ข่าว

ศ.ดร.กนก สอนมวยการบริหารจัดการ "แก้ไขวิกฤตโควิด19"แนะ5ทางออกสร้างสรรค์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ศ.ดร.กนก" แนะ5 ทางออกการบริหารจัดการ "แก้ไขวิกฤตโควิด19" ต้องยึดความปลอดภัยของประชาชนมาก่อนกฎระเบียบของทางราชการที่ล่าช้า ติงการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ต้องลดการชิงไหวชิงพริบเพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง

วันที่ 21 กรกฏาคม 2564 ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ เฟซบุ๊กส่วนตัว กนก วงษ์ตระหง่าน (Kanok Wongtrangan) มีเนื้อหาใจความระบุว่า 

ความปลอดภัยของประชาชนสำคัญที่สุด

อัตราคนติดเชื้อไวรัสโควิด 19 รายใหม่ตกวันละกว่า 10,000 คน และจำนวนผู้เสียชีวิตประมาณ 100 คนต่อวัน รวมไปถึงจำนวนผู้ป่วยที่อยู่ในระบบการรักษามากกว่า 120,000 คน คงปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่เป็นสถานการณ์อัน “วิกฤต” สำหรับประเทศไทย จึงเป็นหน้าที่สำคัญของพลเมืองไทยต้องช่วยกันคลี่คลายวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างอย่างเคร่งครัด ให้ความเอื้อเฟื้อต่อประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเต็มใจ หรืออย่างน้อยที่สุด คือ การเสนอความคิดเห็นต่อการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เช่น

เราจะแก้ไขอัตราการติดเชื้อใหม่รายวันที่เพิ่มสูงขึ้นได้อย่างไร เราจะช่วยส่งคนป่วยให้กลับไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในจังหวัดบ้านเกิด แทนการนอนรอเตียงในห้องเช่าที่กรุงเทพและปริมณฑลในรูปแบบไหน หรือเราจะสื่อสารถึงรัฐบาล และต่อประชาชนด้วยกัน เพื่อหาแนวทางร่วมกันบรรเทาทุกข์ที่เกิดขึ้นด้วยกระบวนการใด เป็นต้น

สำหรับสำนึกในความเป็นพลเมืองของผม คือ ข้อคิดเห็นต่อการบริหารจัดการแก้ไขวิกฤตโควิด 19 อย่างสร้างสรรค์ใน 5 ประเด็น ดังนี้

1. การแก้ไขปัญหาวิกฤตโควิด 19 ต้องยึดเจตนารมณ์ร่วมกัน คือ “ความปลอดภัยของประชาชนสำคัญที่สุด” ทุกวันนี้ตามรายงานข่าวปรากฎทั้งคนรวยและคนจนล้วนต้องเสียชีวิตด้วยไวรัสโควิด 19 ไม่ต่างกัน นั่นแสดงว่าฐานะทางการเงินไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยของเราได้ ภาพของพ่อ แม่ สามี ภรรยา พี่ น้อง ลูก หลาน ที่ต้องเจ็บป่วยนอนรอเตียงอยู่บ้านอย่างทุกข์ทรมาน และเสียชีวิตในเวลาต่อมา บอกกับเราว่า ความเป็นครอบครัว ญาติ หรือวงศ์วานว่านเครือใดๆ ก็ไม่สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้ การช่วยยื้อชีวิตคนป่วยก็เช่นกัน

ทั้งหมดนี้ จึงกลับมาที่กระบวนการสร้าง “ความปลอดภัยของประชาชนทุกคน” ต้องเริ่มต้นที่ตัวเราเอง ดังนั้น การดูแลตัวเองไม่ให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และสร้างการแพร่ระบาดไวรัส คือการให้ความร่วมมือเพื่อรักษาความปลอดภัยทางสุขภาพของทุกคน

2. สำหรับนักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ทั้งในระดับชาติ และท้องถิ่น ถ้าทุกคนยึดเจตนารมณ์ร่วมกัน คือ “ความปลอดภัยของประชาชนสำคัญที่สุด” การปฏิบัติหน้าที่ของท่านต้อง “ลดการชิงไหวชิงพริบ” เพื่อความได้เปรียบทางการเมือง ในอีกด้านหนึ่ง ต้องไม่นิ่งเฉย เพื่อรอให้คู่แข่งเพลี่ยงพล้ำ โดยไม่ห้ามปราม ตรวจสอบ หรือนำเสนอทางเลือกที่เหมาะสมกว่า ตามข้อมูล และข้อเท็จจริงที่ได้รับมา ถ้าสื่อสารให้ชัดเจนก็คือ ต้องไม่ใช้วิกฤตโควิด 19 มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะความทุกข์ร้อนของประชาชนไม่ควรต้องเป็นกลเกมทางการเมืองของใคร

3. ข้าราชการประจำที่มีหน้าที่ทางวิชาชีพในการแก้ไขวิกฤตโควิด 19 และช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ก็ขอให้ท่านได้ก้าวข้ามกฎระเบียบอันทำให้การช่วยเหลือประชาชนล่าช้าเสียที เช่น การตั้งโรงพยาบาลสนาม ซึ่งงบประมาณก็อนุมัติแล้ว แต่การจัดซื้อจัดจ้างต้องล่าช้า เพราะกระบวนการจัดซื้อตามระเบียบที่ราชการกำหนด

รวมไปถึงการไม่ให้ความร่วมมือกันระหว่างข้าราชการส่วนภูมิภาคกับข้าราชการส่วนท้องถิ่น เช่น สถานที่ตั้งโรงพยาบาลสนามที่ตกลงกันไม่ได้ ระหว่างนายอำเภอ กับนายก อบจ. เป็นต้น ดังนั้น ข้าราชการประจำต้องอำนวยให้ “ความปลอดภัยของประชาชน” มาก่อนกฎระเบียบของทางราชการ

4. การแก้ปัญหาวิกฤตนี้ ตั้งแต่ระดับรัฐบาล จังหวัด ไปจนถึงท้องถิ่น ต้องไม่วิ่งแก้ปัญหาตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น เมื่อผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลสนามแล้ว จึงมารีบจัดระบบการรักษาตัวที่บ้าน เป็นต้น เพราะหัวใจของ “การบริหารจัดการวิกฤต” คือ การคาดการณ์ล่วงหน้า ว่าสถานการณ์จะพัฒนาไปอย่างไร เพื่อเตรียมพร้อมระบบและกลไกในการแก้ไขปัญหาอันอาจจะเกิดขึ้นมาในอนาคต เช่น เรามองเห็นการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสแล้ว การเตรียมจัดหาวัคซีนใหม่ ที่จะรับกับไวรัสกลายพันธุ์ต้องเกิดขึ้นทันที เป็นต้น

5. การบริหารจัดการกับวิกฤตการณ์ ไม่มีประเทศใด หรือผู้บริหารคนไหนที่ไม่ผิดพลาด เพราะไม่มีใครล่วงรู้สถานการณ์ล่วงหน้าได้ทั้งหมด แต่ที่สำคัญ คือ การยอมรับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และรีบวิเคราะห์ปัญหาที่ทำให้เกิดข้อผิดพลาดนั้น จากนั้นรีบแก้ไขข้อผิดพลาด เพื่อลดทอนหรือหยุดยั้งความเสียหายอันเกิดขึ้นไปแล้ว เช่น กรณีผู้นำเยอรมันยอมรับข้อผิดพลาดเรื่องการเลือกวัคซีน และแก้ไขด้วยการเร่งจัดซื้อวัคซีนใหม่ ที่ให้ประสิทธิภาพต่อการสร้างภูมิคุ้มกัน และมีผลข้างเคียงต่ำ เป็นต้น

ความกล้าหาญที่จะยอมรับข้อผิดพลาดนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อผู้บริหารมี “ความจริงใจ” ต่อการบริหารจัดการปัญหา โดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ และความจริงใจนี้เอง ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญอันจะทำให้ผู้บริหารได้รับความเชื่อมั่น และความร่วมมือจากประชาชนกลับมา

เมื่อทบทวน 5 ประเด็นนี้ ทำให้ผมคิดถึงคำกล่าวหนึ่งของปรมาจารย์ “ขงจื้อ” ที่ว่า “คนดีจริงไม่ใช่คนที่ได้รับความชื่นชอบจากทั้งคนดี และคนไม่ดี แต่คนดีจริง คือ คนที่คนดีชื่นชอบ ส่วนคนไม่ดีต่อต้านต่างหาก”

โอกาสนี้ ผมขอเชิญชวนคนดีจริง มาช่วยกันทำให้ “ความปลอดภัยของประชาชนสำคัญที่สุด” ทั้งในสถานการณ์วิกฤตไวรัสโควิด 19 และการอยู่ร่วมกันต่อไปในสังคมของเราครับ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"นายกฯ"โพสต์เฟซบุ๊กบอกสถานการณ์"โควิด -19"อยู่ในช่วง" หัวเลี้ยวหัวต่อ" รอช้าไม่ได้

บอร์ด กสศ.ห่วงโควิดทำ"ครอบครัวไทย"จนเฉียบพลัน เด็กกว่าครึ่งล้านหลุดรร.

ชาวเน็ตวิจารณ์หนัก "นักเรียนติดโควิด-19" ครูถูกกักตัว ไม่มีใครดูแล

ด่วน "หมอขอลาออก" จากทีมควบคุมโรค หลังติดเชื้อคืนเดียว 257 ราย

ญาติเศร้า ต้องใช้ "วีดีโอคอล" ช่วยให้ยายได้ส่งศพตาวัย 64 ปีเสียชีวิตโควิด-19

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ