ข่าว

 7 ปี ครบรอบรัฐประหาร "พรรคพลัง" ชี้ ประชาธิปไตยถดถอย  ปฏิรูปล้มเหลว สืบทอดอำนาจ "ประเทศแห่งความล้าหลัง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 7 ปี ครบรอบรัฐประหาร "พรรคพลัง" ชี้ประชาธิปไตยถดถอย  ปฏิรูปล้มเหลว สืบทอดอำนาจ "ประเทศแห่งความล้าหลัง"

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 นายวิสิทธิ์ ใสกระจ่าง รองโฆษกพรรคพลัง กล่าวว่า เนื่องในโอกาสครบรอบการรัฐประหาร 7 ปี การรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถือว่าเป็นครั้งที่ 13 นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร โดยอ้างเหตุว่า เกิดสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และหลายพื้นที่ เป็นผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต บาดเจ็บและเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินทั้งนี้ เหตุการณ์มีแนวโน้มขยายตัว จนอาจเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม”เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรัก ความสามัคคี ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกพวก ทุกฝ่าย” หากย้อนวันดังกล่าว มีการประชุมร่วม 7 ฝ่าย ที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดี  พลเอกประยุทธ์ฯ สอบถามนายเกษม นิติสิริ ในฐานะหัวหน้าตัวแทนฝ่ายรัฐบาลว่ารัฐบาลยืนยันไม่ลาออกใช่หรือไม่ ชัยเกษมฯ ตอบว่า ต้องการดำเนินการต่อจนกว่าจะครบวาระตามกฎหมาย พลเอกประยุทธ์ฯ ตอบกลับว่า จะยึดอำนาจการปกครองด้วยประโยคที่ว่า "หากเป็นแบบนี้ ผมขอโทษด้วยนะที่ต้องยึดอำนาจ" และสั่งจับกุมสมาชิกคณะรัฐมนตรี ตลอดจนแกนนำ กปปส., นปช. และพรรคการเมืองที่เข้าร่วมเจรจา ทั้งหมดถูกนำไปกักขัง ที่ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ต่อมา เวลา 16:30 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศตั้ง “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการทันที จะเห็นได้ว่า การยึดอำนาจการรัฐประหารดังกล่าว เป็นวิถีวิธีการได้มาซึ่งอำนาจ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นประชาธิปไตย ฉีกรัฐธรรมนูญ ขัดต่อหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม ทำให้ประชาธิปไตยล้าหลัง ถดถอย ย้อนหลังลงคลองไป 40 ปี ประเทศด้อยพัฒนา
 

หากพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย คณะราษฏร์ เจตจำนงให้มี คือ Constitutional (รัฐธรรมนูญ)และ parliament(ระบบรัฐสภา) เพื่อให้มีการปกครองของประชาชนโดยประชาชนเพื่อประชาชน ซึ่งในพระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยาม(ชั่วคราว) พุทธศักราช 2475 มาตรา 1 “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย” พร้อมหลัก 6 ประการ คือ เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ แต่การแย่งชิงอำนาจไม่ผ่านระบบการเลือกตั้ง เป็นปัญหาของประชาธิปไตยในประเทศไทย การรัฐประหารครั้งที่ 13 ไม่ทำให้แก้ปัญหาหรือปฎิรูปโครงสร้างของประเทศ สิ่งที่จะเห็น คือ การตรากฎหมายเอาเปรียบการเมืองอีกฝ่าย แม้การออกแบบรัฐธรรมนูญนิยม ส่วนใหญ่จะใช้รูปแบบการปกครองในประเทศอังกฤษ แต่หากพิจารณาถึงโมเดลการออกแบบรัฐธรรมนูญนิยมใช้โมเดลเยอรมัน คือ สร้างองค์กรศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อตรวจสอบเสียงข้างน้อย คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนและตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายว่ากฎหมายใดขัดต่อกฎหมายแม่บท ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประเทศไทยพยายามเอาโมเดลของเยอรมันทั้งสถาบันทางการเมือง องค์กรอิสระ และการปราบโกง เข้ามาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้ว หากพิจารณาบริบทองคาพยพทั้งปวง พบว่า ลักษณะสร้างโครงสร้างรัฐซ้อนรัฐ เพื่อสร้างอำนาจให้เอาเปรียบพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะการออกแบบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีคณะกรรมการด้านต่างๆเข้าควบคุม อยู่เหนือฝ่ายบริหาร หากเทียบเคียงกับคณะปูลิตปูโร พรรคคอมมิวนิสต์ ประเทศจีน ไม่ต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกแบบในส่วนของรัฐสภา ที่มาของ ส.ส ในระบบจัดสรรปันส่วนผสม และที่มา สว. 250 คนตามบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญ 2560 ต่างแย่งชิงอำนาจ เอาเปรียบทุกฝ่าย  กติกาไม่แฟร์ ไม่เป็นธรรม เหล่านี้ จึงมีการเรียกร้องชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีวาทะที่ว่า #ให้จบที่รุ่นเรา รวมถึง ภายหลังยึดอำนาจ ออกแบบมาตรา 44 เลียนแบบมาตรา 17 ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีอำนาจเหนือ 3 ฝ่าย อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ อำนาจฝ่ายบริหาร และอำนาจฝ่ายตุลาการ คำถามว่า มีอำนาจล้นฟ้า แต่การปฏิรูปล้มเหลวทุกด้าน หากเทียบเคียง การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พลเอกสนธิ บุญยกลิน ประธาน คมช.ยังอยู่ในอำนาจระยะสั้น แล้วคืนอำนาจให้แก่ประชาชน ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 23 ธันวาคม 2550 แต่การรัฐประหารในยุค คสช.ไม่เป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะร่างพิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญฉบับ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ผู้ร่างและไม่ผ่าน โดยระบุว่า “เขาอยากอยู่ยาว”สะท้อนให้เห็นว่า ติดใจในรสชาติของอำนาจ  

จะเห็นว่า โครงสร้างการออกแบบรัฐธรรมนูญ คล้ายกับรัฐธรรมนูญ 2521 และรัฐธรรมนูญ 2534 การออกแบบสถาบันทางการเมืองที่มีปัญหาหลักคือ หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจในการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาถึง 250 คน หากเทียบสัดส่วนสากลในต่างประเทศให้ถือหลัก 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น แต่การออกแบบถึงกึ่งหนึ่ง แม้เฉพาะในบทเฉพาะกาลเพียง 5 ปี ก็ตาม ดังนั้น อำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้มีอำนาจโหวตวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 8 ปี ล้วนมาจากแบบรัฐธรรมนูญ 2521 ในส่วนนายกรัฐมนตรีคนนอก ก็เป็นปัญหาในรัฐธรรมนูญ 2534 ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีข้อห้ามเหมือนกับรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นการวางโมเดลคล้ายกัน รวมถึงการตั้งพรรคการเมืองสามัคคีธรรมกับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อสืบทอดอำนาจ ไม่ต่างกัน หากพิจารณาถึงนโยบายประชารัฐ ลอกเลียนนโยบายประชานิยม เน้นการแจกเงินซื้อเสียงล่วงหน้าผ่านนโยบายรัฐบาล หนี้สาธารณะต่อหัวสูงขึ้นล่าสุด มติ ครม.ที่ผ่านมาจะออกพระราชกำหนดกู้ยืมเงินอีก 700,000 ล้านบาท ไม่สอบถามประชาชนก่อน เหมือนกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงตั้งฉายาว่า “นักรบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งการกู้” ล้วนเป็นการประคับประคองให้รัฐนาวาลำนี้ อยู่รอดเพราะขาดความเป็นมืออาชีพในการบริหารประเทศ   จะเห็นว่า แม้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือพลเอกประวิตร วงษ์สุรรวรรณ จะอ้างว่า เพิ่งเข้ามาบริหาร 2 ปี กว่า ไม่รวมถึง 5 ปีในยุค คสช. ส่อแสดงให้เห็นถึงประชาธิปไตยในยุค คสช.ล้าหลัง ประเทศแห่งความล้าหลัง ถดถอย ไม่เป็นประชาธิปไตย ออกอาการเมาหมัดไปไม่เป็น ซึ่งในหลักการประชาธิปไตย จะยกบางส่วนของคำประกาศสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 เวลา 13.45 น. ซึ่งเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับพระราชหัตถเลขของพระองค์ไว้ในฐานะผู้แทนรัฐบาล ที่ว่า”....ข้าพเจ้าเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร...””....บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิ์ออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จและเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าในฐานที่เป็นพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวงอันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมมาก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์…” เพราะฉะนั้น เมื่อการบริหารประเทศในยุคพลเอกประยุทธ์ฯ อยู่ที่คณะบุคคล ไม่ใช่โดยประชาชน เพื่อประชาชน ดังนั้น 7 ปีแห่งความขมขื่น ถึงเวลายกเครื่องใหม่ ตั้ง ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สร้างกติกาที่เป็นธรรม ตามหลักนิติรัฐและนิติธรรม  ต้องยุบสภาคืนอำนาจให้แก่ประชาชน 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ