ข่าว

"ธนาธร"โชว์วิสัยทัศน์สู้"โควิด-19"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ธนาธร"ไลฟ์โชว์วิสัยทัศน์สู้ โควิด-19 วิเคราะห์แบบจำลองอนาคต-รับสถานการณ์เลวร้ายสุด หนุนใช้มาตรการหลีกเลี่ยงพบปะ จี้รัฐดูแลผู้มีรายได้น้อย

 

18  มีนาคม 2563 เมื่อเวลา 21.30 น. วันที่ 17 มีนาคม นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ไลฟ์ผ่านเพจเฟซบุ๊กสื่อสารกับผู้ติดตามรับชม กรณีการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19  

อ่านข่าว-ธนาธร โพสต์ 3 ข้อรับมือสถานการณ์ ' โควิด-19'

 

โดยระบุว่า วันนี้เรากำลังเผชิญหน้ากับความท้าทาย ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19  ใน 100 ปีจะมีสักครั้งหนึ่ง เราเห็นการเกิดขึ้นของไวรัสนี้เริ่มต้นจากประเทศจีน แล้วแพร่กระจายไปยังประเทศเกาหลี แพร่กระจายไปยังทวีปยุโรป แพร่กระจายไปยังอิหร่าน และแน่นอนที่สุด ก็เข้ามาถึงประเทศไทย มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่เราจะต้องสื่อสารและพูดจากันอย่างตรงไปตรงมา ถึงการแก้ไขปัญหาและการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัส นี่เป็นความท้าทายที่ไม่ใช่แค่ของรัฐบาลไทย แต่เป็นความท้าทายของผู้คนในสังคมทุกคน 

 

“ก่อนที่จะพูดถึงการรับมือของการการแพร่ระบาดไว้รัส ขอให้กำลังใจ กับครอบครัวของผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัว ที่ได้รับไวรัส โควิด-19 ขอให้ทุกท่านเข้มแข็งและก็มีกำลังใจในการต่อสู้กับโรคร้ายนี้ และขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกท่านที่กำลังต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสอย่างเต็มที่ ทุกท่านมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทย ไม่ถลำลึกไปในระยะการแพร่ระบาดที่หนักหนาสาหัสกว่านี้” นายธนาธร กล่าว

 

วิเคราะห์แบบจำลองอนาคต - เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์เลวร้ายสุด

 

นายธนาธร กล่าวอีกว่า ข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์จากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้จำลองแบบอนาคตขึ้นมา  3 แบบด้วยกัน แบบแรก คือแบบที่เลวร้ายที่สุด แบบที่ 2 คือแบบความเลวร้ายปานกลาง และแบบสุดท้าย คือ แบบการรับมือที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในกรณีที่เลวร้ายที่สุด จากการประเมินของกระทรวงสาธารณสุข คนหนึ่งคนจะทำให้เกิดผู้ป่วยอีก 2.2 คน ดังนั้น ภายใน 1 ปี เราจะมีผู้ป่วย 16.7 ล้านคน

 

ทั้งนี้ ยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ฉับพลันอีกด้วย การเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ฉับพลัน และตัวเลขที่สูงขนาดนี้ จะทำให้เกิดความตึงเครียดในระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งตนไม่คิดว่าระบบสาธารณสุข อย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบันจะสามารถรับมือกับสถานการณ์แบบนี้ได้ ในสถานการณ์แบบที่ 2 คือสถานการณ์แบบปานกลาง อาจมีผู้ป่วยได้มากถึง 9.9 ล้านคน ภายใน 2 ปี และลำดับสุดท้าย ในสถานการณ์ที่มีการรับมือแบบมีประสิทธิภาพ เราอาจจะมีผู้ป่วยประมาณ 4 แสนคนคน ภายใน 2 ปี เราจะเห็นถึงความแตกต่างของจำนวนผู้ป่วย ขึ้นอยู่กับว่าคนในสังคมรับมือกันอย่างร่วมแรงร่วมใจมากน้อยเพียงใด 
 

 

ในกรณีที่รุนแรงที่สุด เดือนที่เกิดการแพร่ระบาดสูงสุด ก็คือเดือนสิงหาคมและเดือนกันยายน ของปี 2563 ซึ่งผู้ป่วยต่อสัปดาห์สูงสุดอยู่ที่ 1.5 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่มหาศาลมาก และจากข้อมูลทางการแพทย์ ขององค์การอนามัยโลกระบุไว้ว่า 20% ของจำนวนนี้ อาจจะเป็นผู้ป่วยที่ต้องรักษาอยู่ในสถานพยาบาล ซึ่ง 20%  ของ 1.5 ล้านคน คือ 3 แสนคน หมายความว่าหากเกิดสถานการณ์ความรุนแรงที่สุดขึ้น

 

เราจำเป็นจะต้องมีทรัพยากรเพียงพอ ที่จะดูแลผู้ป่วยเฉพาะโควิด-19 ในระบบสาธารณสุขไทยถึง 3 แสนคน ไม่ใช่แค่เฉพาะเตียง เรากำลังพูดถึงเครื่องช่วยหายใจ เรากำลังพูดถึงหน้ากาก ถุงมือ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เรากำลังพูดถึงพื้นที่ที่เพียงพอ เรากำลังพูดถึงยารักษาโรคที่เพียงพอ สิ่งต่างๆเหล่านี้ จะต้องเตรียมการในเวลาอันใกล้ ซึ่งอีกเพียง 6 เดือนเท่านั้นเอง จะถึงจุดสูงสุดในสถานการณ์ที่อาจจะเลวร้ายที่สุด ผมไม่คิดว่าเราจะมีประสิทธิภาพ และศักยภาพเพียงพอที่จะจัดการกับมัน

 

หลีกเลี่ยงพบปะมีต้นทุน - รัฐบาลต้องดูแลผู้มีรายได้น้อย 
 

นายธนาธร กล่าวว่า มาตรการ​การหลีกเลี่ยงการพบปะกับผู้คน ควรจะต้องดำเนิน​ไปพร้อมกับมาตรการการเยียวยา เรามีต้นทุนการหลีกเลี่ยงพบปะกับผู้คน มันมีต้นทุนของการไม่ออกไปทำงาน และในสังคมเราคนที่แบกรับต้นทุนส่วนใหญ่และหนักหนาสาหัส​ ก็คือกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย รัฐบาล​จำเป็นจะต้องออกมาตรการเยียวยากับกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย เพื่อให้เขากระทำมาตรการหลีกเลี่ยงการพบปะกับผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ​ กลุ่มคนรายได้น้อยมักหลายคนอาจไมอยากไปตรวจ หรือจะไม่แสดงตัวเพื่อให้จะได้ไม่ต้องถูกหยุดงาน ดังนั้น รัฐบาล​ต้องมีมาตรการให้กลุ่มคนรายได้น้อยแสดงตัวได้อย่างไม่มีต้นทุน ต้องทำให้คนส่วนใหญ่เข้าสู่ระบบสาธารณสุข​ได้อย่างต้นทุนน้อยที่สุด

 

รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลตรงไปตรงมา - เพื่อให้ ปชช.เตรียมพร้อมรับมือ

 

นายธนาธร กล่าวว่า มาตรการที่ตนได้กล่าวไปนั้น เพื่อเป็นการยับยั้งไม่ให้จากระยะที่ 2 ไปสู่การแพร่ระบาด​ระยะที่ 3 ซึ่งการแพร่ระบาด​ระยะที่ 3 หมายความว่า มีการแพร่ระบาดในท้องถิ่นนั้นๆ และเกินกำลังที่รัฐจะสามารถเข้าไปควบคุมการแพร่ระบาด​ได้ ซึ่งจะนำไปสู่สถานการณ์เลวร้ายสุด เราในฐานะเพื่อนร่วมสังคม เราต้องมีวินัยในการรับผิดชอบคนในสังคม รับผิดชอบต่อคนที่เรารัก รับผิดชอบต่อเพื่อนร่วมงาน และรับผิดชอบต่อครอบครัว เราสามารถเริ่มต้นมาตรการหลีกเลี่ยงการพบปะกับผู้คนด้วยตัวของเราเองได้ และถ้าเราช่วยกัน เราจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์​ที่เลวร้ายที่สุดได้ 

 

 “แม้ประชาชนร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ก็ยังมีโอกาสที่ทำให้การแพร่เชื้อ​ไวรัสเข้าสู่ระยะที่ 3 หากเกิดเหตุ​การณ์​เช่นนั้นจริง ซึ่งเราเห็นตัวอย่างแล้วในประเทศแถบตะวันตก​ ที่จะใช้มาตรการหลักเลี่ยงการพบปะอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นการประกาศภาวะฉุกเฉิน​ ไม่ว่าจะเป็นการปิดสถานที่ หยุดการขนส่งสาธารณะ​ ซึ่งมาตรการ​เหล่านี้​ยังไม่เคยถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวดในประเทศไทย และเราหวังว่าจะไม่เดินไปสู่จุดนั้น แต่ถ้าจุดนั้นมาถึงจริงๆ คิดว่า คงเป็นเวลาที่จะต้องบอกประชาชนอย่างตรงไปตรงมา​ ให้เข้าใจ รับรู้ ไม่ตื่นตระหนก และเพื่อเตรียมพร้อมรบมาตรการ​ต่างๆเหล่านี้ ซึ่งจะกระทบกับพวกเราทุกคน” นายธนาธร กล่าว

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ