ข่าว

"หมอมิ้ง" ออกโรง "รบ."ต้อง"ไม่ล็อกดาวน์"ตัวเองจากความรับผิดชอบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"หมอมิ้ง"นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ออกโรง "รบ."ต้อง"ไม่ล็อกดาวน์"ตัวเองจากความรับผิดชอบ แนะ รบ. 5 การบริหารจัดการ

 

"หมอมิ้ง"นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ รัฐ’ล็อกดาวน์’บทบาทตัวเองหรือ

 

โดยมีใจความว่า..ข่าวความสับสนในมาตรการการจัดการแก้วิกฤตของรัฐ ความไร้ประประสิทธิภาพในบริการของรัฐ ความผิดหวัง สิ้นหวังของประชาชนที่ต้องรอคอยบริการจากรัฐเกิดเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

 

เคียงคู่กับข่าวบทบาทของภาคเอกชนและภาคประชาชนที่ระดมความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากวิกฤตโรคโควิดอย่างไม่ขาดสาย ไม่ว่าเป็นการจัดหาวัคซีน การสร้างและบริการสถานที่พักพิงรอคอยการสนับสนุนโรงพยาบาลสนาม

 

ที่สำคัญคือกลุ่มอาสาสมัครต่าง ๆ ปลายทางสุดท้ายถึงบ้าน บรรเทาทุกข์ถึงตัวผู้ติดเชื้อทั้งหลายไม่ว่าเครือข่ายมูลนิธิกระจกเงา กลุ่มเส้นด้าย มูลนิธิต่าง ๆ ตลอดจนเครือข่ายนักการเมืองระดับชาติ ระดับท้องถิ่นใกล้ชิดประชาชน ต่างต้องที่เสียสละช่วยเหลือดับทุกข์ คลายกังวลของผู้เป็นทุกข์ระดับหนึ่ง 

 

ในที่นี้ยังต้องขอยกย่องบุคลากรการแพทย์สาธารณสุขด่านหน้าที่เรายกย่องเป็น ‘นักรบเสื้อขาว’ ที่ต้องเสียสละทำงานหนักหน่วง บางท่านเหนื่อยจนเป็นลมหมดสติ หน้างาน บางท่านติดเชื้อ จนบางท่านเสียสละชีวิต ที่ต้องขอคารวะในที่นี้

 

แต่คำถามจึงพุ่งไปที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำรัฐบาล ที่แต่งตั้งตนเองเป็นผู้อำนวยการ’ศบค’ , ผู้อำนวยการ’ศบศ’, ผู้อำนวยการ ‘ศบค.กทม.’, ฯลฯ รวมอำนาจไว้เพื่อการสั่งการที่ฉับไว ทันการณ์แต่สถานการณ์กลับเป็นตรงข้าม  เกิดคำถามสงสัยมากมาย

 

1. มาตรการและการสั่งการไม่เป็นเอกภาพ กลับไปมา ไม่ทันการณ์ จนมีคำกล่าวว่า‘ รัฐบาลขับเคลื่อนด้วยการด่า’ 

 

2. ‘สั่งการตามหลังสถานการณ์’ คือ มีปัญหาแล้วแก้ตาม ขาดการคาดการณ์ที่ถูกต้อง เตรียมความพร้อมด้านทรัพยากร ไม่ว่าเป็นมาตรการบริหารกำลังคน จัดหาเวชภัณฑ์รองรับที่เพียงพอและการสั่งการทันการณ์ การแก้ปัญหาทุกวันนี้จึงเป็นการแก้ที่ปลายเหตุที่ผู้รับเคราะห์คือประชาชน 

 

3. ‘ไร้ประสิทธิภาพในการบริหาร’ กล่าวคือ รัฐมีงบประมาณมีข้าราชการเป็นกำลังคนมากมาย เช่นมีกองทัพ มีกำลังคน เตรียมในยามสงครามวันนี้ ประเทศมีสงครามกับโควิด กองทัพจะปรับบทบาทนำทรัพยากรและกำลังพลมาแก้ไขอย่างไร  กระทรวงพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ (พ.ม.)จะมีบทบาทอย่างไร ต้องรอให้อาสาสมัครบริการประชาชนและขอเรี่ยไรบริจาคเงินกันเองมาทำงานกระนั้นหรือ

 

กระทรวงเศรษฐกิจดิจิตอล จะคอยจับผิดคนเดือดร้อนที่ออกมาเรียกร้องรัฐบาลเท่านั้นหรือเร่งขยายบทบาทสร้างพัฒนาระบบข้อมูลประกอบการตัดสินใจการปฏิบัติงาน ของ’นักรบเสื้อขาว’ แนวหน้า หรือ สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนอย่างไร 

 

4.การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องเร่งรัด ตัดขั้นตอนอย่างไรให้บรรลุภารกิจ กำจัดและจัดการโรคอย่างไร ต้อง’บริหารงานให้บรรลุความมุ่งหมาย ไม่ใช่บริหารกฎเกณฑ์’ แบบภาวะปกติ

 

5. มักใช้มาตรการบังคับประชาชน โดยขาดมาตรการรองรับเพื่อแก้ปัญหา เช่น สั่ง ‘ล๊อกดาวน์ แคมป์คนงาน’ ก็ต้องเพิ่มเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อเพื่อแยกตัวออกจำกัดการแพร่เชื้อและต้องดูแลเยียวยาผู้ประกอบการและคนงานทันที แต่ที่ผ่านมาไม่มีมาตรการรองรับแถมยังเปิดโอกาสให้คนงานกลับบ้านในต่างจังหวัด กลายเป็นมาตรการแพร่กระจายโรคออกไป เป็นต้น

 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางประการทำให้ปัญหาบานปลาย  ณ วันนี้ การระบาดของโรคออกไปกว้างขวางรวดเร็ว มาตรการการจัดการยังไม่ค่อยชัดเจนอย่างเป็นระบบ อย่างเป็นมาตรการกระท่อนกระแท่น ฟังไม่ชัดเจน เช่น 

 

1. การตรวจหาผู้ติดเชื้อและแยกออกเนื่องจากมีจำนวนมาก การปลดเปลื้องให้มีการตรวจด้วยตัวเอง (self ripid antigen test)รัฐควรแจ้งให้ชัดว่า ใช้อย่างไร ชนิดไหน ที่ถูกต้องอาจต้องสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้อุปกรณ์ตรวจราคาต่ำสุด ประชาชนเข้าถึงง่ายเพราะการตรวจเป็นประโยชน์ต่อผู้ติดเชื้อและสังคม

 

2. เมื่อพบติดเชื้อแล้ว รัฐกำหนดมาตรการให้ชัดว่า ถ้ากักตัวอยู่บ้าน( Home isolation) หรือแยกกักตัวในชุมชน(community isolation)ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร พบว่าในชุมชนบางชุมชนจัดการจัดบริหารที่กักตัวในชุมชนเองใต้ทางด่วนดูดีมากกลับมีเจ้าหน้าที่รัฐมาบอกว่าผิดกฎหมาย

 

 และถ้ากรณีผู้ติดเชื้อมีอาการต้องปฏิบัติตัวอย่างไร รัฐสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นที่ไหนอย่างไร สื่อสารอย่างทั่วถึงจัดระบบการดูแลให้อุ่นใจในกลุ่มนี้ ถ้ามียาฟ้าทะลายโจร หรือยา Flavipiravir แก่รายที่จำเป็น ระบบการเข้าถึงหมอพยาบาล อย่างที่ทางสปสช.เสนอไว้และปฏิบัติได้จริง เผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปรู้ ก็จะเริ่มผ่อนคลายกังวลได้บ้าง  

 

3. การเตรียมจัดหายา(ทั้งฟ้าทะลายโจร และยาต้านไวรัส )วัคซีน ที่มีประสิทธิภาพ หลากหลายและเพียงพอและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น ตลอดจนกลไกที่ให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างจริงจัง เป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

 

4. ระดมกำลังคนและทรัพยากรลงมาร่วมแก้ปัญหาเต็มที่ แล้วจึงสนับสนุนความร่วมมือจากอาสาสมัครและภาคเอกชนอื่น ๆ จัดระบบให้เป็นเอกภาพซึ่งระบบข้อมูลข่าวสารเป็นเครื่องมือช่วยลดความสับสนในการปฏิบัติงาน 

 

5. การบริหารของรัฐ ‘อย่าหยุดเพียงได้สั่ง แต่ให้ติดตามผลถึงการปฏิบัติถึงประชาชน’

 

6. ‘สื่อสารกับประชาชนด้วยความจริง’การสื่อสารถึงประชาชนด้วยข้อมูลที่ไม่เป็นจริงหรือจงใจให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน  ดังปรากฏอยู่เช่นเรื่องการจัดหาวัคซีน ย่อมทำลายความเชื่อมั่นให้รัฐบาลเอง ทำให้การขอความร่วมมือจากประชาชนจะไม่เป็นผล

 

หวังว่าความเห็นนี้ จะเป็นประโยชน์ กับรัฐบาล โดยเฉพาะผู้นำ ที่จะ

1. ไม่ ’ล็อกดาวน์’ ตนเองจากความรับผิดชอบ ปล่อยให้หน่วยงานแต่ละส่วนทำงานไปเอง โดยขาดการนำที่ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ 

 

2. ไม่’ล็อกดาวน์’ ตนเองจากความรับผิดชอบการเจ็บป่วยเดือดร้อนเสียหายของประชาชน  

 

3. ไม่’ล็อกดาวน์’ ตนเองจากการรับฟังความคิดเห็น และเลือกตัดสินใจบนหลักวิชาการที่ถูกต้องทันการณ์
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ