ข่าว

ศบค.ชุดเล็ก ชงต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คร่อมหยุดยาวปีใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศบค.ชุดเล็ก ชงต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คร่อมหยุดยาวปีใหม่ ถึง 15 ม.ค. 64 ประชาชนจำนวนมากเดินทางท่องเที่ยว-กลับภูมิลำเนา ยันไม่เกี่ยวการเมือง วอนม็อบเข้มมาตรการป้องกันโควิด-19 มากขึ้น

วันที่ 16 พ.ย. 2563 รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ที่มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เป็นประธาน วันนี้ เห็นชอบให้มีการขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ที่จะครบกำหนดในวันที่ 30 พ.ย.นี้ ออกไปอีก 45 วัน

 

หรือจนถึงวันที่ 15 ม.ค. 2564 เพื่อใช้เป็นกลไกในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยยืนยันว่าไม่ได้ใช้เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองแต่อย่างใด

 

ส่วนเหตุผลที่มีการขยายระยะเวลาการบังคับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปถึง 45 วัน ทั้งที่ผ่านมาจะขยายครั้งละ 30 วันนั้น เหตุผลหลักคือ ต้องการประกาศให้ครอบคลุมช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งจะมีการเคลื่อนย้ายของประชากรจำนวนมากที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาและเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวปีใหม่

 

หากขยายระยะเวลาบังคับใช้ 30 วัน จะทำให้ต้องมาประชุมเพื่อพิจารณาขยายอีกครั้งในกลางเดือน ธ.ค. ที่งานในช่วงนั้นค่อนข้างแน่น จึงประกาศขยายระยะเวลาบังคับใช้ 45 วันไปในคราวเดียว

 

นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังเน้นย้ำเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ในบริเวณตะเข็บชายแดนให้มีความเข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะช่องทางธรรมชาติ เนื่องจากจะมีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากที่ต้องการเดินทางเข้า-ออกในช่วงเทศกาลหยุดยาวปีใหม่ โดยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในฐานะ ศบค.จังหวัด ประสานดูแลให้เข้มงวดมากขึ้น


 

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า อย่างไรก็ตาม แม้การขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะมีเหตุผลเรื่องของการใช้เป็นกลไกในการป้องกันโควิด-19 โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง แต่ที่ประชุมมีความเป็นห่วงเรื่องของการชุมนุมทางการเมืองที่เป็นการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก อยากให้มีมาตรการป้องกันโควิด-19 ให้เข้มงวดมากขึ้น จึงขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปประสานในเรื่องนี้

 

รวมถึงเรื่องของการสวมหน้ากาก การตะโกน อยากให้มีความระมัดระวังมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะต้องมีการเสนอเข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่พิจารณา หากเห็นชอบจะเสนอเข้าขอมติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ