ข่าว

"นายกฯ" รวบอำนาจ กฎหมาย 31 ฉบับ แก้ปัญหาโควิด-19

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มติ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโอนอำนาจหน้าที่ให้นายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว ในกฎหมาย 31 ฉบับ เพื่อเป็นการแก้สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

27 เม.ย.2564  นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ร่างประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3)  เพื่อให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายหรือที่มีอยู่ตามกฎหมายโอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟู หรือช่วยเหลือประชาชน จำนวน 31 ฉบับ ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะ ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 (ศปก.ศบค.) เสนอ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19  มีข้อสั่งการให้ ศปก.ศบค. ประเมินผลของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด – 19 ภายใต้กฎหมายที่โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีในระยะเวลาที่ผ่านมา เพื่อให้มีการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่เปลี่ยนแปลงไป และดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยเร็วที่สุด

สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะ ศปก.ศบค. พิจารณาแล้ว เห็นว่าเพื่อให้การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด – 19 มีการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่เปลี่ยนแปลงไป และดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงเห็นสมควรให้ยกเลิกประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

สำนักงานฯ เห็นควรเสนอร่างประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) เพื่อให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายหรือที่มีอยู่ตามกฎหมายโอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชน จำนวน 31 ฉบับ  ดังต่อไปนี้

                    1. พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558
                    2. พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510
                    3. พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561
                    4. พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456
                    5. พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497
                    6. พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560
                    7. พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551
                    8. พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562
                    9. พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535
                    10. พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522
                    11. พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542
                    12. พระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495
                    13. พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530
                    14. พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551
                    15. พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522
                    16. พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551
                    17. พระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. 2558
                    18. พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550
                    19. พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
                    20. พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522
                    21. พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
                    22. พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
                    23. พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
                    24. พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544
                    25. พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542
                    26. พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509
                    27. พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541
                    28. พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559
                    29. พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
                    30. พระราชบัญญัติองค์การเภสัชกรรม พ.ศ. 2509
                    31. พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522
                  
                    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ