ข่าว

ผู้ว่าแบงก์ชาติ ชำแหละ 5 ปัญหาทำไทยย่ำอยู่กับที่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ดร.วิรไท ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สะท้อน 5 ปัญหาทำไทยย่ำอยู่กับที่ พร้อมเสนอ 5 แนวทางพัฒนา เชื่อช่วยชีวิตเศรษฐกิจไทย อัดนโยบายช่วยเหลือแบบให้เปล่าซ้ำเติมภาคผลิตไทยให้ตกต่ำ

 

                  ไม่นานมานี้ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษ “Productivity หัวใจสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย” ในงานสัมมนา ครบรอบ 25 ปี สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ โดยพูดถึงปัญหาเศรษฐกิจและข้อเสนอแนะไว้อย่างน่าสนใจ โดยผู้ว่าแบงก์ชาติ เริ่มด้วยการพูด 5 ปัญหาด้านผลิตภาพที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ว่า

 

 

 

                  1. ผลิตภาพโดยรวมหรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า total factor of productivity (TFP) ของเศรษฐกิจไทยค่อนข้างต่ำและไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ในขณะที่ประเทศอื่นมีพัฒนาการด้านผลิตภาพไปเร็วกว่าเรามาก ตัวอย่างเช่นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ผลิตภาพของไทยอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับมาเลเซีย สูงกว่าอินเดีย ร้อยละ 40 แต่ปัจจุบันมาเลเซียเพิ่มสูงกว่าไทยถึงร้อยละ 30 ขณะอินเดียปรับมาเทียบเท่าผลิตภาพของไทยแล้ว

                  2. แรงงานจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ของแรงงานไทย 38 ล้านคน อยู่ในภาคการเกษตรที่มีผลิตภาพต่ำและเติบโตชะลอลง ปัจจุบันผลิตภาพในภาคการเกษตรของไทยเพิ่มขึ้นช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน อินโดนีเซีย อินเดีย หรือเวียดนาม นอกจากนี้การเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคการเกษตรไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่นที่มีผลิตภาพสูงกว่ายังทำได้ยาก เพราะส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร ขาดการพัฒนาทักษะทางอุตสาหกรรมและบริการ

                  3. ช่องว่างของผลิตภาพระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบการ SME กว้างขึ้นในหลายอุตสาหกรรม ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการ SME ไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ เกิดปรากฏการณ์ปลาใหญ่กินปลาเล็กรุนแรงขึ้น เมื่อธุรกิจ SME ซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจไทยไม่สามารถแข่งขันได้ ค่าจ้างแรงงานจะถูกกดให้อยู่ในระดับต่ำ ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

                  4. ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับกฎเกณฑ์ข้อบังคับของทางการที่ซ้ำซ้อนหรือล้าสมัย งานวิจัยของ TDRI พบว่าทุกวันนี้เรามีกฎระเบียบข้อบังคับกว่า 100,000 ฉบับ และกฎระเบียบจำนวนมากไม่สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจในโลกปัจจุบันและโลกใหม่ที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

                  5. นโยบายของภาครัฐหลายเรื่องที่สะสมต่อเนื่องมาจากอดีต ไม่เอื้อต่อการพัฒนาผลิตภาพของผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ ตัวอย่างเช่น นโยบายที่ไม่ส่งเสริมการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจไทย เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผลิตภาพในหลายอุตสาหกรรมอยู่ในระดับต่ำ เพราะผู้ประกอบการที่มีอำนาจผูกขาดไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนา ประสิทธิภาพการผลิตหรือคิดค้นนวัตกรรม ในหลายกรณี การประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจหรือกฎเกณฑ์จากภาครัฐเองส่งเสริมให้เกิดการผูกขาด ทำให้ผู้ประกอบการเพียงไม่กี่ราย มีอำนาจเหนือตลาด เช่น กฎเกณฑ์กำหนดการลงทุนและกำลังการผลิตขั้นต่ำของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเบียร์ ทำให้โรงเบียร์ขนาดเล็กไม่สามารถจัดตั้งได้ เป็นต้น

                  “อย่างนโยบายภาครัฐที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาผลิตภาพอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ นโยบายให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าไปเรื่อยๆ ทั้งในภาคเกษตรกรรมและภาคธุรกิจ ที่ไม่สร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตยกระดับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น หรือเปลี่ยนไปผลิตสินค้าอื่นที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า ยิ่งไปกว่านั้นนโยบายบางอย่างกลับสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตเน้นเรื่องปริมาณมากกว่าคุณภาพ เช่น นโยบายรับจำนำข้าวแบบไม่จำกัดปริมาณ ส่งผลให้เกษตรกรเลือกปลูกข้าวคุณภาพต่ำที่มีระยะเวลาเก็บเกี่ยวสั้น เพราะได้ปริมาณผลผลิตสูง สามารถนำไปจำนำและรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลได้มากกว่า”

 

 

 

                  ทั้งนี้ ดร.วิรไท ยังเสนอ 5 แนวทางเร่งพัฒนาผลิตภาพของเศรษฐกิจไทย

                  1. การเพิ่มผลิตภาพต้องทำอย่างทั่วถึง เน้นผู้ประกอบการรายย่อยและแรงงานทักษะต่ำที่ขาดโอกาส พัฒนาผลิตภาพ ทำให้ความเป็นอยู่ของคนไทยโดยรวมดีขึ้น เราจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ก็ต่อเมื่อ ผลิตภาพโดยรวมของประเทศไม่ได้สูงขึ้นจากการเพิ่มผลิตภาพในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่กลุ่มคนที่มีฐานะดี หรือแรงงานทักษะสูงเท่านั้น แต่จะต้องกระจายโอกาสไปสู่ธุรกิจ SME และแรงงานส่วนใหญ่ด้วยโอกาส

                  2. ต้องอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นหัวใจของการเพิ่มผลิตภาพ โดยเฉพาะผลิตภาพของภาคเกษตร และผู้ประกอบการ โดย e-commerce ช่วยให้สามารถขายสินค้าออกไปนอกท้องถิ่นของตนเอง เพิ่มยอดขาย กำไร และประสิทธิภาพของธุรกิจ และทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้มากขึ้น ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นผ่านแพลตฟอร์มการให้กู้ยืมออนไลน์ ช่วยให้ผู้ประกอบการและแรงงานสามารถจับคู่กันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

                  3. ภาครัฐต้องเร่งลดอุปสรรคต่างๆ เพิ่มผลิตภาพในกระบวนการทำงานของภาครัฐ และส่งเสริมการทำงาน ของระบบตลาด เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของธุรกิจไทยและการใช้ชีวิตของคนไทย มีผลิตภาพสูงสุด ภาครัฐต้องส่งเสริมให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม ระหว่างธุรกิจเอกชนด้วยกันเอง และระหว่างธุรกิจเอกชน กับรัฐวิสาหกิจด้วย

                  4. ภาครัฐจะต้องสร้างระบบแรงจูงใจให้เหมาะสมเพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจและประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้สอดคล้องกับสภาวะของโลกใหม่ และให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพ ภาครัฐควรหลีกเลี่ยงการออกมาตรการที่ไม่เอื้อต่อการยกระดับผลิตภาพของประเทศโดยไม่จำเป็น หากมีการให้เงินอุดหนุนควรมีเงื่อนไขหรือแรงจูงใจให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทิศทางที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์สำหรับอนาคต โดยเฉพาะการเร่งเพิ่มผลิตภาพ

                  5. การตระหนักว่าการเพิ่มผลิตภาพสามารถทำได้ในทุกระดับ และไม่จำเป็นต้องเป็นโครงการที่ต้องลงทุนสูงเท่านั้น ในหลายกรณีการเพิ่มผลิตภาพมีต้นทุนต่ำมากหรืออาจจะแทบไม่มีต้นทุนเลยด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่ได้รับ ให้ความสำคัญกับการยกเลิกกฎเกณฑ์ของภาครัฐที่ล้าสมัยหรือเป็นอุปสรรค ไม่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ