ข่าว

"เพื่อไทย" จัด 35 ขุนพล ชำแหละ พ.ร.ก.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เพื่อไทย" จัด 35 ขุนพล ชำแหละ พ.ร.ก.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท เข้าสภา พรุ่งนี้

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ กล่าวถึงการพิจารณาพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ไม่เกิน 500,000 ล้านบาทว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทย มีความเห็นตรงกันกับกรรมการบริการพรรค ที่พรรคเพื่อไทย จะอธิบายชี้ให้เห็นถึงความไม่จำเป็นในการกู้เงิน เนื่องจากปีที่แล้วรัฐบาลมีการออกเงินกู้ 1,000,000 ล้านบาทมาแล้ว แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ทั้งปัญหาวัคซีน หรือการเยียวยาประชาชน ทั้งที่สถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศของปีที่แล้วน้อยกว่าปัจจุบัน 

 


 

ขณะที่ จำนวนผู้อภิปรายของฝ่ายค้านนั้น นายจิรายุ เปิดเผยว่า เบื้องต้น พรรคเพื่อไทย ได้จัด ส.ส.สำหรับการอภิปรายไว้ 35 คน ซึ่งยังไม่รวมพรรคฝ่ายค้านอื่น ๆ โดยจะให้สิทธิ ส.ส.ที่จะอภิปราย ที่ยังไม่ได้อภิปรายในการพิจารณาร่างงบประมาณที่ผ่านมาในการอภิปรายพระราชกำหนดกู้เงินนี้ก่อน 

 ก่อนหน้านี้ ครม. มีมติ เห็นชอบ พ.ร.ก. กู้เงิน ฉบับใหม่ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอจำนวน 7 แสนล้านบาท เพื่อนำมาสู้กับวิกฤตโควิด หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เคยออก พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในช่วงเกิดโควิด ระบาดครั้งแรกมาแล้วและได้มีการใช้เงินไปเกือบเต็มวงเงินกู้แล้ว 

ร่าง พ.ร.ก. กู้เงิน 7 แสนล้าน มีเพียง 4 หน้า จึงถูกมองว่า ไม่มีแผนงานในการใช้เงินหรือรายละเอียดโครงการที่ชัดเจน จะเป็นการตี“เช็คเปล่า” ให้รัฐบาลมากเกินไปหรือไม่และมีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องออกเป็นพระราชกำหนด ( พ.ร.ก.) เพราะสภาฯก็จะเปิดประชุมแล้ว ออกเป็นพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)เข้าสภาฯตามปกติ หากมีแผนงานในการใช้เงิน รายละเอียดโครงการชัดเจน  สภาฯพิจารณาวันเดียว 3 วาระรวด ก็ทำได้ ไม่ได้ล่าช้า  แต่สิ่งที่ได้คือผ่านการตรวจสอบจากสภาก่อน

 เพราะว่า พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ก่อนหน้านี้ ก็ยังถูกตั้งคำถามว่า ได้ใช้เงินไปตรงกับที่กู้มาเกี่ยวกับ โควิด มากน้อยแค่ไหน 

 อย่าง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ” ตั้งข้อสังเกตว่า มีหลายโครงการที่อ่านแล้วไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกับโควิด ได้อย่างไร เช่น โครงการเฝ้าระวังสร้างแนวกันไฟสร้างรายได้ชุมชน 246 ล้านบาท, โครงการพัฒนาศักยภาพแหล่งเรียนรู้ด้านสัตว์ป่า 741 ล้านบาท เป็นต้น 

ส่วนเหตุผลของกระทรวงการคลังผู้ชงเรื่องต่อ ครม. อ้างว่าเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศยังคงมีความต้องการใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รวมทั้งมีข้อจำกัดของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพื่อการเยียวยา ฟื้นฟู และปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

ประกอบกับเมื่อพิจารณาถึงแหล่งเงินอื่นๆที่สามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19 แล้ว พบว่า มีข้อจำกัดทั้งในส่วนของวงเงินกู้เดิมที่เริ่มมีการเบิกจ่ายจำนวนมากในทุกแผนงาน ทั้งในส่วนของสาธารณสุขที่ต้องมีการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ และวัคซีนเพิ่มเติม

ขณะที่ในงบกลางฯที่มีการตั้งไว้ในปี 2564 วงเงิน 9.9 หมื่นล้านบาทยังมีความจำเป็นต้องสำรองไว้ใช้กรณีที่อาจเกิดผลกระทบหรือภัยพิบัติอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นเช่น อุทกภัย ภัยแล้ง และภัยพิบัติอื่นๆ

ส่วนการโอนงบประมาณในปีงบประมาณ 2564 นั้นหน่วยงานส่วนใหญ่ได้มีการผูกพันงบประมาณไปจำนวนมากแล้วการโอนงบประมาณกลับมาใช้เรื่องโควิดจึงทำไม่ได้มากนัก ขณะที่ในกรอบงบประมาณ 2565 ก็จะอนุมัติบังคับใช้ได้ในเดือน ต.ค.ซึ่งอาจจะไม่ทันต่อสถานการณ์

นั่นเป็นรายงานที่กระทรวงการคลัง เสนอต่อ ครม.

ที่จริงแล้วเรื่องกู้เงินมาใช้กับวิกฤต“โควิด”ไม่ค่อยมีใครค้านกัน เพราะทั่วโลกก็ใช้วิธีกู้เงินมาสู้กับ“โควิด”

แต่ที่เขาห่วงกัน คือ การใช้เงินกู้ที่ไม่ตรงวัตถุประสงค์ ไม่โปร่งใส มีการรั่วไหล แอบอ้างไปใช้กับเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับ โควิด  เพราะว่าเงินกู้เหล่านี้สุดท้ายประชาชนต้องเป็นคนจ่ายคืนทุกบาท  จึงต้องใช้ให้คุ้มค่า และเกิดประโยชน์กับประชาชนจริงๆ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ