ข่าว

ภาครัฐ-สื่อ ร่วมถอดบทเรียนวิกฤตโคราช ไม่ชัวร์อย่าแชร์ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ถอดบทเรียนโคราช รัฐ สื่อ ประชาชนผู้เสพสื่อ ต้องจับมือยกระดับมาตรฐาน ไม่ชัวร์อย่าแชร์  เห็นพ้องให้มีกฎหมายกำกับสื่อออนไลน์เช่นเดียวกับวิทยุ โทรทัศน์ ย้ำเนื้อหาดีดูดโฆษณาได้ดีกว่าเรตติ้ง  คาดสถานการณ์ดีขึ้นหลังบังคับใช้พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล

 

 

                 โรงแรมเซนทาราแกรนด์- 18 ก.พ.2563-ถอดบทเรียนโคราช รัฐ สื่อ ประชาชนผู้เสพสื่อ ต้องจับมือยกระดับมาตรฐาน ไม่ชัวร์อย่าแชร์  เห็นพ้องให้มีกฎหมายกำกับสื่อออนไลน์เช่นเดียวกับวิทยุ โทรทัศน์ ย้ำเนื้อหาดีดูดโฆษณาได้ดีกว่าเรตติ้ง  คาดสถานการณ์ดีขึ้นหลังบังคับใช้พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล  ละเมิดปรับแรงครั้งละ 5 แสน "พุทธิพงษ์" ยันไม่ออกกฎหมายเพิ่มอำนาจรัฐ-ริดรอนสิทธิ


 

 

 

 

ภาครัฐ-สื่อ ร่วมถอดบทเรียนวิกฤตโคราช ไม่ชัวร์อย่าแชร์ 

 

              กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสถาบันอิศรา ร่วมจัดเวทีระดมความคิดเห็นเรื่อง "รู้เท่าทัน วางกฎเหล็ก Mass Shooting สังหารหมู่ซ้ำบนสื่อทีวี-ออนไลน์" เพื่อหาแนวทางในการกำหนดมาตรการกำกับดูแลและสร้างกติกาให้กับสื่อมวลชนทุกแขนง และสร้างการเรียนรู้ให้กับสังคมและประชาชนทั่วไป จากเหตุกราดยิงประชาชนที่ห้าง เทอร์มินอล 21 จ.นครราชสีมา

 

                  นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย หลังเหตุการณ์จบลงแล้วสื่อออกมาปกป้องและอธิบายตัวเอง  ตนเชื่อว่าสื่อมีจรรยาบรรณ แต่ในบางสื่อ ไม่ใช่สื่อแค่มีคนติดตามมากจึงไปลงทะเบียนกับบริษัทเอกชนแล้วเรียกตัวเองว่าเป็นสื่อ

 

 

               วันนี้ประเทศทั่วโลกไม่มีประเทศใดควบคุมเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์  ตนเป็นรัฐมนตรีคนแรกที่เดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อขอหารือกับผู้บริหารเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และยูทูป จะควบคุมสื่อที่บิดเบือนข้อเท็จจริงได้อย่างไร เพราะเป็นแพลตฟอร์มของเอกชนที่รัฐเข้าไปสั่งปิดไม่ได้ ทำได้อย่างเดียวคือขอความร่วมมือ หลังจากนี้ต้องหารือกันว่าจะเลือกอะไร ระหว่างการออกกฎหมายควบคุมสื่อกับการห้ามลิดรอนเสรีภาพการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน  

 

 

             

 

ภาครัฐ-สื่อ ร่วมถอดบทเรียนวิกฤตโคราช ไม่ชัวร์อย่าแชร์ 

 

 

 

            ยืนยันว่าหากมีการแก้ไขกฎหมายจะไม่เป็นการเพิ่มอำนาจภาครัฐและกระทรวงดิจิทัล แต่กฎหมายต้องเกิดจากความต้องการอย่างแท้จริงของประชาชน  หลังจากนี้หากเกิดเหตุการณ์วิกฤตหรือภัยพิบัติ ต้องมีผู้บัญชาการเหตุการณ์และผู้บัญชาการด้านการสื่อสาร เช่นเดียวกับเหตุการณ์ถ้ำหลวง สื่อห้ามเข้าไปเจาะข่าวรายงานเหตุการณ์ เผยแพร่ข่าวและภาพ สื่อใดที่นำภาพผู้เสียหายหรือญาติไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตถูกฟ้องดำเนินคดีได้ นอกจากนี้ยังขอฝากให้ผู้ปกครองสอดส่องดูแลการ การซื้อขายในออนไลน์ โดยเฉพาะสินค้าที่เด็กเยาวชนไม่ควรเข้าถึง และเด็กควรใช้เวลาที่เหมาะสมในการอยู่กับมือถืออย่างไร

 

              นายพีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกสทช. กล่าวว่า หากต้องการแก้ปัญหา ต้องทบทวนระบบการแข่งขันของทีวีในระบบทุนนิยม เราเก็บเงินค่าประมูลแพงแล้วให้สื่อไปหากินเองเขาก็ต้องหาเครื่องมือสร้างเรตติ้ง จะเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลต้องอุดหนุนงบประมาณคล้ายกับการสนับสนุนสถานีไทยพีบีเอส  เพื่อให้สื่อผลิตเนื้อหารายการที่มีคุณภาพ กรณี 3 รายการข่าวที่ลละเมิดกฎห้ามรายงานสดเหตุการณ์โคราช ยืนยันว่ามีโทษแน่นอน เพราะจากประวัติเก่าเคยถูกตักเตือนมาแล้ว

 

 

           ดร.สุภาพร โพธิ์แก้ว รักษาการผอ.การสถานีวิทยุจุฬา กล่าวว่า เวทีถอดบทเรียนต้องการให้เกิดการบริหารจัดการโดยที่ไม่ต้องไปลงโทษใครในภายหลัง เหตุโคราชปฏิบัติการยกระดับไปแล้ว แต่ในมิติของการสื่อสาร รัฐไม่ได้ประกาศให้เป็นการสื่อสารในภาวะวิกฤต สื่อจึงปฏิเสธการแข่งขันไม่ได้ ในภาวะวิกฤตคนที่ต้องได้รับการปกป้องลำดับต้นๆคือเหยื่อ และญาติพี่น้องของเหยื่อที่อยู่ในสภาวะจิตตก  เมื่อไม่มีประกาศภาวะวิกฤตเราผลักประชาชนทั้งหมดเข้าไปเป็นกองเชียร์  ไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเข้าร่วมในปฏิบัติการ  เหยื่อที่ติดอยู่ในห้างเทอร์มินอล 21 แม้ไม่บาดเจ็บแต่ทุกคนต้องได้พูดคุยกับจิตแพทย์ก่อนกลับบ้าน  สำหรับคนทำงานสื่อในภาวะปกติต้องการเสรีภาพอย่างกว้างขวาง แต่ถ้ามีประกาศภาวะวิกฤตจะไม่มีการถ่ายทอดสดหรือรายงานสด

 

              นายไตรลุจน์ นวมะรัตน์ นายกสมาคมมีเดียเอเยนซีธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เหตุการณ์โคราชส่งผลกระทบต่อสมาพันธ์ฯ ที่ผ่านมาเราแก้ตรงปลายทางเสมอ  แตกต่างจากกรณีไวรัสโคโรนาระบาด ซึ่งเราได้รับแนวทางจากประเทศจีน โดยจัดตั้งเพรสเซ็นเตอร์บล็อกข้อมูลเพื่อไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก  การนำเสนอข่าวโคโรนา โคราช หรือถ้ำหลวง เราเรียนรู้และถอดรหัสบทเรียนทุกครั้ง เรามีกรอบจรรยาบรรณ เพียงแต่หลงลืมตัวเอง เพราะต้องสร้างเรทติ้ง  ยืนยันว่าวินัยของสื่อต้องชัดเจนว่าจะกลั่นกรองและตรวจสอบข้อมูลข่าวอย่างไร ขณะเดียวกันยังมีประเด็นวินัยของผู้รับสื่อด้วย  "ไม่ชัวร์อย่าแชร์" ถ้ามีกรอบกติกาชัดเจนเมื่อเกิดวิกฤตจะช่วยลดปัญหาและลดกระแสลงได้

 

                 "เรทติ้งเป็นหัวใจของคนดู  กรณีโคราชเนื้อหาข่าวออกมาในแง่ลบ เป็นการทำสงครามของสื่อเพื่อแย่งคนดูและคนฟัง อาวุธคือเนื้อหา ใครเนื้อหาดีกว่าก็คาดว่าจะได้คนดูเยอะกว่า บางช่องจึงรายงานเหมือนอยู่ในสงคราม จนถูกวิจารณ์ว่าดรามาและโอเวอร์เกินไป  เมื่อมีคนดูโฆษณาจะเข้ามาก วันนี้มีทีวี 17 ช่อง มีการกระจายโฆษณาออกไปในหลายช่อง แต่ถ้าเนื้อหาไม่ถูกต้องเรทติ้งก็ไม่ใช่เครื่องตัดสิน 100% ว่าจะได้โฆษณา  ในอนาคตคาดหวังให้มีการขีดเส้นแบ่งให้ชัดถึงคุณภาพสื่อ รวมถึงการควบคุมสื่อออนไลน์และตัวผู้สื่อข่าวด้วย นอกจากบัตรนักข่าวที่นำมาแสดง เราจะตรวจสอบได้อย่างไรว่าเป็นนักข่าวจริง  คนที่ได้บัตรมาแล้วถูกถอดถอนออกไปแล้วหรือไม่" นายไตรลุจน์กล่าว

 

 

                นายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์กล่าวว่า เมื่ออินเตอร์เน็ตเข้าถึงคนทั้งประเทศ ทำให้สื่อออนไลน์กลายเป็นสื่อกระแสหลักบนออนไลน์  ผู้บริโภคต้องทำความเข้าใจระหว่างเพจที่ถูกใจกับเพจที่ถูกต้องแตกต่างกัน สื่อออนไลน์ 60%จะเสพสื่อออนไลน์ที่เป็นสำนักข่าวของสื่อหลัก เช่น ไทยรัฐ ข่าวสด คมชัดลึก  อีก 40% เลือกเสพสื่อที่ถูกใจ ภายในเดือนพ.ค.นี้ จะมีการประกาศใช้พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล  สื่อใดนำคลิปภาพการขับรถผิดกฎหมาย ภาพการทะเลาะกันข้างถนน ที่ไม่เบลอหน้าจนสามารถระบุตัวตนได้ มีโทษปรับ 5 แสนบาท และเพื่อเป็นเกณฑ์ควบคุม สำนักข่าวออนไลน์ต้องมีการายงานข่าว 50 ชิ้นต่อวัน  และบรรณาธิการสำนักข่าวออนไลน์ต้องมีตัวตนในสภาวิชาชีพ สื่อใหม่

 

 

               นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า เหตุการณ์โคราชถูกยกระดับจากอาชญากรรมทั่วไปขึ้นมาเป็นอาชญากรรมระดับ 3 เกือบเทียบเท่าก่อการร้าย นักข่าวที่ลงพื้นที่หลายคนยังเป็นคนรุ่นใหม่ กองบรรณาธิการก็สมควรต้องยกระดับ กำหนดตัวบก.เหตุการณ์  หากเจ้าหน้าที่ยกระดับเหตุการณ์ทันทีการกันพื้นที่จะได้ระยะที่ไกลกว่า เจ้าหน้าที่ต้องให้ข่าวอย่างเท่าเทียมกัน อย่าเลือกใช้เครื่องมือพิเศษของบางสื่อเข้าไปทำงานในสถานการณ์  เพราะทุกสื่อต่างต้องแย่งชิงกัน  ขณะที่ในต่างประเทศกำหนดกติกาชัดเจนไม่ให้หน่วยราชการถ่ายทอดสดปฏิบัติการในสถานการณ์รุนแรง  ส่วนประเด็นดรามาสัมภาษณ์เหยื่อจากเหตุการณ์นั้น ขอชี้แจงว่ากรณีถ้ำหลวงรัฐออกกฎห้ามสื่อสัมภาษณ์เยาวชนกลุ่มหมูป่าเด็ดขาด แต่ในกรณีโคราชรัฐไม่ได้ประกาศห้าม

   

 

             พ.อ.หญิงนวพร หิรัญวิวัฒนกุล ประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เหตุการณ์โคราชส่งผลกระทบโดยตรงต่อเหยื่อ หลังถูกช่วยชีวิตออกมาเหตุการณ์จะติดอยู่ในหัว ความกลัว กังวล ตื่นตระหนก จะเกิดขึ้นต่อเนื่องนานนับสัปดาห์ บางรายอาจเกิดภาวะโรคเครียดฉับพลัน บางครอบครัวที่สูญเสียร้ายแรง ซึ่งทีมจิตแพทย์และทีมงานสุขภาพจิตจะเฝ้าติดตามตลอด 1 ปี  ในส่วนของสื่อมีอาวุธอยู่ในมือ สร้างผลกระทบได้ทั้งแง่บวกและแง่ลบ การฟังข่าวซ้ำๆอาจทำให้เกิดการเลียนแบบหรือภาวะซึมเศร้า    

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ