ข่าว

'หมออ๋อง'สับ'ณัฏฐพล'ไร้ความสามารถปล่อยนร.ยากจนชวดเงินช่วยเหลือ-แทรกแซงแต่งตั้ง รขก.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'หมออ๋อง'สับ'ณัฏฐพล'ไร้ความสามารถ ปล่อย นร.ยากจนชวดเงินช่วยเหลือ-แทรกแซงแต่งตั้ง รขก. แต่เอาเวลามารบกับ 'นักเรียนเลว'

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 นายปดิพัทธ์ สันติภาดา หรือ“หมออ๋อง ”ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ร่วมการอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยอภิปรายกล่าวหานายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

นายปดิพัทธ์ อภิปรายว่า นายณัฏฐพล มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบอนาคตของนักเรียนไทย และรับผิดชอบดูแลครูกว่า 600,000 คน ใช้งบประมาณด้านการศึกษาปีละมากกว่า 400,000 ล้านบาท แต่กลับใช้อำนาจไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง แลกกับการไร้ปัจจุบันและไร้อนาคตของนักเรียนและครูทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นที่ประจักษ์ว่า นายณัฏฐพลไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่เคารพหลักการสิทธิมนุษยชน ละเว้นและบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ ขาดวุฒิภาวะและความเป็นผู้นำที่ดี ใช้อำนาจแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำในลักษณะกดขี่ข่มเหงข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้มีบุคคลหลายรายซึ่งเป็นพวกพ้องของตนเข้าสู่ตำแหน่ง และแสวงหาประโยชน์โดยการทุจริต

***ปล่อยครูละเมิดสิทธินักเรียนชู 3 นิ้ว ทำทีออกคำสั่งเปิดพื้นที่ แท้จริงก็ปากว่าตาขยิบหนุนครูบ้าอำนาจเปิดศึกรบนักเรียน***

นายปดิพัทธ์ ระบุว่า ภาพรวมคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยตกต่ำลงเรื่อยๆโดยเฉพาะตั้งแต่มีการรัฐประหาร เพราะมีการครอบงำยัดเยียดเนื้อหาต่างๆ สถาปนาอำนาจนิยมในโรงเรียนที่จากเดิมมีมากอยู่แล้ว ให้กลายเป็นยิ่งสาหัสมากขึ้น นักเรียนต้องอยู่ในเงามืดของเผด็จการ และเป็นเผด็จการที่เข้ามาได้และอยู่ต่อได้ทุกวันนี้ ด้วยการปูทางจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจ ที่นักเรียนจากโรงเรียนขนาดใหญ่ตามหัวเมืองมากมายออกมาขับไล่และเป็นการเคลื่อนไหวที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ เป็นการตื่นตัวทางการเมืองเพื่ออนาคตของประเทศที่ดีกว่านี้ เป็นการแสดงออกที่สงบ สร้างสรรค์

ทั้งนี้ มีการอภิปรายตั้งกระทู้ถามในหลายกรรมหลายวาระ โดยรัฐมนตรีเพียงตอบไปเรื่อยว่าจะดูแลให้ แต่บทสรุปถึงตอนสิ้นปี 2563 คือ เรามีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีอย่างน้อย 5 คนถูกตั้งข้อหาละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ข้อหายุยงปลุกปั่น และอย่างน้อยหนึ่งคนถูกตั้งข้อหา 112 นอกจากนี้ มีการสำรวจว่ากลุ่มที่เคลื่อนไหวกว่า 9 ใน 10 คน ถูกครูทำร้ายจิตใจ ถูกล่วงละเมิดในรูปแบบอื่นๆอีกสารพัด มีตำรวจตามหรือไปหาที่บ้าน มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวต่อเจ้าหน้าที่รัฐโดยครูในโรงเรียน มีถึงขั้นสั่งพักการเรียนและไล่ออกด้วย

วันที่ 23 มีนาคม 2563 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ออกหนังสือ เลขที่ 04001/ว1692 เรื่องเปิดพื้นที่ปลอดภัยในสถานศึกษาและไม่กีดกันให้นักเรียนสามารถทำกิจกรรม แสดงออกได้อย่างมีเสรีภาพและสร้างสรรค์ แต่ไม่กี่เดือนหลังหนังสือฉบับนี้ กลับเกิดเหตุทั้งการล้วงข้อมูลในโซเชียลมีเดียของนักเรียน การขู่จะฟ้องนักเรียนที่ตั้งคำถามเรื่องของทรงผม มีข้อความในไลน์ของคุณครูหลุดออกมาสั่งห้ามชุมนุมทางการเมือง และมีกรณีที่ไม่ปรากฏเป็นข่าวอีกมากมาย

“พอเกิดเรื่องมากๆเข้า ถูกผู้แทนในสภานี้จี้ถาม รัฐมนตรีก็มีหนังสืออีกฉบับให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการให้โรงเรียนในสังกัดเปิดพื้นที่ให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมือง แต่เหตุการณ์กลับหนักขึ้น มีครูบางส่วนข่มขู่ว่านักเรียนที่ชูสามนิ้ว ผูกโบว์ขาวจะถูกไล่ออก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่า มีเรื่องร้องเรียนมากกว่า 103 กรณีจากนักเรียนที่ถูกละเมิดสิทธิในการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่ห้าม พูดจาตำหนิ ข่มขู่จะลงโทษในรูปแบบต่างๆ ไปจนถึงขั้นไล่ออก ตบหัว ตีมือ ยึดโทรศัพท์ และปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และ กอรมน.เข้าไปสอดส่องคุกคามนักเรียนของตัวเองในสถานศึกษา

เมื่อนักเรียนตั้งคำถามและแสดงออกเรื่องชุดนักเรียน นัดแต่งไปรเวทเพื่อแสดงสัญลักษณ์ เลขา สพฐ. ยืนยันให้เข้าเรียนและลงโทษได้ตามระเบียบซึ่งมีเพียงแค่ 4 สถาน แต่ก็ไปลงโทษด้วยการกักขังหน่วงเหนี่ยว จนผู้ปกครองต้องไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้อำนวยการโรงเรียน”
 

นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ปัญหาการละเมิดสิทธิทั่วไปก็หนักข้อขึ้นเช่นกัน ผอ.ท่านหนึ่งที่จังหวัดสงขลาถูกผู้ปกครองแจ้งความเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศกับลูกสาวชั้น ม.4 วันรุ่งขึ้น ผอ.คนดังกล่าวพกปืนขึ้นหน้าเสาธง นักเรียนวิ่งหนีกันชุลมุน ผอ.อีกท่านจังหวัดนครศรีธรรมราช มีการใช้วิดีโอคอล เซ็กซ์โฟน กับนักเรียน ม. 2 ที่มุกดาหารมีกรณีครู 5 คน และรุ่นพี่ที่เป็นศิษย์เก่าอีก 2 คน กระทำชำเรานักเรียนหญิงวัย 14 ปี

ต่อกรณีเหล่านี้ นายณัฏฐพล ไม่ควรแก้ตัวว่ามีการดำเนินการแล้ว เพราะการดำเนินการเป็นไปด้วยความเชื่องช้า คำสั่ง ประกาศจากกระทรวงไม่มีผล เป็นแค่กระดาษ A4 รกสำนักงาน โรงเรียนยังเป็นที่ๆมีการละเมิดสิทธิของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ครูทั้งหลายไม่เข้าใจสิทธิเสรีภาพ และเป็นผู้ละเมิดกฎหมายเสียเอง

“การกระทำเหล่านี้แปลความได้แค่สองอย่างเท่านั้น คือรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาคนนี้ ณัฐพล ทีปสุวรรณ ไร้น้ำยา ไร้อำนาจในการปกป้องนักเรียนจากการคุกคาม หรือจริงๆแล้ว รัฐมนตรีคือคนที่ปากว่าตาขยิบ เห็นด้วยกับการใช้อำนาจเหล่านี้ เพราะตัวท่านเองก็มาจากกระบวนการของการรัฐประหาร สืบทอดอำนาจเช่นกัน จึงทำลายระบอบประชาธิปไตย ทำลายสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของนักเรียน ตอกย้ำชัดเจนว่าตัวรัฐมนตรีเป็นอุปสรรคและภาระของระบอบประชาธิปไตย เป็นรัฐมนตรีที่เป็นอุปสรรคภาระของการศึกษาอย่างแท้จริง จนเป็นรัฐมนตรีศึกษาธิการที่ถูกนักเรียนที่ในช่วงที่เขาเติบโตมาเห็นท่านคาบนกหวีดไล่คนอื่น เป่านกหวีดไล่บ้าง เพราะท่านทำลายประชาธิปไตยจนตัวเองได้เป็นรัฐมนตรี พวกเขาจึงออกมาเดินขบวนไล่ด้วยตัวเอง” นายณัฏฐพลกล่าว

***เป็นถึง รมว.ศึกษา แต่ปล่อยงบหนุนนักเรียนยากจนถูกตัด-ไม่คัดค้าน ทำ 2-3 แสนนักเรียนจนชวดเงินช่วยเหลือ***

นายปดิพัทธ์ อภิปรายต่อไป ถึงกรณีของนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กตามต่างจังหวัด ที่มีสภาพย่ำแย่ภายใต้ความรับผิดชอบของนายณัฏฐพล โดยระบุว่าประการแรก ตนอยากจะให้ดูสถิตินักเรียนยากจนและนักเรียนยากจนพิเศษ ที่รวบรวมโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

แม้นักเรียนยากจนจะลดลง แต่ก็ไม่ได้หายจากความยากจน กลับกลายเป็นนักเรียนยากจนพิเศษที่เพิ่มขึ้นจาก 711,536 คน เป็น 994,428 คน ภายในระยะเวลาแค่ 1 ปีเท่านั้น นักเรียนยากจนพิเศษ คือ นักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้ 1,000 บาทต่อเดือน ถ้าเรารวมนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษเข้าด้วยกัน เรากำลังพูดถึงครอบครัวจำนวน 1,768,211 ครอบครัว ครอบครัวเหล่านี้ลำบากยากแค้นอยู่แล้ว สองปีนี้ยิ่งหนักหนาสาหัสด้วยสถานการณ์โควิด แต่รัฐมนตรีกลับทำเรื่องที่ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำให้สาหัสขึ้นไปอีก

โดยการปล่อยให้งบประมาณกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาถูกตัดไป 1,000 ล้านบาท ทำให้นักเรียนอย่างน้อย 200,000-300,000 คน เข้าไม่ถึงความเสมอภาคทางการศึกษา แม้จะเป็นแค่เงิน 3,000-4,000 บาทต่อปีที่ให้กับนักเรียนคนหนึ่ง แต่นั่นหมายถึงหนังสือ ชุดนักเรียน รองเท้า อุปกรณ์การเรียน และชีวิตของนักเรียนคนหนึ่ง

“เรื่องราวอัปยศนี้เกิดขึ้นในวันที่ 12 มกราคม 2563 มีการประชุม ครม. และมีมติออกมา เห็นชอบแผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงินทั้งสิ้น 7,635 ล้านบาท แต่วันที่ 13 มกราคม 2564 กลับมีการเปลี่ยนแปลงงบฯเหลือ 6,556.86 ล้านบาท ด้วยเหตุผลในหนังสือของสำนักงบประมาณว่าเป็น “ภาระทางการคลัง”

จากวันที่ 12 มกราคม 2563 ซึ่งชัดเจนแล้วว่าอนุมัติงบ 7,600 ล้าน และมีมติ ครม.ด้วย แต่อยู่ๆภายในชั่วข้ามคืน ซึ่งไม่รู้ว่าไปประชุม ครม.กันตอนไหนมาเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ คำถามของคือ ในวันที่งบประมาณถูกตัดไปแบบนี้ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาเข้าประชุม ครม.ด้วยหรือไม่ เหตุใดจึงไม่มีท่าทีอะไรเลย ไม่มีการปกป้องงบประมาณที่จะช่วยบรรเทาความเหลื่อมล้ำ กลับทอดทิ้งนักเรียนหลายแสนคน ตนขอท้าให้นายณัฏฐพลเอาเชาวเลขมาเปิดดูให้ดู ว่าใครที่กล้าแอบเปลี่ยนมติ ครม. และรัฐมนตรีนั่งใบ้ทำอะไรอยู่

ขณะที่ในเดือนเดียวกัน รัฐบาลอนุมัติงบประมาณ 473 ล้านบาทให้กระทรวงกลาโหมใช้แก้โควิด และยังได้อนุมัติงบประมาณให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 191 ล้านบาท รักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม

“ท่านไม่คัดค้านการเพิ่มงบให้กลาโหม และการปราบปรามการชุมนุม แต่งบประมาณเพื่อความเสมอภาคเพื่อการศึกษา ท่านกลับปล่อยให้มีการลักไก่เปลี่ยนแปลงมติ ครม. นักเรียนยากจนพิเศษกว่า 300,000 คนหมดโอกาสทันที ท่านโยนพวกเขาทิ้งไป ไม่มีความยุติธรรมในหัวใจ ไม่มีจริยธรรมของการเป็นรัฐมนตรี ไม่มีความสามารถในการเป็นรัฐมนตรี” นายปดิพัทธ์ อภิปราย

***ทีแรกโวจะเพิ่มค่าอาหารกลางวันเป็น 36 บาท ไหงกลายเป็น 21 บาท?

นายปดิพัทธ์ยังอภิปรายต่อไป ว่านายณัฏฐพลแม้มีความพยายามพอสมควร ในการเสนอให้ปรับค่าอาหารกลางวันของนักเรียน และเปลี่ยนจากการให้เท่ากันหมด มาเป็นการให้ตามขนาดของโรงเรียน โดยมีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แสดงเหตุผลความจำเป็นต่างๆจนปรับเป็นอัตราดังกล่าว

จนมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 นายณัฐพลได้ออกมาเปิดเผยว่ากระทรวงศึกษาธิการ จะมอบของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน มีทั้งเรื่องลดภาระครู การเพิ่มค่าอาหารกลางวัน การให้นักเรียนอาชีวะใช้ความรู้ความสามารถในการช่วยเหลือสังคม และยกเลิกการสอบการศึกษาระดับชาติ (O-Net)

แต่แล้ว ครม.กลับมีมติวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เห็นชอบปรับค่าอาหารกลางวันนักเรียนเป็น 21 บาทต่อคนต่อวัน เป็นการปรับขึ้นค่าอาหารกลางวันครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2556 แต่ก็ขึ้นมาบาทเดียว สุดท้ายนักเรียนก็ยังหิวเหมือนเดิม เพิ่มไข่สักฟองก็ยังไม่ได้

มากกว่านั้น รัฐมนตรีที่ชอบอ้างว่าเป็นปาร์ตี้ลิสต์อันดับหนึ่งของพรรครัฐบาล ได้ตอบนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ไว้ในการอภิปรายงบประมาณปี 2563 ต่อกรณีที่นายวิโรจน์เสนอให้เพิ่มงบเป็น 23 บาทต่อคน ท่านบอกว่าเป็นการเสนอที่ไม่ได้ใช้สมอง ถ้ามีสมองมันต้องเพิ่มเป็น 36 บาท เพิ่มให้เป็นไปตามสัดส่วนที่เหมาะสมกับขนาดของโรงเรียน

“แล้วท่านไปใช้สมองยังไงมาครับ เลยออกมาเป็น 21 บาท ของขวัญประเทศไทยจากกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องลาออกไปนี่ผมไว้ทีหลัง อย่างน้อยวันนี้ท่านจะต้องขอโทษสภาแห่งนี้ที่ทำตามที่พูดไม่ได้ และขอโทษ ส.ส.วิโรจน์ ในการพาดพิงว่าการเสนอของท่านไม่ได้ใช้สมอง โชคดีที่ยังขึ้นให้ตั้ง 1 บาท ถ้าขึ้นให้แค่ 75 สตางค์ ผมจะเรียกท่านว่า รัฐมนตรีไม่เต็มบาท ออกไปได้แล้วครับคุณณัฐพล น่าอับอายขนาดนี้ ปาร์ตี้ลิสต์อันดับอื่นพรรคท่านเค้ารอเป็นอยู่” นายปดิพัทธ์อภิปราย

***ปิดโรงเรียนแบบขอไปที ไม่มีทางเลือกให้ นร.-ผู้ปกครองแล้วยังมาโวว่าทุกคนพร้อมเรียนออนไลน์ -- ไล่เชิญไปดู ร.ร.ต่างจังหวัด

จากนั้น นายปดิพัทธ์ได้อภิปรายต่อไป ถึงความไร้ประสิทธิภาพ ไร้ภาวะผู้นำ ไร้ความรู้ ไร้ความรับผิดชอบของนายณัฏฐพล โดยระบุว่าในขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญสถานการณ์โควิด แต่การรับมือที่ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบมากน้อยแตกต่างกัน

ประเทศที่ทำได้ดีส่วนมาก โรงเรียนจะเป็นที่สุดท้ายที่ปิดและเป็นที่แรกที่เปิด มากกว่านั้นทุกครั้งที่ปิด มักจะ เป็นการปิดโดยมอบทางเลือกและทางออกให้กับนักเรียนและผู้ปกครองเสมอ ประเทศที่สั่งปิดโรงเรียนบางประเทศจะมอบวันหยุดงานให้ผู้ปกครอง บางประเทศที่สั่งปิดเรียนก็เปิดทางเลือกให้นักเรียนที่ผู้ปกครองดูแลไม่ได้ ให้มาโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย

แต่สิ่งที่นายณัฏฐพล ทำคือการขานรับการประกาศของ ศบค.ทันที คือ การปิดโรงเรียนอย่างรวดเร็ว ไม่มีทางเลือก ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำที่สถานการณ์ปกติก็แย่อยู่แล้ว ให้สาหัสขึ้นอีกในสถานการณ์โควิด ปีที่แล้วเมื่อเกิดการระบาดรอบแรก รัฐมนตรีอาจจะมั่วไปบ้างยังพอเข้าใจได้ แต่การระบาดรอบที่สอง ไม่ได้มีปัจจัยที่เกิดจากโรงเรียนแม้แต่กรณีเดียว แต่รัฐมนตรีสั่งการอย่างรวดเร็วให้ปิดโรงเรียน ปล่อยให้ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน รับมือผลกระทบจากการปิดโรงเรียนแบบตามมีตามเกิด

ทุกครั้งที่มีคำสั่งปิดโรงเรียน สังคมไทยที่มีครอบครัวแหว่งกลางจำนวนมาก เด็กนักเรียนจำนวนมากไม่ได้อยู่กับพ่อ-แม่ มีแต่ตา-ยายที่ทุกวันนี้ยังต้องไปต่อแถวรับเงินเยียวยาเพราะไม่มีสมาร์ทโฟน ใครจะมีปัญญาไปดูแลหลานให้เรียนออนไลน์ได้ โรงเรียนขนาดเล็กกว่า 15,000 แห่งจะทำอย่างไร โรงเรียนในพื้นที่ป่าที่ไม่มีไฟฟ้าโรงเรียนจะทำอย่างไร

นอกจากนี้ การกระทำที่ตนถือว่าเป็นการตบหน้าคนไทยทั้งประเทศ ก็คือการที่กระทรวงศึกษาธิการ ไปตรวจดูความพร้อมการเรียนออนไลน์และการรับมือในภาวะโควิด โดยไปดูการเรียนออนไลน์ที่โรงเรียนสตรีวิทยา ซึ่งทำได้ดีอยู่แล้ว ก่อนออกมาให้สัมภาษณ์ว่าโรงเรียนมีความพร้อมในการเรียนการสอนออนไลน์ แต่ไม่ยอมไปดูโรงเรียนที่มีความไม่พร้อมในการเรียนการสอนออนไลน์ เช่นโรงเรียนในชนบทและโรงเรียนที่ขาดโอกาสต่างๆ ทำแบบนี้แล้วยังมีหน้ามาให้สัมภาษณ์ขยี้หัวใจนักเรียนและผู้ปกครองทั่วประเทศอีก

นอกจากจะจัดการความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสถานการณ์โควิดไม่ได้แล้ว นายณัฐพลยังประกาศให้นักเรียนเลื่อนชั้นอัตโนมัติโดยไม่ต้องสอบ นี่คือความไม่เข้าใจ ไม่เห็นความสำคัญของการประเมินผล ปล่อยให้เวลาของเด็กสูญเปล่าไปโดยสิ้นเชิง แทนที่จะจัดให้มีการสอนเสริมในเนื้อหาสำคัญ ก่อนให้นักเรียนเลื่อนชั้นก็ยังดี แต่นี่ปล่อยให้เลื่อนชั้นโดยไม่ทำอะไรเลย

“การปิดโรงเรียน มาตรการการศึกษาที่ผิดพลาดในสถานการณ์โควิด การมีรัฐมนตรีศึกษาธิการที่ไม่ได้เรื่อง เป็นความเสียหายไปหลายรุ่น หลาย Generations นี่หรือคือคนที่อ้างว่าไปดูงานมาแล้วทั่วโลก ได้เป็นรัฐมนตรีเพราะมีคุณสมบัติ ผมคิดไม่ออกจริงๆว่าถ้าท่านไม่มีนกหวีด และ 250 สว.โหวตให้เป็นรัฐบาล คนที่ไร้คุณสมบัติอย่างนี้จะมาเป็นรัฐมนตรีได้ยังไง” นายปดิพัทธ์กล่าว

 

***ประเทศกำลังขาดแคลนครู แต่เปลี่ยนครูอัตราจ้างชั่วคราวเป็นเหมาช่วง เอาชีวิตลูกจ้างครูไปแขวนบนเส้นด้ายซ้ำเติมความทุกข์ยาก***

นายปดิพัทธ์ยังได้อภิปรายต่อไปว่า นายณัฏฐพลยังได้สร้างความเสียหายให้กับวงการครูของประเทศอย่างมหาศาล ทำลายระบอบคุณธรรมในวงการศึกษา ทำลายสวัสดิการ สวัสดิภาพของครู ขาดวุฒิภาวะและความเป็นผู้นำที่ดี ใช้อำนาจแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำ เพื่อให้มีบุคคลหลายรายซึ่งเป็นพวกพ้องของตนเข้าสู่ตำแหน่ง และแสวงหาประโยชน์โดยการทุจริต

นายปดิพัทธ์ ระบุว่า ปัญหาของลูกจ้างชั่วคราวสังกัด สพฐ.มีมาช้านาน แต่ไม่เคยมีครั้งไหนจะย่ำแย่ขนาดนี้ กรณีที่สะเทือนใจที่สุดคือ วันที่ 24 กันยายน 2562 มีหนังสือส่งไปถึงผู้อำนายการโรงเรียนทุกโรงเรียนในสังกัด ระบุว่าสัญญาจ้างของลูกจ้างชั่วคราวทุกคน จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2562

ไม่มีครั้งไหนเลยที่มีคำสั่งลักษณะนี้ออกมา ทำให้ผู้บริหารโรงเรียน และลูกจ้างชั่วคราวทุกคนตื่นตระหนก เสียกำลังใจ ไม่มีใจจะสอน จะบริการวิชาการหรือจะทำอะไรแล้ว พร้อมกับคำถามสำคัญคือรัฐบาลหมดงบประมาณจ้างครูและบุคลากรในโรงเรียนแล้วใช่หรือไม่

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 สมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งประเทศไทยและเครือข่ายลูกจ้างชั่วคราวกว่า 1,000 คน ได้มาร่วมกันชุมนุมหน้ากระทรวงศึกษาธิการ เรียกร้องความเป็นธรรม ความมั่นคง สิทธิประกันสังคม และโอกาสในการปรับเป็นพนักงานราชการ เรากำลังพูดถึงลูกจ้างทั้งหมด 60,000 คนทั่วประเทศ แต่การเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่ว่าไม่มั่นคงแล้ว ตอนนี้มาเป็นการจ้างแบบเหมาบริการ มีชีวิตแบบเดือนต่อเดือน เราทุกคนรู้ว่าบุคลากรทางการศึกษาของเราไม่พอ ครู เจ้าหน้าที่ธุรการ นักการภารโรงในโรงเรียนต่างๆขาดแคลนเป็นอย่างมาก การที่มีงบประมาณจ้างลูกจ้างชั่วคราว ถึงจะแก้ปัญหาไม่ได้อย่างยั่งยืนแต่ก็ยังบรรเทาได้บ้าง

แต่นี่คือสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการทำกับบุคลากรทางการศึกษา ไม่มีใครจะทำงานอย่างมีความสุขได้ เมื่อยังไม่รู้เลยว่าเดือนหน้าจะได้รับการต่อสัญญาหรือไม่ ใครที่ไหนจะตั้งใจปรับปรุงงานของตัวเองให้ดีขึ้น ในเมื่อเดือนหน้าก็จะถูกเอาออกได้ทุกเมื่อ ก็เพียงทำงานไปแบบวันต่อวัน

การไม่มีภารโรงคนหนึ่งในโรงเรียนเล็กๆ ผลเสียมากกว่าที่วิสัยทัศน์แคบๆของนายณัฏฐพลจะมองเห็นได้ ภารโรงคนหนึ่งทำหน้าที่แทบจะทุกอย่าง ซ่อมก๊อกน้ำ เปลี่ยนสายไฟ ซ่อมอุปกรณ์สนาม ดูแล รับผิดชอบแทบจะทุกอย่างที่จะให้นักเรียนปลอดภัย

นายปดิพัทธ์อภิปรายต่อไป ว่าผ่านมาสองปี นายณัฏฐพลไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันที่เป็นประโยชน์กับการศึกษาไทยเลย แถมยังใช้อำนาจแทรกแซงแต่งตั้ง ทำลายระบบคุณธรรมใน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ