ข่าว

รัฐลุย!สู้โควิด-19 ปล่อยสินเชื่อ1.5 แสนล้าน-สธ.พบป่วยเพิ่ม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รัฐลุย!สู้โควิด-19 ปล่อยสินเชื่อ 1.5 แสนล้าน รัฐลุย!สู้โควิด-19 ปล่อยสินเชื่อ 1.5 แสนล้าน-สธ.พบป่วยเพิ่ม ขณะที่สธ.พบป่วยเพิ่ม 3 ราย "สาธิต"ชี้ผีน้อยหนีกักกันเข้ารายงานตัวแล้ว 74 คน "บิ๊กตู่" ยันรัฐบาลทำงานมีเอกภาพ

 

 

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์ความคืบหน้าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ว่า ประเทศอิตาลีมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 2 แซงเกาหลีใต้ โดยพบว่าประเทศแถบยุโรปสถานการณ์น่าเป็นห่วง มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ และพบว่าสถานการณ์ดังกล่าวกระทบต่อประเทศไทย โดยไทยพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก 3 ราย รายที่ 51 เป็นหญิงไทยอายุ 41 ปี ไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศแต่อยู่ใกล้ชิดสัมผัสชายไทย รายที่ 45 ที่แถลงไปแล้วว่าเป็นผู้ป่วยติดเชื้อจากอิตาลี เริ่มป่วยวันที่ 7 มีนาคม มีอาการไข้มาตรวจวินิจฉัยและพบว่าติดเชื้ออาการไม่มาก ทั้งนี้ยืนยันรักษาตัวที่ จ.ชลบุรี

 

ส่วนรายที่ 52 เป็นหญิงอายุ 46 ปี และรายที่ 53 ชายอายุ 47 ปี เป็นสามีภรรยากัน โดยภรรยาเดินทางกลับมาจากอิตาลี ก่อนหน้านี้มีการระวังตัวเองเพราะทราบว่าเดินทางไปประเทศเสี่ยง จึงไม่ได้สัมผัสใคร ยกเว้นคนในครอบครัว เมื่อรู้สึกไม่สบายจึงเริ่มไปตรวจวินิจฉัยพบว่าติดเชื้อมีไข้สูง ปวดเมื่อยร่างกาย ได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาลแล้ว สรุปสถานการณ์ประเทศไทยมีผู้ป่วยรวม 53 ราย รักษาและกลับบ้านได้แล้ว 33 ราย ยังอยู่ในโรงพยาบาล 19 ราย อีก 1 รายเสียชีวิต สำหรับผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ขณะนี้อยู่ที่ 4,682 ราย ในจำนวนนี้อาการดีขึ้นแล้วออกจากโรงพยาบาลได้แล้ว 2,844 ราย ส่วนกรณีกลุ่มคนไทยที่กลับมาจากเกาหลีใต้ (ผีน้อย) กักตัวดูอาการอยู่ฐานทัพเรือสัตหีบ 188 คน เบื้องต้นไม่พบมีอาการเข้าข่าย

 

ส่วนกรณีที่ นพ.พิชญา นาควัชระ รองปลัดกรุงเทพมหานคร(กทม.)ได้รับผู้ป่วยเพศชาย อายุ 21 ปี มีอาชีพเป็นตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เริ่มมีอาการรู้สึกไม่สบายจึงเข้ารับการรักษาตัวเมื่อวันที่ 8 มีนาคม แต่คนไข้มีประวัติน่าสงสัยเพราะทำงานคลุกคลีกับนักท่องเที่ยวเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยง จึงแยกตัวเจาะเลือดผลออกมาเป็นบวก ตอนนี้ทางสธ.ขอตรวจสอบข้อมูลก่อนเพราะยังได้ข้อมูลมาไม่ครบโดยจะมีการแจ้งรายละเอียดอีกครั้ง

 

ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เปิดเผยกรณีแรงงานไทยในเกาหลีใต้ที่เดินทางกลับเมืองไทยว่า ยังมีการเดินทางกลับอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยอมรับว่ามีข้อจำกัดเรื่องสถานที่กักตัว เมื่อเทียบกับปริมาณคนที่เดินทางกลับเพราะที่ฐานทัพเรือสัตหีบไม่เพียงพอที่จะรองรับ จึงจำเป็นต้องกระจายไปตามพื้นที่อื่นๆ และบางส่วนได้นำไปกักกันที่ จ.บุรีรัมย์ แต่ก็ยอมรับว่าสถานที่บุรีรัมย์ไม่มีความพร้อมเท่าฐานทัพเรือสัตหีบ จึงขอโทษที่ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกสบายจนมีการอัดคลิปเล่าถึงสถานการณ์ความเป็นอยู่ในสถานที่กักกัน แต่ก็ได้พยายามปรับปรุง และวันนี้จะพิจารณาสถานที่กักกันเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นที่กำแพงแสน จ.นครปฐม และค่ายทหารเพิ่มเติม


 

 

 

ในส่วนความคืบหน้าการติดตามตัวผีน้อยที่หนีกักกันตัวประมาณ 80 คนนั้น ขณะนี้ได้เข้ามารายงานตัวแล้ว 74 คน ส่วนคนที่เหลืออีก 6 คน จะต้องมารายงานตัวภายในวันนี้ เนื่องจากครบกำหนด 3 วัน และยังไม่จำเป็นต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยติดตามตัวผีน้อยที่ไม่เข้ามารายงานตัว เพราะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบที่อยู่ที่ชัดเจนของบุคคลเหล่านั้น ซึ่งกระจายตัวไปตามจังหวัดต่างๆ โดยอยู่ที่ภาคเหนือ 20 กว่าคน และภาคอีสาน 34 คน ซึ่งคนที่กลับมารายงานตัวแล้วทางเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรคได้ติดตามและสอบสวน​ย้อนหลังทั้งหมดทั้งคนใกล้ชิดและคาดว่าจะสัมผัสกับคนที่เสี่ยงจะติดเชื้อ พร้อมยืนยันว่ายังไม่พบใครติดเชื้อ

 

รมช.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า สำหรับหน้ากากอนามัยที่ สธ.ได้รับการจัดสรรจากกระทรวงพาณิชย์ 360,000 ชิ้นต่อวัน โดยผู้ตรวจราชการ สธ. เป็นผู้จัดสรรและกระจายไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดเรียบร้อยแล้ว แต่ยังมีบางพื้นที่ที่ยังล่าช้า คาดว่าอย่างช้าไม่เกินวันพฤหัสบดีนี้ เพื่อให้เพียงพอต่อบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนพื้นที่ใดไม่เพียงพอจะต้องรีบแจ้งมายัง สธ. เพื่อพิจารณาการจัดสรรเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะต้องขอส่วนแบ่งจากสัดส่วนที่จะต้องกระจายให้แก่ประชาชน

 

ขณะที่ นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัด สธ. กล่าวว่า แรงงานไทยนอกระบบกลับจากเกาหลีใต้ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี ขณะนี้มีจำนวน 188 คน เป็นผู้ชาย 88 คน และผู้หญิง 100 คน มาจากเมืองที่มีการระบาดมาก คือแทกู และคยองซังเหนือ 8 คน มีกลุ่มที่ต้องดูแลพิเศษ 20 คน การคัดกรองไม่พบผู้ป่วย

 

เวลา 15.10 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงหลังการประชุมครม.ถึงการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า รัฐบาลมีความตั้งใจมุ่งมั่นในการแก้ปัญหานี้ให้ได้ ถ้าจะบอกว่ารัฐบาลทำไม่สำเร็จ ทำมาไม่ดีสักอย่าง เจ้าหน้าที่ก็หมดกำลังใจ ส่วนการดำเนินการเป็นไปตามลำดับสถานการณ์ หากเปรียบเทียบกับหลายประเทศ ตอนแรกๆ บางประเทศไม่พบติดเชื้อเลย แต่วันนี้วันเดียวพบ 200-700 คน ประเทศเราไม่ขึ้นมาก ยังไม่มีตายมาก ต้องชื่นชมการทำงานของบุคลากรทุกส่วน

 

“วันนี้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ทำเนียบรัฐบาลซึ่งผมบัญชาการที่ผ่านมาก็กล่าวหาว่านายกฯ ไม่ให้ความสนใจ แล้วจะเอาอย่างไร ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้วให้ถูกใจทุกคน ถ้าสื่อไม่เข้าใจประชาชนก็ไม่เข้าใจทั้งหมดส่วนเรื่องหน้ากากอนามัยทางกระทรวงมหาดไทยให้ท้องถิ่นผลิตหน้ากากผ้า 50 ล้านชิ้นนั้น จะส่งถึงมือประชาชนอย่างแน่นอน อย่างน้อยได้คนละ 1 ชิ้น นอกจากนี้ยังให้กระทรวงอุตสาหกรรมผลิตหน้ากากผ้าเพิ่มอีก 20 ล้านชิ้น โดยหน้ากากผ้ากระทรวงสาธารณสุขยืนยันแล้วว่าป้องกันได้” นายกฯ กล่าว และว่า วันนี้รัฐบาลได้ให้นโยบายไปคือจัดตั้งโรงงานทำหน้ากากอนามัยแบบครบวงจร ซึ่งมีบริษัทใหญ่ๆ เสนอเข้ามาแล้ว ซึ่งไม่ได้มีเจ้านี้เจ้าเดียวให้ดูเจ้าอื่นด้วยเดี๋ยวจะหาว่าเอื้อประโยชน์กันอีก

 

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นไว้ใจระบบสาธารณสุขของไทย การเสพโซเชียลอะไรต่างๆ บางทีไม่ใช่ข้อเท็จจริง ซึ่งให้มาตรการไปแล้วให้จับกุมทุกเรื่อง ทั้งการกักตุนหน้ากากและการเดินทางเข้ามาในประเทศแล้วไม่แจ้ง หรือหลบหนีกระบวนการต่างๆ หากหลีกเลี่ยงต้องลงโทษทั้งจำและปรับ

 

นายกฯ กล่าวตอนหนึ่งว่า ขอชมเชยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จนได้สั่งการไปแล้วให้ดูแลเป็นพิเศษ ให้มีค่าเสี่ยงภัย ส่วนเรื่องรับบริจาคไม่ใช่เงินไม่พอแต่มีการเสนอมาในครม.ว่า ครม.ควรจะบริจาคดีหรือไม่ ซึ่งเห็นว่าดี และเพิ่งเริ่มบริจาคกันในวันนี้ ยืนยันว่าไม่ได้นำมาใช้อย่างอื่นเลยเก็บไว้เป็นก๊อกสองในการดูแลแพทย์พยาบาล รวมถึงวิกฤติการณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาชน

 

เมื่อถามว่ากรณีผีน้อยที่ถูกกักตัวตั้งวงดื่มสุรา นายกฯ กล่าวว่า สั่งให้ติดตามแล้ว พวกก๋ากั่น ทราบว่าเป็นที่ชลบุรี นี่คือสิ่งที่เราต้องบอกและขอร้องกัน ส่วนคนที่หลบหนีไม่ยอมกักตัวที่บ้านขอให้แจ้งมา เรามีมาตรการลงโทษอยู่แล้ว ทั้งนี้ นายกฯ ย้ำว่ารัฐบาลทำงานเป็นเอกภาพ ไม่อยากให้มายึดโยงกับสถานการณ์ทางการเมือง เราต้องแก้ปัญหาตรงนี้ก่อน

 

วันเดียวกัน นายธัชกร หัตถาธยา ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ชี้แจงกรณีสาวไทยถูกกักตัวที่บุรีรัมย์ได้โพสต์ถึงความไม่พร้อมของสถานที่ ต้องกางเต็นท์นอน อากาศร้อน และเกรงว่าจะมาติดเชื้อรวมกันว่า ก่อนหน้านี้ประธานสโมสรบุรีรัมย์ยูไนเต็ดรับอาสาให้ใช้สถานที่กักตัวผีน้อยเพราะมีรั้วรอบขอบชิดและมีบริเวณกว้างพอ ซึ่งผีน้อยในบุรีรัมย์จะมี 20-30 คนที่จะเดินทางมาในครั้งนี้ ทางสนามก็ได้เตรียมห้องพักไว้ 60 ห้อง แต่ปรากฏว่าได้รับรายงานมาอีกว่า แรงงานไทยที่ผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ทั้งหมด 186 คนซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ทั่วประเทศ จะต้องเดินทางมาที่บุรีรัมย์ทั้งหมด เพื่อรอการคัดแยกส่งต่อไปยังภูมิลำเนาแต่ละจังหวัด ทางจังหวัดมีเวลาเตรียมการไม่ถึงวันจึงจำเป็นต้องใช้เต็นท์มากางเป็นที่นอนแก้ไขปัญหาเบื้องต้นก่อน ซึ่งตอนนี้กำลังคัดแยกแรงงานแล้วจะทำการขนส่งแรงงานไปบ้านเกิดแต่ละจังหวัด ซึ่งแต่ละจังหวัดได้เตรียมสถานที่ไว้แล้ว คาดว่าจะเริ่มส่งแรงงานได้ในวันที่ 11 มีนาคมนี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ในนามตัวแทน จ.บุรีรัมย์ ต้องขอโทษแรงงานไทยในเกาหลีที่ไม่ได้รับความสะดวกในคืนแรกเพราะเป็นกรณีฉุกเฉิน แต่หลังจากนี้จะดูแลให้อย่างดีและได้เข้าไปทำความเข้าใจกับแรงงานทั้งหมดแล้ว

 

มีรายงานข่าวจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(สตม.) แจ้งว่า มีกลุ่มผีน้อยได้ทยอยเดินทางกลับไทย โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พบว่ามีจำนวน 216 ราย และจากการตรวจสอบคัดกรองที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มียอดส่งกลับ 138 ราย สงสัยติดเชื้อเนื่องจากมีไข้สูง 2 ราย และได้นำตัวส่งโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อตรวจสอบหาเชื้อ ส่วนท่าอากาศยานดอนเมือง มียอดส่งกลับ 78 ราย ไม่พบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ และที่ท่าอากาศยานสนามบินภูเก็ตไม่พบว่ามีส่งกลับ ทั้งนี้จากข้อมูลมีกลุ่มผีน้อยเดินทางกลับไทย ตั้งแต่วันที่ 2-9 มีนาคม ทั้งหมด 1,716 ราย กักตัวในพื้นที่ตามที่รัฐบาลจัดไว้ให้เป็นเวลา 14 วัน จำนวน 357 ราย กักตัวอยู่ที่บ้านเพื่อเฝ้าระวังเป็นเวลา 14 วัน จำนวน 1,284 ราย มีไข้จำนวน 75 ราย ไม่พบการติดเชื้อ 58 ราย และรอผลการตรวจอีก 17 ราย

 

ด้านการต่อต้านของชุมชนรอบสถานที่กักตัวยังมีต่อเนื่อง ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.มุกดาหาร เมื่อค่ำวานนี้ (9 มี.ค.) มีชาวบ้านด่านคำกว่า 150 คน กางเต็นท์ปิดทางเข้า-ออกอาคารรวมใจของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หลังทราบข่าวจะผีน้อยมากักตัวนาน 14 วัน โดยเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย โดยชาวบ้านได้นำขอนไม้ กิ่งไม้ และป้ายข้อความคัดค้าน และยังจัดเวรยามเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง โดยเหตุการณ์ดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองมุกดาหาร เข้ามาดูแลความสงบเรียบร้อย

 

ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนมาตรการช่วยผลไม้ไทยสู้ภัยโควิด-19 ว่าเป็นความร่วมมือของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนที่คาดการณ์ว่าผักผลไม้จะมีทุกชนิด 3 ล้านตัน โดยเริ่มออกตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป จึงลงนามเอ็มโอยูของหน่วยงานต่างๆ กับ 40 องค์กร อาทิ ตั้งศูนย์รวบรวมผลไม้ที่จันทบุรี, ระบบการกระจายผลไม้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ, กระจายผลไม้ด้วยระบบออนไลน์ และจัดคาราวานผลไม้ไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่รวมมาเลเซียด้วย รวมทั้งมาตรการเรื่องสภาพคล่องในการช่วยผู้ส่งออกชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 เป็นเวลา 6 เดือน และสหกรณ์การเกษตรที่รวบรวมผลไม้ในประเทศจะช่วยดอกเบี้ยร้อยละ 3 เป็นเวลา 10 เดือน มีวงเงินทั้งหมด 1,000 ล้านบาท นอกจากนี้สมาคมตลาดกลาง สมาคมผู้ค้าส่ง มีการบริการให้กรมการค้าภายในช่วยสนับสนุนในการส่งออกต่อไป รวมถึงจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังผลกระทบจากสินค้าการเกษตรที่เกิดจากไวรัสโควิด-19

 

 

ครม.ไฟเขียว บิ๊กแพ็กเกจ1.5แสนล้านสู้ไวรัสโควิด-19

 

วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ครม.เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ และประชาชน ที่ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนาชุดที่ 1 ซึ่งเป็นมาตรการชั่วคราว ใต้หลักการตรงเป้าหมายจำเป็น

 

โดยมาตรการทางการเงิน ครม.เห็นชอบมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟท์โลน ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของไวรัสโคโรนา โดยเตรียมวงเงินไว้ 150,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อย กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ 2% ระยะเวลา 2 ปี วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท/รายมาตรการพักเงินต้น ลดดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ แก่ลูกหนี้ ดำเนินการโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) เช่น ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และบสย.

 

มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้หารือกับธนาคารพาณิชย์เพื่อผ่อนปรนหลักเกณฑ์ในการอำนวยสินเชื่อของสถาบันการเงิน เพื่อให้สามารถอำนวยสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งธปท.ได้ออกประกาศมาแล้วมาตรการเสริมจากสำนักงานประกันสังคม

 

โดยเตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไว้ในวงเงิน 30,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้น 3% ในระยะเวลา 3 ปี ให้กู้แก่ผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานประกันสังคม“ดังนั้นจะมีสินเชื่อทั้ง 1.5 แสนล้าน ประกันสังคมให้อีก 3 หมื่นล้าน ซึ่งเป็นเงินของประกันสังคมเอง ไม่ได้ใช้งบประมาณ “

 

รมว.คลัง กล่าวถึง มาตรการทางภาษีว่า มาตรการแรกคือ มาตรการคืนสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการในประเทศ ได้แก่ 1.มาตรการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กับผู้ประกอบการเป็นการชั่วคราว เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ จาก 3% เหลือ 1.5% เริ่มเม.ย. – ก.ย. 63

2. มาตรการภาษีเพื่อลดดอกเบี้ยจ่ายให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการสินเชื่อพิเศษ 1.5 แสนล้านบาท ด้วยการให้นำไปลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า ให้ใช้สำหรับรายจ่ายค่าดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นระหว่าง 1 เม.ย. – 31 ธ.ค. 63

3. มาตรการส่งเสริมเสถียรภาพการจ้างงานที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา โดยให้สถานประกอบการนำรายจ่าย ค่าจ้างลูกจ้างในธุรกิจที่เป็นผู้ประกันตัน มาหักรายจ่ายได้ 3 เท่า ตามเกณฑ์และวิธีการที่สรรพากรจะกำหนดขึ้นมา

4. การเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศให้เร็วขึ้น เฉพาะผู้ประกอบการที่ดี โดยหากเป็นผู้ที่ยื่นแบบชำระภาษีทางอินเตอร์เน็ต จะคืนให้ภายใน 15 วัน ส่วนการยื่นที่สำนักงานสาขาของสรรพากร จะคืนให้ภายใน 45 วัน

นายอุตตม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่นๆเช่น 1. มาตรการบรรเทาการจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ, การคืนเงินประกันค่าใช้ไฟฟ้า หรือ ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งจะมีการพิจารณาเงื่อนไขเหมาะสมต่อไป

2. กองทุนประกันสังคม ให้ลดการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ ทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งประกันสังคมและกระทรวงแรงงานจะไปหารือกันในรายละเอียดต่อไป ซึ่งอาจจะมีระยะเวลา 3 หรือ 6 เดือน

3. มาตรการบรรเทาภาระค่าธรรมเนียม ค่าเช่า ค่าตอบแทนในรูปแบบต่างๆ ของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เช่น การลด ชะลอ การเก็บค่า ค่าธรรมเนียม อาทิ ค่าเช่าพื้นที่ราชพัสดุ ซึ่งกรมธนารักษ์จะพิจารณาลดค่าเช่าให้

4. มาตรการช่วยเหลือตลาดทุน โดยให้ผู้ที่ซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) สามารถนำไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นการชั่วคราวได้เพิ่มอีก 2 แสนบาท ดังนั้นจาก 2 แสนบาทเดิมก็จะเป็น 4 แสนบาท สำหรับเงินลงทุนในระยะเวลาตั้งแต่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.63 โดยอาจจะพิจารณาขยายเวลาให้อีกหากมีความจำเป็นในอนาคต

นอกจากนี้ครม.ยังพิจารณาให้มีการกำหนดวงเงิน 2 หมื่นล้านบาทสำหรับเตรียมความช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโคโรนา อาทิ จากการถูกเลิกจ้างงาน หรือ สถานประกอบการที่กระทบ พนักงานทำงานไม่เต็มที่ การเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากร ก็จะเป็นวงเงิน 2 หมื่นล้านบาทในขั้นต้น ซึ่งกระทรวงการคลังจะหารือกับสำนักงบประมาณในการกำหนดรูปแบบวงเงินนี้และขอบเขตการใข้ให้ครอบคลุม ซึ่งในหลักการครม.ได้อนุมัติแล้ว เพื่อเป็นกองเงินไว้ใช้จ่ายได้ตามความจำเป็น

“ซึ่งกระทรวงการคลังก็จะไปเขียนขอบเขตในการดูแล ซึ่งไม่ใช่การแจก ต้องดูไม่ใช่อยู่ดีดีไปแจก อะไรเข้าเกณฑ์ว่าได้รับผลกระทบอย่างไร”นายอุตตม กล่าว และว่า ครม.ยังมีมติ เห็นชอบยกเว้นอากรขาเข้า ของการนำเข้าวัสดุที่เกี่ยวกับหน้ากากอนามัย ก็จะยกเว้นให้เป็นเวลา 6 เดือน"

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ