายความภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยตัวแทนสื่อออนไลน์รวม 12 แห่ง ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด 19 หรือ ศบค.

 

 

ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 29 ที่ให้อำนาจสำนักงานคณะกรรมการบริหารกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) แจ้งผู้รับใบอนุญาตการใช้บริการอินเตอร์เนตตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรสื่อความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง วิทยุโทรคมนาคมทุกราย

 

 

 

ให้มีการตรวจสอบข้อความหรือข่าวสารมีที่มาจากIP ADDRESSโดยให้แจ้งรายละเอียดตามที่สำนักงาน กสทช.กำหนด และให้แจ้งการใช้อินเตอร์เนตรวมทั้งให้ สำนักงาน กสทช. แจ้งพนักงานสอบสวน ดำเนินการตามกฎหมาย 

 

โดยศาลแพ่งพิเคราะห์แล้วจึงมีคำสั่งห้ามจำเลยดำเนินการบังคับใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 29) เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

 

ทนายพอใจศาลสั่งคุ้มครองให้ประชาชนและสื่อมวลชน มีสิทธิใช้อินเตอร์เนตตามกฎหมายเพื่อการสื่อสาร หากมีการเสนอข่าวผิดพลาดหรือเฟกนิวส์ รัฐยังมี พ.ร.บ.คอมฯ เป็นเครื่องมือเอาผิดได้

 

ภายหลังฟังคำสั่งศาล นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความ ให้สัมภาษณ์ ว่า ศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค.บังคับใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 29 ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

 

เหตุเพราะ ข้อกำหนดว่าห้ามนำเสนอข่าวที่มีลักษณะสร้างความหวาดกลัว เป็นข้อกำหนดที่ไม่มีความชัดเจนแน่นอนในขอบเขต ดังนั้นอาจจะทำให้ประชาชนรวมทั้งโจทก์ ไม่รู้ว่าขอบเขตในการใช้เสรีภาพนั้นเป็นอย่างไร การนำเสนอความจริงจะผิดต่อข้อกำหนดนี้หรือไม่ จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 34,35 และ 26 

 

นอกจากนี้แล้วข้อกำหนดที่ให้อำนาจ กสทช.ในการระงับใช้อินเตอร์เน็ต ศาลเห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการออกข้อกำหนดลักษณะนี้ ที่ให้สั่งระงับอินเตอร์เน็ตได้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอินเตอร์เน็ตมีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ประชาชนจะต้องใช้อินเตอร์เน็ตในการสื่อสาร ติดต่อข่าวสารต่างๆ การให้อำนาจสั่งระงับอินเตอร์เน็ตที่รวมไปถึงในอนาคตด้วยนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ    

 

อย่างไรก็ตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้ใช้ข้อกำหนด ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  และไม่ให้ระงับอินเตอร์เน็ตดังกล่าว ก็ไม่ได้ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินได้รับการกระทบกระเทือน หรือก่อให้เกิดความเสียหาย เนื่องจากรัฐยังสามารถบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในการใช้บังคับเกี่ยวกับข่าวปลอม หรือข่าวบิดเบือนข้อเท็จจริงได้ 

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า รู้สึกพอใจกับคำสั่งศาลแพ่งที่ให้ระงับข้อกำหนดฉบับที่ 29 ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เกี่ยวกับข่าวที่สร้างความหวาดกลัวหรือไม่

 

นายนรเศรษฐ์ กล่าวว่า พอใจ ในคำสั่งศาล เพราะถือว่าศาลมุ่งคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนและเสรีภาพของสื่อในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะในสถานการณ์แบบนี้ควรจะสามารถนำเสนอความจริงอย่างตรงไปตรงมาได้ แม้ความจริงนั้นบางครั้งอาจจะน่ากลัวก็ตาม แต่ว่าเราก็ต้องนำเสนอเพราะมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคม


 

 

"ศาลแพ่ง" สั่งห้าม"นายกฯ" บังคับใช้ข้อกำหนดตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ปิดปากสื่อ"

 

"ศาลแพ่ง" สั่งห้าม"นายกฯ" บังคับใช้ข้อกำหนดตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ปิดปากสื่อ"

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ