ข่าว

รมว.คลัง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ แจงสภายิบ "พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง แจงสภาผู้แทนราษฎรยิบ " พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน" รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินรับมือโควิด-19 ระลอกใหม่ ยันตระหนักถึงวินัยการเงินการคลังของประเทศ ความคุ้มค่า ความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงินกู้

 วันที่ 9 มิถุนายน 2564 ที่รัฐสภา  มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท หรือ พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท

โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  รมว.คลัง ชี้แจงหลักการและเหตุผลความจำเป็นของการต้องออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินจำนวน 5แสนล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการแก้ไขปัญหาโควิด-19 สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ จัดหาวัคซีน และ อื่นๆ จำนวน 3หมื่นล้านบาท  เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ทุกภาคส่วน จำนวน 3แสนล้านบาท  
 
 

ตลอดจนฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์จากแพร่ระบาดคลี่คลาย จำนวน 1.7แสนล้านบาท เนื่องจากมีการระบาดระลอกใหม่ ยังมีแนวโน้มที่จะกลายพันธุ์และสร้างความรุนแรงต่อเนื่อง และส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจต้องชะลอตัวลงส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศไทย เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง
 ที่ผ่านมารัฐบาลได้แก้ไขปัญหา อย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากการระบาดละลอกใหม่งบประมาณที่มีอยู่จึงไม่เพียงพอ สำหรับการรับมือ เงินทุนสำรองจ่ายก็ไม่เพียงพอและไม่สามารถโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ได้

ดังนั้นเพื่อเรียกความเชื่อมั่นและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลจึงมีความจำเป็นเร่งด่วน ที่จะต้องตรา พ.ร.ก.เงินกู้ซึ่งถือเป็นทางเลือกสุดท้าย ในการบริหารจัดการกับสถานการณ์โรคระบาด โดยยืนยันว่ารัฐบาลได้กำหนด แนวทางการใช้เงินกู้ ไว้อย่างรัดกุมเพื่อให้เป็นไปตามกรอบ และพิจารณาภายใต้วินัยการเงินการคลัง

 รมว.คลัง ยังชี้แจง ถึง พ.ร.ก.เงินกู้  ฉบับนี้มีสาระสำคัญคือ การให้อำนาจกระทรวงการคลังมีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศในวงเงินไม่เกิน 5แสนล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ ภายในวันที่ 30 ก.ย.2565 เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายใน 3แผนงาน

คือ 1.แผนงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการระบาดเชื้อโควิด-19 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน วงเงิน3หมื่นล้านบาท

2.แผนงานที่มีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ วงเงิน 3แสนล้านบาท

3.แผนงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 วงเงิน 1.7แสนล้านบาท

 นายอาคม ชี้แจงต่อไปว่า การตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้ รัฐบาลตระหนักถึงวินัยการเงินการคลังของประเทศ ความคุ้มค่า ความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงินกู้ มีการกำหนดกรอบการใช้เงินที่สอดคล้องกับกฎหมายวินัยการเงินการคลังอย่างรอบคอบรัดกุม รัฐบาลไทยและรัฐบาลทั่วโลกได้กู้เงินเพื่อแก้ปัญหาเยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้สิ้นปี2564 ระดับหนี้ภาครัฐบาลของโลกคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 92 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ2,760 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ตัวเลขหนี้ของไทย สิ้นเดือนเม.ย.2564 อยู่ที่ร้อยละ50.69 ต่อจีดีพี ยังต่ำกว่ากรอบเพดานหนี้สากล โดยระดับหนี้สาธารณะที่เหมาะสมของแต่ละประเทศ ไม่มีระดับตายตัว ขึ้นอยู่กับบริบทและปัจจัยที่แตกต่างกัน ดังนั้นการกู้เงินเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลมีเจตนาเพื่อให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติไปให้ได้ การก่อหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น กระทรวงการคลังจะทำด้วยความรอบคอบ อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ