ข่าว

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ห่วงโควิดรอบ 2 แนะสกัดต่างด้าว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ดร.ยงยุทธ"ผอ.ทีดีอาร์ไอนักวิชาการด้านแรงงาน ชี้แรงงานต่างด้าวลักลอบเข้ามาตามชายแดน มีโอกาสเสี่ยงที่ไทยอาจเกิดการแพร่ระบาดรอบ 2 ได้ แนะภาครัฐปรับลดต้นทุน ค่าใช้จ่ายในการกักตัวให้ต่ำลง เพื่อให้แรงงานต่างด้าวไม่ต้องลักลอบเข้ามา

          ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยถึงกรณีแรงงานต่างด้าว ที่ลักลอบเข้ามาในประเทศไทยตามชายแดนว่า แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ มีทั้งเข้ามาหางานทำในประเทศไทย และอีกส่วนหนึ่งก็เพื่อหลบหนีจากโรคภัยไข้เจ็บภายในประเทศของตัวเองเพราะประเทศไทยมีสาธารณสุขที่ดีกว่า

 

          "เหตุผลส่วนหนึ่ง ที่แรงงานต่างด้าวต้องลักลอบเข้ามาตามแนวชายแดนไทย ตั้งแต่ทางภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย ไปจนถึงทางภาคใต้จังหวัดระนอง เนื่องจากค่าใช้จ่าย ในการป้องกันตามมาตรการสาธารณสุขในสถานกักกันของรัฐ มีราคาค่อนข้างสูง ทำให้แรงงานไม่มีเงินในการที่ต้องมาจ่าย จึงต้องลักลอบเข้ามา"ดร.ยงยุทธ กล่าว

 

        ขณะที่การผ่อนผันแรงงานต่างด้าวที่จะเดินทางเข้าออกประเทศไทย ศบค. ผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์เฟสต่อไปและอนุญาตให้สามารถนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานตามระบบ MOU และมาตรการความปลอดภัยทางสาธารณสุขคือต้องให้ตรวจหาเชื้อ covid19 และกักตัว 14 วันก่อนออกใบอนุญาตทำงานซึ่งนายจ้างต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 13,200-19,300 บาทต่อคน ตามประเภทกลุ่มและประเภทกิจการ
 

          หากดูจากตัวเลข ของแรงงานต่างด้าว เมื่อปลายปี 2562 มีอยู่จำนวนประมาณ 3 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2563 ลดลงไปมากกว่า 5 แสนคน หรือร้อยละ 18 โดยจำนวนที่หายไปเป็นแรงงานเข้ามาทำงาน ตามมาตรา 62 มาตรา 63 และมาตรา 64 รวมกันแล้ว ประมาณกว่า 7 หมื่นคน แต่ที่ลดลงมากคือแรงงานต่างด้าวตามมาตรา59 ประเภทพิสูจน์สัญชาติและประเภทนำเข้าตาม MOU รวมกันลดลงกว่า 400 คน       

         ส่วนนี้มองว่า พวกเขายังอยู่ในประเทศไทยเพื่อรอเจ้าหน้าที่ในประเทศของเขามาพิสูจน์สัญชาติให้ หรือเดินทางกลับไปประเทศก่อน แต่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเพราะแรงงานต่างด้าวเหล่านี้อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นผู้แพร่เชื้อ โควิด 19

 

         และอีกสิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือแรงงานที่ตกค้างอยู่มากกว่า 3 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายนมีแนวโน้มไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงทั้งจากค่าเช่าห้อง ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์เป็นต้น มีความเป็นไปได้สูงที่จะลดค่าใช้จ่าย โดยการย้ายมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากจนกว่าจะได้กลับมาทำงานตามปกติ ทำให้แรงงานกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการติดต่อหรือแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 สูงขึ้นซึ่งอาจทำให้เกิดการระบาดระรอก 2 ได้

 

         ดร.ยงยุทธ เสนอว่า การกักตัว ควรปรับให้เหมาะสมตามความสะดวกโดยให้หาพื้นที่กักตัวของนายจ้าง หรือ Organization quarantine โดยกำหนดข้อจำกัดและเงื่อนไข ทั้งการกักตัวแยก ทำที่ไหน ควรมีเกณฑ์อย่างไรบ้างและใครเป็นผู้ดูแลอนุญาต สามารถรองรับจำนวนคนที่พอเหมาะต่อเวลาและสถานที่
 

         เช่นภายในปีนี้เข้ามาหลายแสนคนจะเตรียม Organization quarantine กันอย่างไร เช่น ต้องเพิ่มเติม local ที่ไหนจำนวนเท่าไหร่ และการปรับลดต้นทุนค่าใช้จ่ายสำหรับการกักตัวให้ต่ำลง จาก 1,500 คนต่อวันให้เหลือ 1,000 บาทต่อคน ต่อวัน

 

         รวมทั้งพิจารณาตามหลักการป้องกันเชิงสุขภาพควบคู่ด้วย เช่น สามารถให้กักตัวแบบอยู่สองคนเหมือนสามีภรรยา มี distancing ถ้าทำได้ค่าใช้จ่ายต่อคนน่าจะไม่ถึง 1,000 บาท ก็สามารถช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ