ข่าว

รัฐสภา ผ่านวาระแรกร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจ-วางหลักเกณฑ์แต่งตั้งชัดเจนกันวิ่งเต้น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รัฐสภาผ่านวาระแรกร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจ โอน ตำรวจรถไฟ -ตำรวจป่าไม้-ตำรวจจราจร ไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง- กำหนดหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้ง-เลื่อนตำแหน่ง อย่างชัดเจน เพื่อขจัดการวิ่งเต้นใช้เส้นสาย -ตั้ง กมธ.49 คนพิจารณา โดยไร้เงา ส.ส.ภูมิใจไทยเข้าร่วม

เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2564 ที่ประชุมรัฐสภาได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อจากการประชุมครั้งก่อน ซึ่งในวันนี้เหลือสมาชิกอภิปรายทั้งสิ้น 15 คน

โดยนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า ข้าราชการตำรวจถือว่าเป็นอาชีพที่สำคัญและอยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดอาชีพหนึ่ง จะเห็นว่าในหน้าสื่อแต่ละวันไม่มีวันไหนที่ไม่มีเรื่องของตำรวจ เพราะตำรวจเป็นอาชีพที่มีผลกระทบและอยู่ในชีวิตประจำวันของประชาชน และมองว่าปัจจุบันที่มีการกล่าวหาว่าปัจจุบันฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงตำรวจนั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากปัจจุบันข้าราชการตำรวจอยู่ภายใต้นายกรัฐมนตรีที่เป็นฝ่ายการเมืองเพียงคนเดียว แม้กระทั่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆก็ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงตำรวจได้ แต่ปัญหาปัจจุบันอยู่ที่การบริหารตำรวจจากการรวมศูนย์อยู่ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพียงคนเดียว ไม่มีการกระจายอำนาจไปยังผู้บัญชาการภาคต่างๆอย่างแท้จริง ซึ่งการรวมศูนย์นี้เกิดจากการใช้มาตรา 44 ในสมัย คสช.เพื่อให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องของการแต่งตั้งโยกย้าย ดังนั้นวันนี้เมื่อมีการเสนอกฎหมายปฎิรูปตำรวจเข้ามา ก็อยากจะให้การปฏิรูปครั้งนี้เป็นประโยชน์กับข้าราชการตำรวจและประชาชน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สป.ยธ. ออกแถลงการณ์ชำแหละร่างพรบ.ตำรวจฯฉบับใหม่ขัดรธน.เสนอนำร่างชุด'มีชัย'ชงเข้าสภาฯเพื่อการปฏิรูป

ทั้งนี้ นายอัครเดช ยังได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติไว้ โดยเฉพาะเรื่องของการแต่งตั้งโยกย้าย ที่ในอดีตผู้บัญชาการภาคจะมีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายแต่ปัจจุบันมารวมศูนย์อยู่ที่ผู่บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงต้องการเห็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นได้เข้ามาดูแลตำรวจบริหารจักการภายในจังหวัด รวมถึงเรื่องของการทำสำนวน ที่ปัจจุบันมีข้อร้องเรียนจากประชาชนว่าสำนวนคดีที่ตำรวจทำเมื่อไปถึงชั้นอัยการไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ จึงขอเสนอว่าให้อัยการสามารถเข้ามาทำสำนวนได้ตั้งแต่ชั้นต้น ในกรณีที่มีผู้ร้องเรียนหรือคดีเป็นลักษณะพิเศษ ซึ่งจะถือว่าเป็นการคานอำนาจกับตำรวจ

ขณะที่ นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เป็นการปฏิรูปตำรวจแต่อย่างใด ดูจากมาตรา 106 ที่อนุญาตให้ผู้บังคับบัญชาใช้อาวุธหรือกำลังบังคับกับลูกน้องได้ ถ้าทำโดยสุจริตไม่ต้องรับโทษทั้งทางแพ่งและอาญา ถือเป็นการให้อำนาจตำรวจผู้ใหญ่กดขี่ตำรวจชั้นผู้น้อย เพื่อให้ควบคุมตำรวจชั้นผู้น้อยอย่างสมบูรณ์แบบ ให้เป็นตำรวจของนายโดยสมบูรณ์ นอกจากนี้ ยังมีมาตรา 107 โทษทางวินัยของตำรวจ ทั้งกักยาม กักขัง ทำงานโยธา แบกหาม หากทำผิดก็ต้องว่าไปตามผิดไม่ใช่ลงโทษเกินความพอดีแบบนี้ และสุดท้าย ถ้าต้องการให้ตำรวจเป็นของประชาชนโดยแท้ ต้องยกเลิกระเบียบให้ตำรวจตัดผมเกรียน 3 ด้าน เมื่อทรงผมนักเรียนไม่เกี่ยวกับการเรียนฉันท์ใด ทรงผมตำรวจก็ไม่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ตำรวจฉันท์นั้น เพราะกฎนี้คือตัวแทนของอำนาจที่ใช้กดทับเพื่อให้ตำรวจอยู่ในโอวาทและคำสั่งการของนาย

ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ตามที่มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ...ที่รัฐสภา เป็นฉบับของตำรวจ นั้นไม่ใช่ เพราะเป็นร่างฉบับเดียวกัน ที่ถูกเสนอโดยคณะกรรมการของ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่เสนอให้ ครม.พิจารณา จากนั้น ครม.ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ชุดที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ กรรมการกฤษฎีกา เป็นประธานทำงาน ซึ่งคณะทำงานมีบุคคลที่ร่วมทำงานกับ พล.อ.บุญสร้าง ร่วมด้วย เพื่อขัดเกลาถ้อยคำ จากนั้นได้เสนอให้ตำรวจพิจารณา และตำรวจได้เสนอความเห็นปรับปรุง ดังนั้นจึงไม่ใช่เนื้อหาหลายฉบับตามที่ถูกตั้งข้อสังเกต

“ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เป็นกฎหมายเพื่อวางระบบ แต่การวางระบบจะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคน หรือ ตำรวจ 2.1 แสนคน ทั้งนี้ตำรวจมีคนที่ดี คนที่เลว แต่การวางระบบที่กำหนดไว้ดีแล้ว มีสมาชิกรัฐสภาสอบถามว่าหากทำกฎหมายแล้วส่วยจะหมดไป ตั๋วจะหมดไป หรือตำรวจจะดี ประชาชนนอนตาหลับหรือไม่ ตนมองว่าหากทำระบบให้ดีที่สุด ต่อไปคือการเคี่ยวเข็ญคนให้เข้าสู่ระบบและอาศัยการติดตาม” นายวิษณุ กล่าว

จากนั้นที่ประชุมได้มีมติรับหลักการวาระที่ 1 ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเสนอโดยคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการพิจารณาด้วยคะแนน 565 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง จากนั้นมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาจำนวน 49 คน ซึ่งในการตั้งคณะกรรมาธิการครั้งนี้ ปรากฎว่าพรรคภูมิใจไทยไม่ได้ส่ง ส.ส.เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการ

สำหรับการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติในวันนี้มีสาระสำคัญ ประกอบด้วย

- การโอนภารกิจเฉพาะทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจโดยตรงเป็นผู้ดำเนินการ โดยเบื้องต้นจะกำหนดหน้าที่และอำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) ไว้เช่นเดิม 

แต่มีการกำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อโอนภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของ ตช. อาทิ ตำรวจรถไฟ, ตำรวจป่าไม้ หรือจราจรไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจนั้นรับผิดชอบโดยตรง

- จัดสรรเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เหมาะสมความจำนวนประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งยังกำหนดระดับของสถานีตำรวจออกเป็น 3 ระดับ คือ สถานีตำรวจที่มีผู้บังคับการ สถานีตำรวจที่มีรองผู้บังคับการ และสถานีตำรวจที่มีผู้มีตำแหน่งเทียบเท่า โดยการกำหนดจะคำนึงถึงปริมาณความจำเป็นของแต่ละพื้นที่เป็นหลัก เพื่อให้สถานีตำรวจในแต่ละท้องถิ่นมีจำนวนข้าราชการตำรวจในปริมาณที่เหมาะสม,กำหนดเกณฑ์ในการแต่งตั้ง และโยกย้าย ข้าราชการตำรวจชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อขจัดการใช้เส้นสาย

- แบ่งสายงานออกเป็น 5 กลุ่ม เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตรงกับความความเชี่ยวชาญตามสายงานอย่างแท้จริง

- กำหนดหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้ง และเลื่อนตำแหน่งอย่างชัดเจนว่าการจะขึ้นดำรงตำแหน่งใดได้นั้น จะต้องผ่านการดำรงตำแหน่งใดมาก่อน รวมถึงมีประสบการณ์มาแล้วกี่ปี และในการแต่งตั้งใดๆ จะต้องคำนึงถึงความอาวุโสในการดำรงตำแหน่งเป็นหลัก เพื่อลดความอคติ และลดการใช้ดุลพินิจส่วนตัวของผู้บังคับบัญชา

รัฐสภา ผ่านวาระแรกร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจ-วางหลักเกณฑ์แต่งตั้งชัดเจนกันวิ่งเต้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ