ข่าว

รองหัวหน้าพรรคปชป.จี้นายกฯกล้าตัดสินใจเปิดประเทศ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ปริญญ์ พานิชภักดิ์' รองหัวหน้าพรรคปชป.จี้นายกฯ กล้าตัดสินใจเปิดประเทศ เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อนผู้ประกอบการตายเรียบ

ที่พรรคประชาธิปัตย์  เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันแถลงข่าวเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ชงสามประเด็นหลักให้ภาครัฐ เร่งเปิดประเทศภายใต้มาตรการทางด้านสาธารณสุขเพื่อควบคุมโควิด-19 การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐหลังมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมถึงเพิ่มอัตราการจ้างงาน และพัฒนาฝีมือแรงงานให้สอดรับตลาดแรงงานยุคใหม่

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

: พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คนใหม่

"พล.อ.ประยุทธ์" นายกฯ ทูลเกล้าฯชื่อ 'รมว.คลัง' คนใหม่แล้ว

 

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหนเาพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่าในช่วงแรกที่มีการระบาดของโควิด-19 ในประเทศในช่วงเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ทีมเศรษฐกิจทันสมัยของพรรคเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่เสนอให้มีการปิดประเทศ เพื่อเร่งแก้ปัญหาวิกฤตสาธารณสุขก่อนที่จะลุกลามเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ

 

รองหัวหน้าพรรคปชป. กล่าวอีกว่า รวมทั้งเสนอมาตรการการอัดฉีดงบประมาณแบบบาซูก้าเพื่อเร่งแก้ปัญหาให้กับคนในประเทศทุกกลุ่ม ปัจจุบันแม้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศได้เริ่มคลี่คลายจากการบริหารจัดกการทางด้านสาธารณสุขของประเทศที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างดียิ่งจนได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ

 

"แต่สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจในประเทศกลับแย่ลง และจะไม่พลิกฟื้นหากไม่เร่งแก้ปัญหา ซึ่งท้ายที่สุดแล้วผู้ประกอบการรายย่อยจะพากันไปต่อไม่รอดโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ต้องพึ่งพึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงมีข้อเสนอ 3 ประการเพื่อช่วยเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนี้" รองหัวหน้าพรรคปชป. กล่าว

1. เร่งเปิดประเทศ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางด้านเศรษฐกิจ โดยสามารถทำในรูปแบบจับคู่ธุรกิจกับบางประเทศเน้นประเทศที่มีความปลอดภัยจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด -19 อาทิ จีนในบางมณฑล นิวซีแลนด์ หรือเวียดนาม เป็นต้น รวมทั้งรีบตัดสินใจให้มีการรับนักท่องเที่ยวบางกลุ่มเข้ามาและพิจารณาลดระยะเวลาการกักตัวให้เหลือเพียง 7 วัน แต่ให้อยู่ภายใต้มาตรการการควบคุมของ ศบค.

 

2. เร่งให้มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณภาครัฐ ที่ยังมีความล่าช้าอยู่มาก โดยเน้นการให้เพื่อการช่วยเหลือในระยะยาว เช่นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ มากกว่าการนำเงินไปแจกจ่ายเป็นครั้งคราว

 

3. เร่งให้เกิดการจ้างงานในทุกภาคส่วน รวมถึงให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนในการ Up-Skill หรือ Re-Skill เพื่อเพิ่มการสร้างศักยภาพในการแข่งขันและเสริมทักษะ สมรรถนะให้สอดคล้องกับความต้องการของการจ้างงานในโลกปัจจุบัน

 

ด้านนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย กล่าวว่า นอกจากนี้อยากให้รัฐเร่งให้การช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่กำลังประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจกันอย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะประเด็น 3 ประเด็นหลัก คือ

1. การเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากภาครัฐที่ยังมีข้ออุปสรรคอย่างมาก แม้สถาบันทางการเงินหลายแห่งแสดงความตั้งใจที่จะสนับสนุนทางด้านเงินทุน แต่ยังไม่สามารถทำให้เห็นเป็นรูปธรรมได้

2. กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยให้รัฐมีนโยบายที่เอื้อต่อกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยในการซื้อสินค้าหรือบริการ บางรายการโดยการกำหนดคุณสมบัติบางส่วน เพราะผู้ประกอบการบางกลุ่มมีศักยภาพ แต่อาจมีความเสียเปรียบในเชิงการแข่งขันเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายใหญ่

3. มาตรการทางด้าน ภาษี รวมถึงกฎ กติกา ทางด้านการค้าต่าง ๆ ที่จะช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถไปต่อได้ นอกเหนือจากการสร้างรายได้แล้ว ยังต้องมีมาตรการในการช่วยลดค่าใช้จ่ายร่วมด้วย

ทั้งนี้ในตอนท้ายนายปริญญ์ และนางดรุณวรรณ ยังได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี กล้าตัดสินใจในการเปิดประเทศ โดยการใช้โอกาสทางด้านสาธารณสุขมาช่วยแก้วิกฤตให้กับประเทศ ก่อนที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะไปต่อไม่ได้ และจะพากันตายทั้งเป็นหากรัฐไม่เร่งแก้ปัญหา

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ