ข่าว

"ศรีสุวรรณ" จ่อร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินขัดรธน.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ศรีสุวรรณ" เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เตรียม ร้องผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาล รธน.ชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินขัดรัฐธรรมนูญ 25 พ.ค.นี้

          23 พ.ค.2563 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ทุเลาเบาบางลงไปมากแล้ว ตามคำแถลงของโฆษก ศบค. แต่ทว่ารัฐบาลก็ยังคงใช้อำนาจโดยไม่มีการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแต่อย่างใด ทั้งๆที่ตาม พ.ร.ก.ดังกล่าว ม.11 วรรคท้าย ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า เมื่อเหตุกาณ์ตามเหตุผลที่ประกาศได้ยุติลงแล้ว ให้นายกรัฐมนตรียกเลิกประกาศโดยเร็วนั้น

          การที่นายกรัฐมนตรีออกประกาศและข้อกำหนดต่าง ๆ ตาม ม.9 เป็นการกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 ให้การรับรองและคุ้มครองไว้ แต่กลับมีการเขียนกฎหมายในลักษณะที่เป็นการตัดอำนาจศาลปกครองในการเข้าไปพิจารณาคดี ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะข้อกำหนดที่ออกมาบังคับใช้ตามกฎหมายเหล่านั้น ส่วนใหญ่เป็นข้อพิพาททางปกครอง แต่กลับไปเขียนกฎหมายไม่ให้ศาลปกครองพิจารณา ตามที่ระบุไว้ใน ม.16 ที่ว่า “ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง” 
            

          ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ 2560 ม.197 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ศาลปกครองมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองอันเนื่องมาจากการใช้อํานาจ ทางปกครองตามกฎหมายหรือเนื่องมาจากการดําเนินกิจการทางปกครอง” ประกอบ ม.3 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ  และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม” และ ม.5 บัญญัติว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจะนำมาบังคับมิได้
             

          แต่การที่รัฐบาลประกาศและต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีเงื่อนไขกำหนดว่าจะจบลงอย่างไรหรือทีท่าว่าจะยกเลิกประกาศไปเมื่อใด และข้อกำหนดต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นกฎทางปกครองอย่างหนึ่งตามกฎหมาย ที่ออกมาบังคับใช้มีลักษณะของการ “เลือกปฏิบัติ” หลายประการ ย่อมชี้ให้เห็นว่า เป็นการใช้อำนาจที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม สร้างความเดือดร้อนและเสียหายต่อประชาชนหลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งควรที่จะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนใช้สิทธิในการนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้ เพื่อจะได้เป็นข้อยุติว่าการใช้อำนาจนั้นๆของรัฐบาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่กลับมีการเขียนกฎหมายเพื่อตัดอำนาจหรือขจัดอำนาจของศาลปกครองไปเลย ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง
              

          ด้วยเหตุดังกล่าวสมาคมฯจึงจะนำความไปร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ม.16 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 ม.197 หรือไม่ โดยจะเดินทางไปยื่นคำร้องในวันจันทร์ที่ 25 พ.ค.63 เวลา 10.30 น. ณ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ห้อง 903 ศูนย์ราชการฯ อาคาร B นายศรีสุวรรณกล่าวในที่สุด

"ศรีสุวรรณ" จ่อร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินขัดรธน.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ