ข่าว

จบมหากาพย์คดีที่ดินอัลไพน์ "ยงยุทธ" รับโทษ 2 ปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ยงยุทธ" คอตกเข้าคุก ศาลไม่อนุญาตฎีกา จบมหากาพย์คดีที่ดินอัลไพน์ รับโทษ 2 ปี

 

               “ยงยุทธ” คอตกเข้าคุก รับโทษ 2 ปี จบมหากาพย์คดีที่ดินอัลไพน์ หลังศาลไม่อนุญาตฎีกา ชี้ไม่ได้แสดงปัญหาข้อเท็จจริง-กฎหมายที่ควรพิจารณาตามเกณฑ์ เจ้าตัวเครียดนอนแดนแรกรับเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

 

อ่านข่าว ด่วน ! 'ยงยุทธ วิชัยดิษฐ' รอเข้าเรือนจำหลังศาลไม่ให้ฎีกา

อ่านข่าว (ละเอียด) มหากาพย์ คดีอัลไพน์ถึงที่สุด "ยงยุทธ" คุก 2 ปี

 

               เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติชอบกลาง ถนนนครไชยศรี ซึ่งศาลนัดฟังสั่งศาลฎีกาแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกา คดีหมายเลขดำที่ อท.38/2559 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อายุ 78 ปี อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริต หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 

 

               โดยกล่าวหา นายยงยุทธ จำเลย ขณะดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบในการพิจารณาอุทธรณ์และสั่งเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน ซึ่งมีเจตนาช่วยเหลือบริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จำกัด, บริษัท กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด และผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในเวลาต่อมาให้ได้รับประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

 

               สำหรับคดีนี้ศาลอาญาคดีทุจริตซึ่งเป็นศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2559 เห็นว่า การที่นายยงยุทธ จำเลย พิจารณาอุทธรณ์และมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินซึ่งให้ยกเลิกโฉนดที่ดินที่จดทะเบียนในนามสนามกอล์ฟอัลไพน์ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นธรณีสงฆ์จากการที่นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ที่ถึงแก่ความตายแล้วได้ทำพินัยกรรมยกที่ดิน 2 แปลงดังกล่าว ให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหารนั้น 

 

               จำเลยออกคำสั่งโดยมิชอบ โดยจงใจละเลยข้อเท็จจริงต่างๆ และยังจงใจตีความกฎหมายให้ผิดเพี้ยนไปจากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์พ.ศ.2482 ที่ระบุให้กระทรวงถือปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา

 

               ดังนั้นคำสั่งของนายยงยุทธจึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ ถือเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแก่ผู้อื่นและก่อให้เกิดความเสียหายแก่วัดธรรมิการามวรวิหาร ทั้งยังทำลายศรัทธาของผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงมีความผิดตามฟ้องให้จำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา

 

               ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์และได้รับประกันตัวไปวงเงินประกัน 500,000 บาท ซึ่งคดีมีการอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา

 

               เนื่องจากศาลอุทธรณ์เห็นว่าการที่จำเลยขณะดำรงตำแหน่งรักษาการปลัดมหาดไทย แล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนมติอธิบดีกรมที่ดินเรื่องที่ดินอัลไพน์เป็นที่ธรณีสงฆ์โดยไม่นำความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมีแนวทางวินิจฉัยไว้แล้วมาพิจารณาประกอบเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบและโดยทุจริต

 

               ทั้งที่แนวทางปฏิบัติเมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นมาแล้วฝ่ายบริหารจะให้หน่วยราชการยึดถือปฏิบัติเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินในมาตรฐานทางเดียวกัน เพราะมิเช่นนั้นในแต่ละยุคสมัยจะมีความเห็นต่างกันสร้างความเสียหายแก่ระบบบริหารราชการแผ่นดินได้

 

               ขณะที่นายยงยุทธ ได้ยื่นขออนุญาตฎีกาตามพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 ตามมาตรา 42, 44, 46 ที่บัญญัติว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นที่สุด หากคู่ความประสงค์จะฎีกาจะต้องยื่นคำร้องแสดงเหตุที่ศาลฎีกาควรรับฎีกาไว้พิจารณา ซึ่งระหว่างยื่นขออนุญาตฎีกาดังกล่าวจำเลยได้ประกันตัวไปด้วยหลักทรัพย์มูลค่า 900,000 บาทพร้อมเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

 

               กระทั่งวันที่ 17 กุมภาพันธ์ นายยงยุทธ ได้เดินทางมาศาลพร้อมฟังคำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา ก่อนที่ศาลฎีกาแผนกคดีคำสั่งคำร้องฯ ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่าคำร้องขอฎีกาของนายยงยุทธไม่ได้แสดงถึงปัญหาข้อเท็จจริง หรือปัญหาข้อกฎหมายที่ขออนุญาตฎีกาตามพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 ตามมาตรา 47 และข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 ข้อ 28 (1) จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกา โดยให้ยกคำร้องและไม่รับฎีกาของจำเลย

 

               ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีคำสั่งคำร้องไม่รับฎีกาของจำเลยแล้ว ตามขั้นตอนกฎหมายผลคำพิพากษาคดีนี้จึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา จากนั้นเวลา 12.00 น. ศาลได้ออกหมายคดีถึงที่สุด ซึ่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะได้ควบคุมตัวนายยงยุทธ จำเลยไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพื่อรับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

 

               ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า คดีนี้สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 6 ต่อ 3 เสียง ชี้มูลความผิดนายยงยุทธ กรณีเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินโดยมิชอบ ซึ่งอธิบดีสั่งให้ยกเลิกโฉนดที่ดินที่จดทะเบียนในนามสนามกอล์ฟอัลไพน์ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ที่แบ่งแยกจากโฉนดที่ดิน 2 แปลง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยเห็นว่าการกระทำของนายยงยุทธนั้นมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงและมีมูลความผิดทางอาญา 

 

               ขณะที่เหตุเริ่มต้นการไต่สวนชี้มูลความผิดเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยกเหตุอันควรสงสัยกล่าวหานายเสนาะ เทียนทอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย พร้อมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดิน จ.ปทุมธานี สาขาธัญบุรี ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต กรณีจดทะเบียนโอนมรดก และโอนขายที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหารโดยมิชอบจำนวน 732 ไร่ และละเว้นไม่ดำเนินการเพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนที่ดิน 

 

               โดยเมื่อปี 2553 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายเสนาะไปแล้ว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 148 แต่ความผิดตามมาตรา 157 ขาดอายุความตั้งแต่ปี 2548 จึงส่งแค่ผิดตามมาตรา 148 ให้อัยการสูงสุด (อสส.) ดำเนินการต่อไป ต่อมา อสส. ส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อย่างไรก็ตามท้ายสุดศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องเนื่องจากคดีขาดอายุความ ซึ่งกรณีที่ฟ้องนายยงยุทธ จึงเป็นคดีเดียวที่มีผู้กระทำผิดระดับสูงรับโทษ

 

               จากนั้นช่วงเย็นวันเดียวกัน นายกฤช กระแสร์ทิพย์ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เรือนจำได้รับตัวนายยงยุทธ ภายหลังศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกา โดยนายยงยุทธถูกนำตัวมาควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครตามคำสั่งของศาล เจ้าหน้าที่เรือนจำจึงได้นำตัวนายยงยุทธเข้าสู่ระบบการตรวจรับนักโทษใหม่ ซึ่งนายยงยุทธมีอาการเครียดเช่นเดียวกับผู้ต้องขังใหม่ทั่วไป คาดว่าเมื่อใช้เวลาปรับตัวเข้ากับสภาพเรือนจำและใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนผู้ต้องขังไปสักระยะก็จะเริ่มปรับตัวได้และจะดูแลตามระเบียบของเรือนจำ ไม่ได้มีสิทธิพิเศษอะไร 

 

               นายกฤช กล่าวด้วยว่า ขั้นตอนการรับตัวนักโทษใหม่ ประกอบด้วย การตรวจบันทึกร่างกายว่ามีร่องรอยบาดเจ็บมาจากภายนอกหรือไม่ ซักประวัติและตรวจสุขภาพเบื้องต้น ถ่ายรูป พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อทำประวัตินักโทษ จากนั้นจะให้นักโทษเปลี่ยนเสื้อผ้า ซึ่งผู้ต้องขังใหม่จะได้รับแจกอุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัวที่จำเป็น และผ้า 3 ผืน ใช้สำหรับปูรองนอน ม้วนเป็นหมอน และห่มนอน จากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำตัวไปคุมขังยังแดนแรกรับของเรือนจำซึ่งภายในเรือนนอนจะถูกจับตาด้วยกล้องวงจรปิดตลอด 24 ชั่วโมง ในกรณีนักโทษรายสำคัญจะมอบหมายนักโทษผู้ช่วย 1-2 คน คอยให้ความช่วยเหลือจนกว่านักโทษใหม่จะปรับตัวได้

 

               ด้านแหล่งข่าวนักวิชาการกฎหมาย ได้ให้ความเห็นถึงขั้นตอนเกี่ยวกับคดีของนายยงยุทธ ว่าถือเป็นที่สุดและจบตามขั้นตอนกฎหมายส่วนปัญหาเรื่องการออกโฉนดที่ดินอัลไพน์ดังกล่าวจะเป็นอย่างไร ก็ต้องย้อนกลับไปยังหน่วยงานเฉพาะและกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้อง คือ กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ว่าที่ผ่านมาได้มีการตรวจสอบและดำเนินการอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมายแล้วหรือไม่ 

 

               ซึ่งหากกรณีที่ดินดังกล่าวเป็นที่ธรณีสงฆ์แล้วมีการออกโฉนดไปทับที่ดังกล่าว ก็จะถือได้ว่าเป็นการออกโฉนดทับที่สาธารณประโยชน์ใช่หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นต้องย้อนดูตามประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งจะให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดได้บ้าง ดังนั้นต้องกลับไปถามยังกรมที่ดินว่าได้ดำเนินการส่วนนี้ไปแล้วอย่างไรบ้าง

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ