ข่าว

"วิษณุ"ชี้ 3 รมต.ขาดตำแหน่งตามยาแรง รธน.ปี 60

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"วิษณุ" ชี้ 3 รัฐมนตรี ขาดจากตำแหน่งตามยาแรงรัฐธรรมนูญปี 60 ระบุ ส.ส. มีความคุ้มครองในสมัยประชุมสภา แม้ถูกจำคุกโดยสามารถยื่นเรื่องตามกระบวนการได้ ส่วนจะพ้น ส.ส.หรือไม่ขอดูเป็นรายกรณีไป บอก "ทยา" ชิงผู้ว่ากทม.ได้ หากศาลศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษา

25 ก.พ.64 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีที่ศาลอาญาพิพากษาคดีกบฏ กปปส. โดยมีรายชื่อของ 3 รัฐมนตรี ประกอบด้วย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายถาวร เสนเนียม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ต้องคำพิพากษาจำคุกและตัดสิทธิ์ทางการเมือง ว่า รัฐธรรมนูญได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นเรื่องของการพ้นจากการเป็นรัฐมนตรีเฉพาะตัว ตามมาตรา 170 (4) ที่ระบุว่า ความเป็นรัฐมนตรีย่อมสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว เมื่อมีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 98 ผนวกกับมาตรา 160 (7) ที่ระบุถึงเรื่องการต้องคำพิพากษาให้จำคุก ไม่ว่าจะเป็นการจำคุกจริงหรือรอลงอาญา จึงถือได้ว่าศาลพิพากษาให้จำคุกไม่ว่าจะถึงที่สุดหรือไม่ แม้ว่าจะสู้คดีกันในศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาอีกหลายปี แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงทันที

ส่วนกรณีที่ผู้ที่ต้องคำพิพากษายังเป็น ส.ส.อยู่ ให้ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งตามมาตรา 101 ซึ่งโดยปกติแล้วหากศาลยังไม่ตัดสินให้ถึงที่สุด ก็จะไม่พ้นตำแหน่งส.ส. ตามมาตรา 101 (13) แต่จะมีเหตุอื่นเข้ามาว่าหากศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมาตรา 96(2) ว่าถ้าหากเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดหรือไม่ก็ตาม ให้พ้นจากการเป็นส.ส.ด้วย ซึ่งต้องไปดูว่าใครอยู่ในข่ายดังกล่าว ก็จะพ้นจากการเป็นส.สไป

ส่วนกรณีที่ศาลไม่ได้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นายวิษณุระบุว่า โดยหลักจำคุกก็ยังไม่ถึงที่สุด สิทธิเลือกตั้งก็ไม่ได้ถูกเพิกถอน ฉะนั้นจึงยังไม่พ้นจากการเป็นส.ส. แต่ก็จะมีเหตุอื่นแทรกเข้ามา หากถูกจำคุกตามคำพิพากษาโดยหมายของศาลให้จำคุก ก็จะพ้นจากการเป็นส.ส.เหตุหนึ่ง ซึ่งตนก็ไม่ทราบว่าใครจะเข้าข่ายมีบ้าง

ทั้งนี้ในกรณีที่ส.ส. เป็นส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ก็ต้องเลื่อนรายชื่ออื่นขึ้นมาตามลำดับ ซึ่งเลื่อนช้าหรือเร็ว นายวิษณุ ยอมรับว่ามีผลกับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่กำลังจะปิดสมัยประชุม หากเลื่อนได้เร็วการปฏิญาณตนในที่ประชุมก็ทำหน้าที่ได้เร็ว อย่างน้อยเปิดวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในเดือนมีนาคมก็สามารถโหวตได้ หากยังไม่สามารถเลื่อนขึ้นมาได้ยังไม่ถือว่าเป็นส.ส. แต่หากเป็นส.ส.เขตก็ต้องไปเลือกตั้งใหม่ ซึ่งกกต. มีข้อสงสัยตามคดีนายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส นครศรีธรรมราช เขต 3 ก็ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งถือได้ว่าคดีของนายเทพไท เป็นบรรทัดฐานไว้แล้วสำหรับส.ส.เขต

ส่วนการปรับคณะรัฐมนตรีเมื่อตำแหน่งว่างลง นายวิษณุ ระบุว่าไม่ใช่เรื่องยาก และเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติไว้แล้ว เมื่อปี 2562 ขณะตั้งรัฐบาลใหม่ เว้นแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นอย่างอื่น โดยให้คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการขึ้นรักษาการเป็นรัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการก่อน ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการแทน แต่ในกรณีดังกล่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสิ้นสถานภาพเช่นกัน โดยให้นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้รักษาการแทน ทั้งนี้นายวิษณุ ยืนยัน ว่าไม่มีกรอบระยะเวลาในการตั้งตำแหน่งรัฐมนตรี

ทั้งนี้นายวิษณุ ยังระบุว่า ส.ส.มีความคุ้มกัน ในระหว่างสมัยประชุมสภาจะนำตัวไปดำเนินคดีอะไรไม่ได้ หากปิดสมัยประชุมแล้วก็สามารถทำได้ ซึ่งความคุ้มกันมีกระบวนการ ไม่ได้มาโดยอัตโนมัติ โดยต้องขออนุญาตจากทางสภาก่อน อย่างกรณีนี้ก็สามารถไปทำเรื่องขอจากทางสภาได้ และจะสิ้นสภาพหรือไม่นั้น นายวิษณุระบุว่า คงไม่ เพราะยังอยู่ระหว่างการอุทรณ์อยู่ และไม่ได้ถูกจำคุกโดยหมายของศาล มาตรา 98 (6) ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าจำคุกโดยหมายของศาล ซึ่งจากเมื่อวานนี้ผู้ที่เป็นส.ส. ถูกเข้าไปในเรือนจำ แต่จะสิ้นสภาพการเป็นส.ส.หรือไม่ ตนไม่แน่ใจว่าเมื่อวานเป็น การจำคุกโดยหมายของศาล หรืออาจเป็นการควบคุมตัวธรรมดา และหากมีการอ้างความคุ้มกันขึ้นมาก็ต้องมีการปล่อยตัว ซึ่งกระบวนการจะแตกต่างไปจากบุคคลทั่วไปในจำเลยรายอื่น แต่หากเข้าไปในเรือนจำโดยหมายของศาล ความคุ้มกันของสภาก็จะหมดไป         

โดยนายวิษณุ ระบุว่า ซึ่งน่าจะยังไม่พ้นสภาพการเป็นส.ส. โดยย้ำว่าเรื่องนี้ต้องย้อนดูว่าใครถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ นายวิษณุระบุว่า ผู้ที่ต้องคำพิพากษาตัดสิทธิทางการเมือง อย่างนางทยา ทีปสุวรรณ หากศาลอุทธรณ์แก้การตัดสิทธิทางการเมือง ก็จะสามารถกลับมาลงสนามเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้

ส่วนกรณีที่ ส.ส.อุทธรณ์แล้ว ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษา แม้สิทธิการเป็นรัฐมนตรีนั้นถือว่าถูกตัดไปแล้ว แต่สิทธิทางการเมืองนั้นกลับมา นี่คือความรุนแรงและยาแรงของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ตั้งใจใช้ตั้งแต่ต้น สมัยหน้าก็สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้

โดยนายวิษณุ ระบุว่ายังไม่ได้คุยกับนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้ เพราะคุยไม่ถูก ไม่ได้ฟังคำพิพากษา เป็นเพียงการดูจากข่าวโทรทัศน์เท่านั้น
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ