ข่าว

"ไทยสร้างไทย" เปิด 4 ข้อกังวลงบปี 65 จี้ ลดงบ"กองทัพ" ที่ไม่จำเป็นมาใช้พัฒนาประเทศ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ไทยสร้างไทย" เปิด 4 ข้อกังวลต่อร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่าย ปี 65 พร้อม จี้ ลดงบ"กองทัพ" ที่ไม่จำเป็นมาใช้พัฒนาประเทศ

26 พ.ค.64  เพจเฟซบุ๊ก "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ Sudarat Keyuraphan" โพสต์ข้อความ ถึงความกังวล ของ พรรคไทยสร้างไทย ต่อ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2565 โดยระบุว่า ..

บันทึกแสดงความกังวล
(Letter of concern)
ของพรรคไทยสร้างไทย ต่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565
โดยพรรคไทยสร้างไทย เห็นว่า การจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่นอกจากจะต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว 
รัฐบาลยังต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม “ความจำเป็นของสถานการณ์และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากการใช้งบประมาณอันเป็นเงินของแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชนอีกด้วย” 
สำหรับสถานการณ์อันเป็นวิกฤตของประเทศไทยโดยตรง ในขณะนี้ คือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่เสียหายมาแล้วตั้งแต่การรัฐประหาร ต้องทวีความเสียหายมากขึ้น รัฐบาลต้องกู้เงินมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณสูงขึ้นทุกปี เมื่อรวมกับเงินกู้ที่ใช้แก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวน 1 ล้านล้านบาท และกำลังขอกู้เพิ่มอีก7แสนล้าน ทำให้ฐานะการคลังของรัฐบาลอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการขาดวินัยการเงินการคลัง กระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศ
พรรคไทยสร้างไทยได้พิจารณาโครงสร้างและนโยบายงบประมาณปี 2565 ประกอบกับฐานะการคลังของรัฐบาลแล้วเห็นว่า การจัดทำงบประมาณที่ขาดดุลจำนวนสูงถึง 700,000 ล้านบาท ยังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นวิกฤตของประเทศ รายจ่ายบางประเภทยังคงถูกจัดสรรให้ทั้งที่ไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วน พรรคไทยสร้างไทยจึงขอแสดงความกังวลต่อร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ดังนี้

(1) ภาครายได้ (งบประมาณโดยสังเขปหน้า 59) แสดงให้เห็นว่าผลจากการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2557 ทำให้เศรษฐกิจได้รับความเสียหายอย่างมหาศาล ประชาชนส่วนใหญ่ขาดกำลังซื้อทำให้การจัดเก็บภาษีอากรได้ต่ำกว่าประมาณการมาโดยตลอด โดยล่าสุดปีงบประมาณ 2563 จัดเก็บภาษีอากรได้ต่ำกว่าประมาณการถึง 398,450 ล้านบาท หรือต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ถึงร้อยละ 13.4
(2) ภาครายจ่าย (งบประมาณโดยสังเขปหน้า 61) นับจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา รัฐบาลต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในจำนวนที่สูงขึ้นทุกปี เริ่มจาก 250,000 ล้านบาท ล่าสุดปีงบประมาณ 2565 ต้องกู้เงินถึง 700,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินสูงสุดตามที่กฎหมายงบประมาณอนุญาตให้กู้ได้
(3) เมื่อพิจารณารายได้ รายจ่าย และการกู้เงินของรัฐบาลในแต่ละปีงบประมาณเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ส่งผลให้หนี้สาธารณะ ต่อจีดีพี ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 น่าจะสูงเท่าหรือสูงเกินกรอบความยั่งยืนทางการเงินการคลัง ซึ่งนอกจากจะทำให้รัฐบาลเสียวินัยการเงินการคลังแล้วยังทำให้ความน่าเชื่อถือของประเทศลดลงอีกด้วย
(4) นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายตามลักษณะงาน (งบประมาณโดยสังเขปหน้า 68) กลับพบว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณเพื่อการป้องกันประเทศซึ่งไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วน มากกว่าการให้ความสำคัญกับการปกป้องชีวิตของประชาชนซึ่งเร่งด่วนกว่าเพราะประชาชนเป็นผู้หารายได้ด้วยการเสียภาษีให้ประเทศ ดังนั้น การที่รัฐบาลจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลงบประมาณที่ต้องกู้เงินในจำนวนที่สูงขึ้นทุกปี เมื่อรวมกับการกู้เงินที่ต้องนำมาใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การขาดดุลงบประมาณอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อวินัยและฐานะการคลังของประเทศในระยะยาว รัฐบาลจึงต้องมีแนวทางหรือนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาการขาดดุลงบประมาณดังกล่าว

พรรคไทยสร้างไทยตระหนักดีว่า รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องใช้งบประมาณเพื่อการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาประเทศ แต่การจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จะต้องจัดทำขึ้นโดยคำนึงถึงวิกฤตของประเทศที่เป็นอยู่ ซึ่งพรรคไทยสร้างไทยเห็นว่าภารกิจสำคัญที่รัฐบาลต้องทำให้สำเร็จโดยเร็ว คือ 
การสร้างความเชื่อมั่น (trust) ว่ารัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดและสร้างความปลอดภัยให้กับชีวิตของประชาชนได้ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ (confidence) ที่จะออกมาประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 
ในขณะเดียวกันรัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างโอกาสและเพิ่มขีดความสามารถให้กับประชาชน รวมทั้งการขจัดอุปสรรคทั้งหลายเพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และให้อิสระ (liberate) แก่ประชาชนในการประกอบอาชีพเพื่อหารายได้อันจะนำมาซึ่งภาษีที่เป็นรายได้ของรัฐ 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องมีแนวทางหรือนโยบายสำคัญที่เน้นการลงทุนภาครัฐเพื่อสร้างฐานรายได้ใหม่หลังโควิด-19 ที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศ เช่น การท่องเที่ยว การสาธารณสุข หรืออาหารปลอดภัย เป็นต้น ที่สำคัญคือรัฐบาลจะต้องมีแนวทางลดรายจ่ายประจำที่เป็นภาระแก่งบประมาณ เข่น ลดขนาดของส่วนราชการที่มีมากเกินความจำเป็น ได้แก่ กองทัพ เป็นต้น เพื่อนำงบประมาณดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาประเทศ แต่ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กลับไม่มีการจัดสรรงบประมาณที่จำเป็นต้องกระทำและไม่มีแนวทางที่จะลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นตามที่พรรคไทยสร้างไทยได้ตั้งเป็นข้อสังเกตดังกล่าว
พรรคไทยสร้างไทยจึงขอแสดงความกังวลอย่างยิ่ง
และขอสัญญาว่าจะทำหน้าที่ตรวจสอบการจัดทำงบประมาณปี 2565 อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนต่อไป
#พรรคไทยสร้างไทย
25 พฤษภาคม 2564
 

"ไทยสร้างไทย" เปิด 4 ข้อกังวลงบปี 65 จี้ ลดงบ"กองทัพ" ที่ไม่จำเป็นมาใช้พัฒนาประเทศ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ