ข่าว

'จตุพร' ติวเข้มฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ ' 3ป.' ขยี้ปมโกงอย่างเป็นระบบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"จตุพร" แนะฝ่านค้านซักฟอกล็อคเป้าถล่ม 3 ป. เชื่อส่อนัยการเมืองจะเดินต่ออย่างไร ถามจะอยู่ แบบไม่มีความหวังอย่างนี้หรือ? ระบุต่อสู้เผด็จการเป็นเรื่องของแต่ละ ปท. มีรูปแบบแตกต่างกัน

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2564 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.กล่าวในรายการลมหายใจพีซทีวี เวทีทัศน์ ในหัวข้อ จะอยู่กันไปอย่างนี้หรือ โดยระบุว่า  ความจริงแล้วหัวข้อนี้เป็นคำถาม ซึ่งอาจจะเป็นนามธรรม ทางความรู้สึก แต่ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าที่กำลังคลุกลุ่น หลังจากที่พลเอกมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของประเทศพม่า นอกจากจะเป็นผู้มีอำนาจทางการทหารแล้วยังเป็นผู้ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ เป็นคนรวยลำดับต้นๆ ของประเทศพม่า  

ดังนั้นการประกาศใช้ภาวะฉุกเฉิน 1 ปี และรับปากว่าจะให้มีการจัดการเลือกตั้งหลังจากนั้น ตนเชื่อว่าบทเรียนของคนพม่าซึ่งเห็นได้ว่าลีลาแบบนี้ประเทศไทยเคยทำเอาไว้ล้วงหน้า การที่อยู่ภายใต้เผด็จการยาวนานกว่า 50 ปีก่อนมีประชาธิปไตยมีการเลือกตั้งได้ผู้บริหารจากการเลือกตั้งครั้งแรกก็อยู่ได้เพียงแค่สมัยเดียว  เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งที่ 2 คนก็มีความหวังว่าสถานการณ์ของประเทศพม่าจะมีการพลิกโฉม และแน่นอนที่สุดประเทศที่เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญอย่างประเทศพม่า ที่มีพรหมแดนติดกับ จีน และอินเดียนั้นทำให้พม่าแทบจะไม่ต้องพึ่งพาประเทศอื่น เพราะทำการค้ากับ 2 ประเทศนี้ที่มีประชากรร่วม 3 พันล้านคนนั้นสามารถทำการค้าได้หมด 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไม่รอด "นปช." ขอลาแดงสามนิ้วมาแล้ว

ปัญหาของประเทศพม่านั้นมีเรื่องเชื้อชาติ สงครามภายในมาเป็นระยะเวลายาวนาน แต่เมื่อมีการหยุดยิง หรือมีสถานการณ์ทางการทหารน้อยลงท่ามกลางรัฐบาลประชาธิปไตยในช่วงที่ผ่านมา ก็ปรากฏเหตุการณ์หลายอย่าง เช่น การปราบปรามโรงฮิงญาที่รัฐยะไข่ ทำให้ออง ซานซูจี ได้ใจบรรดาแม่ทัพนายกองของประเทศพม่า รวมถึงปลุกภาวะชาตินิยมในประเทศพม่า ส่งผลให้สูญเสียความชอบธรรมในเวทีโลก เพื่อเลือกความสำเร็จในประเทศตัวเอง แต่ภูมิต้านทานเหล่านี้ไม่เพียงพอ เพราะ แม้รัฐธรรมนูญจะถัวเฉลี่ยให้กับกองทัพอยู่แล้ว 25 % ในทุกตำแหน่ง ทั้งฝ่ายบริหาร  กลาโหม มหาดไทย กิจการชายแดน และรองประธานาธิบดียังต้องเป็นคนของกองทัพ  รวมถึงสมาชิก 2สภาที่ต้องมีคนของกองทัพ 25 %  

ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นการเอาเปรียบทุกอย่างเพราะคิดว่าการวิ่งล่วงหน้าไป 25 % หาเพียงแค่อีก 26 % ก็เกินครึ่งนั้นจะทำได้ง่าย แต่ความที่ พม่าถูกกดขี่มายาวนาน ประชาชนเข็ดหลาบกับคำว่าเผด็จการ แม้เวทีโลกมองยุทธศาสตร์ในประเทศพม่าแตกต่างกันไป แต่ประเทศที่ได้รับผลกระทบสูงสุด คือประเทศไทย ซึ่งมีพรหมแดนติดกับพม่าค่อนข้างยาว และแรงงานต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยส่วนใหญ่ก็เป็นคนพม่า ดังนั้นสิ่งที่เป็นแรงเหวี่ยง ณ ขณะนี้ก็คือ การต่อสู้เรียกร้องในประเทศไทย กับในประเทศพม่า ซึ่งสองสามวันที่ผ่านมา แม้ทางการพม่ารู้ว่าโลกสื่อสารไร้พรหมแดนนั้นจะปิดกั้นได้ยาก  และหลายคนก็ดูว่าสถานการณ์จะเรียบร้อย แต่ก็ยังสรุปอะไรกันไม่ได้ ว่าอยู่ในความสงบ   

เพียงแต่สถานการณ์ถัดจากนี้ไปจะมีพลัง และความรุนแรงขนาดไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศไทยต้องจับตาดู และตนเชื่อว่าการเมืองของประเทศไทยก็ยังเป็นแบบของประเทศไทย ส่วนของพม่าก็ยังเป็นแบบพม่า ดังนั้นไม่มีลักษณะที่จะเหมือนกัน 100 % เพียงแต่บางอย่างอาจจะคล้ายกัน และการต่อสู้ของประเทศใดก็เป็นเรื่องของคนในประเทศนั้น  
 
 

อีกทั้งระยะเวลา 1 ปีที่ว่านั้นตนยังเชื่อแบบประเทศไทย คือ จะมีความยืดเยื้อยาวนาน ส่วนที่มีคนพยายามจะเชื่อมโยงสถานการณ์ของประเทศไทยตนมองว่า แนวทางการต่อสู้เรื่องประชาธิปไตย แม้จะเป็นแนวทางเดียวกันทั้งโลก แต่รูปแบบแตกต่างกัน  

พร้อมมองว่า ภายใต้สถานการณ์ของประเทศไทยที่มีความยากลำบากขณะนี้ ต้องยอมรับว่าความเป็นคนไทย ที่อะไรก็ได้ ซึ่งแปลความได้ว่า คนไทยเป็นมนุษย์ที่มีความอดทน และอยู่กันแบบนี้ แบบที่ไม่ได้มีความหวังอะไร เพราะวันนี้อยู่ในสภาพที่เศรษฐกิจเลวร้าย และการเมืองก็ยิ่งเลวร้าย  ดังนั้นภายใต้สถานการณ์เช่นนี้เราจะแก้ไขปัญหาของชาติกันได้อย่างไร 

นายจตุพร กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ว่า ตนยังเชื่อว่าจะเต็มไปด้วยปัญหามากมาย และอยู่ที่ฝ่ายรัฐบาลต้องการอะไร หากไม่ต้องการให้มีการอภิปรายก็ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ หรือ อภิปรายแล้วลากมาเล่นเกมของตัวเองขอเปิดมาตรการประชุมลับก็จะเป็นปัญหาเช่นกัน ดังนั้นหากฝ่ายค้านมีความมุ่งมั่นที่จะนำเสนออภิปรายในประเด็นทุจริต ฉ้อฉล บริหารผิดพลาดท่ามกลางประเทศประสบชะตากรรมเช่นนี้ ควรลำดับเรื่องราวทั้งเรื่องที่มีอยู่ และเรื่องที่อยู่หลังฉาก  

ดังนั้นหากการอภิปรายครั้งนี้ยังไม่มีผลลัพธ์อะไรเหมือนครั้งที่ผ่านมา ฝ่ายค้านจะตกเป็นฝ่ายถูกกดดันเสียเอง เพราะการประโคมโหมข่าว ทำท่าว่าจะมีแล้วไม่มี ก็จะเกิดความเสียหาย  ดังนั้นการอภิปรายในวันที่ 18 ก.พ.นี้ ประชาชนจะให้ความสนใจติดตาม พร้อมแนะล็อคเป้า 3 ป. เพราะความแข็งแรงของรัฐบาลอยู่ที่ 3 ป.ทั้งหมด ส่วนองคาพยพอื่นเป็นเพียงแค่องค์ประกอบเท่านั้น ดังนั้น หาก 3ป.อยู่ไม่ได้ รัฐบาลนี้ก็ไปโดยปริยาย  
 
ทั้งนี้ตนยังเห็นว่าการอภิปรายในครั้งนี้ยังมีความสำคัญที่จะสามารถชี้ให้เห็นว่าสถานะทางการเมืองจะเดินต่อไปอย่างไรและฝ่ายค้านจะต้องใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ เพราะการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไม่ได้อยู่สภา แต่อยู่ที่ประชาชน ซึ่งเกิดผลมาจากการพูดในสภา ดังนั้นหากในสภาพูดแล้วประชาชนทนไม่ไหว รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ และตนหวังว่าสถานการณ์ต่างๆจะนำไปสู่ภาวะทนไม่ได้  ไม่ใช่ว่าคนไทยอะไรก็ได้ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ดังนั้นการตั้งคำถามว่า จะอยู่กันไปแบบนี้หรือ เป็นคำถามเพื่อจะบอกในอนาคตว่า หากเราไม่ต้องการอยู่กันแบบนี้ เราก็ต้องคิดอ่านว่า เราจะจัดการกับสถานการณ์ของบ้านเมืองนี้กันอย่างไร 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ