ข่าว

ออกได้ 3 ทางคดีเงินกู้ อนค. ยุบ - ยกคำร้อง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นักวิชาการตั้งวงวิเคราะห์ - ออกได้ 3 ทาง "ธนาธร" ไม่หวั่น - วางขุนพลซักฟอก ร้องฟันบิ๊กตู่จัดมหรสพ

 

              ความคืบหน้ากรณี ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ในคดีเงินกู้พรรคในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 นั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ นายยอดพล เทพสิทธา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับคดีการยุบพรรคอนาคตใหม่น่าจะออกมาในแนวทางใดแนวทางหนึ่งในสามแนวทาง ดังนี้

 

 

 

              1. วินิจฉัยยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค โดยศาลรัฐธรรมนูญอาจเห็นว่าพรรคการเมืองไม่สามารถกู้เงินได้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจแก่พรรคการเมืองเอาไว้ 2. วินิจฉัยไม่ยุบพรรคแต่เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งเฉพาะกรรมการบริหารพรรคโดยเล็งเห็นว่าการกู้เงินเป็นความผิดเฉพาะตัวของกรรมการบริหารพรรคที่มีส่วนเกี่ยวข้องเท่านั้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องลงโทษถึงขั้นยุบพรรคแต่อย่างใด หรือ 3. วินิจฉัยไม่ยุบพรรคและไม่เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญอาจมีความเห็นว่าการกู้เงินไม่ได้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

              นายยอดพล กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของคดีนี้อยู่ที่ว่าพรรคการเมืองมีอำนาจกู้เงินมาใช้ดำเนินกิจกรรมของพรรคได้หรือไม่ ซึ่งส่วนตัวมองว่าไม่ว่าจะตีความสถานะของพรรคการเมืองในทางเอกชนหรือในทางมหาชน พรรคการเมืองย่อมสามารถกู้เงินได้ เพียงแต่ต้องมีเงื่อนไขว่าเงินที่กู้มานั้นนำมาใช้สำหรับกิจกรรมของพรรคการเมืองผู้กู้อย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นการกู้เงินเพื่อบังหน้าให้แก่นายทุนที่เข้ามาครอบงำพรรคการเมือง

 

 

 

              “พรรคการเมืองในต่างประเทศกฎหมายเปิดโอกาสให้กู้เงินได้ เพราะกฎหมายเล็งเห็นว่าพรรคการเมืองบางพรรค โดยเฉพาะพรรคการเมืองเฉพาะทางสมควรให้เกิดขึ้นมาได้ หากไปกีดกันด้วยเงื่อนไขทางกฎหมายแล้ว พรรคการเมืองลักษณะนี้ย่อมไม่มีทางเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน โดยจะต้องมีระบบตรวจสอบว่าการกู้เงินนั้นเป็นการกู้เงินกันจริงๆ ไม่ได้เป็นการอำพรางใดๆ ทั้งสิ้น” นายยอดพล แสดงความคิดเห็น

              สำหรับความชัดเจนของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เกี่ยวกับการให้อำนาจพรรคการเมืองกู้เงินนั้น นายยอดพล มองว่า การฟ้องคดีนี้ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พุ่งเป้าไปที่มาตรา 72 ที่บัญญัติว่า “ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ซึ่งมาตรา 72 นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองไปทำการรับเงินที่มาจากการกระทำที่ผิดกฎหมายเป็นสำคัญ เช่น เงินจากการค้ายาเสพติด หรือเงินที่มาจากการฟอกเงิน เป็นต้น ดังนั้น การนำการกู้เงินมาปรับเข้ากับมาตรา 72 อาจจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว

 

 

 

              อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้วการวินิจฉัยคดีทั้งหมดขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ส่วนตัวกำลังมีความสนใจว่าหากในอนาคตมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมาแล้ว จะดำเนินการคำนวณจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคจะพึงมีอย่างไรมากกว่า พรรคการเมืองใดจะได้ ส.ส. เพิ่มมากขึ้นหรือพรรคการเมืองใดจะได้ ส.ส. ลดลง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระบบของกฎหมายพรรคการเลือกตั้งและการเลือกตั้ง ยังไม่ได้รองรับสถานการณ์ในลักษณะนี้เท่าที่ควร

 

ชี้หากยุบเหตุเงินกู้ไม่มีบัญญัติ

              รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ให้ความเห็นว่า หากพิจารณาจากสำนวนที่ทาง กกต. ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ จะพบว่าการวินิจฉัยในเรื่องนี้อาจมีข้อจำกัดอยู่ในวงแคบลง ซึ่งออกได้ 2 ทางคือ 1. ยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค โดยให้เหตุผลว่าเงินกู้ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นเงินที่พรรคการเมืองไม่สามารถมีได้ และหากมองว่าเป็นเงินบริจาคก็จะบริจาคได้คนละไม่เกิน 10 ล้านบาท ส่วนที่เหลือถือว่ามีความผิด นอกจากนี้ยังอาจมองด้วยว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยมิชอบ 2. ยกคำร้อง โดยเห็นว่าไม่ผิดกฎหมาย

 

 

 

              รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวหากเทียบ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ปี 2560 กับ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ปี 2550 นั้น จะมีความแตกต่างกัน เพราะ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ปี 2550 ได้บัญญัติว่าด้วยรายได้อื่นใดของพรรคการเมืองไว้ด้วย เหตุนี้ทำให้พรรคการเมืองในช่วงนั้นสามารถกู้เงินได้ แต่มาถึง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ปี 2560 ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องดังกล่าว นั่นหมายความว่าจะไม่ให้พรรคการเมืองมีรายได้อื่นใด นอกเหนือจากรายได้ที่มีการกำหนดไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจนแล้ว ซึ่งเท่ากับว่าพรรคการเมืองไม่สามารถกู้เงินได้ นอกจากนี้พรรคการเมืองยังเป็นองค์การมหาชน อะไรที่กฎหมายไม่ได้เปิดโอกาสให้สามารถทำได้ ย่อมไม่สามารถทำได้ 

              “อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวไม่ได้มองไปถึงการยุบพรรค แต่อธิบายกฎหมาย สำหรับแรงกระเพื่อมที่จะเกิดขึ้นจากคำวินิจฉัยอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น หากมีการยกคำร้อง คนที่ไม่ได้เชียร์พรรคอนาคตใหม่ ก็จะมองว่าพรรคอนาคตใหม่ทำถึงขนาดนี้ ศาลยังยกคำร้อง แต่หากยุบพรรคอนาคตใหม่ แรงกระเพื่อมย่อมจะมีมากกว่า และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค อาจจะนำมวลชนออกไปเคลื่อนไหว ชุมนุมเดินขบวนได้” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว

 

 

 

คำตัดสินถือว่าเป็นบรรทัดฐาน

              ด้าน รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช วิเคราะห์ทิศทางว่า สำหรับผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากเป็นบวกนั้นจะทำให้พรรคการเมืองต่างๆ มีบรรทัดฐานว่าการกู้เงินเพื่อมาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองไม่มีความผิดถึงแม้จะไม่มีบทบัญญัติทางกฎหมายใดๆ แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กร ขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้มีสภาพบังคับจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 จึงเสมือนหนึ่งว่าเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายให้พรรคการเมืองต่างๆ แต่หากคำวินิจฉัยออกมาเป็นลบว่าพรรคอนาคตใหม่กู้เงินไม่ได้ ผลที่เกิดขึ้นในอนาคตกับพรรคการเมือง จะมีปัญหาเรื่องของแหล่งทุนในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และส่งผลต่อทุนที่จะมาครอบงำพรรคการเมืองในทางอ้อมแทน ทำให้ยังเป็นปัญหาการเมืองไทย ในเรื่องวังวนที่มีกลุ่มทุนเข้ามามีอิทธิพลในพรรคการเมืองเหมือนในอดีต 

 

 

 

              รศ.ดร.ยุทธพร ยังมองไปถึง 18 พรรคการเมืองที่ยังมีคดีคล้ายๆ กับพรรคอนาคตใหม่ต้องมาพิจารณาว่า ในคดีที่คล้ายกันจะมีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะหากข้อเท็จจริงของคดีเป็นเช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ พรรคการเมืองนั้นก็ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในบรรทัดฐานเดียวกัน แต่หากบางพรรคการเมืองมีข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันออกไป ก็อาจไม่มีผลกระทบ ขณะเดียวกันเชื่อว่ามีโอกาสจะเห็นปรากฏการณ์ “ผึ้งแตกรัง” หากผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรรมนูญออกเป็นทางลบกับพรรคอนาคตใหม่ แต่เชื่อว่าจะมีจำนวนไม่มาก ภายหลังมี ส.ส.พรรคอนาคตใหม่บางส่วนเป็น ส.ส.งูเห่าไปแล้ว ทำให้ ส.ส.ที่เหลืออยู่จะมีความเข้มข้นทางอุดมการณ์ ซึ่งเปรียบเทียบกับพรรคประชาธิปัตย์เคยเผชิญกับกลุ่ม “10 มกรา” หรือพรรคพลังประชาชน เคยเผชิญกับกลุ่ม “ภูมิใจไทย” เป็นต้น 

              “ถ้าผึ้งแตกรังจะเกิดขึ้นผมคิดว่ามีไม่มากนัก ไม่เหมือนกับกรณีมี ส.ส.งูเห่าในพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นชัดเจนถึง 4 ราย แต่บรรดาแกนนำของพรรคจะหายไปจากการเมืองค่อนข้างแน่นอน เพราะเมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหากออกมาเป็นทางลบ จะต้องมีการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ทำให้คนกลุ่มนี้จะทำงานการเมืองไม่ได้ระยะเวลายาวนาน จึงต้องมาทำงานนอกสภา จากบทบาทไม่เป็นทางการ ถึงแม้จะมีการจดจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่เตรียมไว้แล้ว แต่จะมีผลเฉพาะกับ ส.ส.ที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค ซึ่งรัฐธรรมนูญจะคุ้มครองในระยะเวลา 60 วัน” รศ.ดร.ยุทธพร กล่าว

 

 

 

              รศ.ดร.ยุทธพร ระบุด้วยว่า ขณะที่ผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ในกรณีคำวินิจฉัยออกมาเป็นทางลบ จะมีการขยับตัวเองโดยเฉพาะแกนนำ ไปเคลื่อนไหวทางสังคม จากเดิมที่เคยเคลื่อนไหวทางสังคมมาแล้ว และได้วางยุทธศาสตร์เชื่อมต่อการเมืองในสภาและนอกสภาไว้แล้ว แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ ถือว่ามีบทบาททางกฎหมาย มีส.ส.ในสภาหากจะทำอะไรจะเป็นเรื่องเป็นราวได้มากกว่า หากเทียบกับการเคลื่อนไหวนอกสภา ดังนั้นพลังของพรรคอนาคตใหม่อาจจะอ่อนแรงลง ไม่ได้เข้มข้นเหมือนเดิมแต่ก็มีความเสี่ยงจากคนที่อยู่ในอำนาจรัฐ เพราะถ้าพรรคอนาคตใหม่ไปสู่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจริงๆ จะมีกฎหมายควบคุมกำกับพรรคการเมือง หรือมีข้อบังคับเหมือนกับข้อบังคับในสภาหรือไม่ ทำให้การกำกับการเคลื่อนไหวอาจไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้ในอนาคตอาจกลับไปสู่การเมืองแบบมวลชนก็เป็นไปได้

 

ยันไม่ถอยไม่ทนคดียุบพรรค

              ที่พรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า เราไม่ถอย ไม่ทน ถ้ากลัวผู้มีอำนาจ เราก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นั่นคือเหตุผลที่เขาใช้คดีความ หรือคำร้องเรียนต่างๆ มาทำลายผู้ที่ลุกขึ้นสู้กับความอยุติธรรมของพวกเขา ถ้าเรากลัว พวกเขาก็จะประสบความสำเร็จ การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ขณะที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เมื่อไม่นานมานี้วุฒิสภาได้ผ่านรายชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่แล้ว หรือต้องการให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันตัดสินคดีเสียก่อน ยืนยันว่าพวกเราหนักแน่นและมั่นคง ไม่ว่าจะยุบหรือไม่ยุบพรรค เราอภิปรายต่อแน่นอน ส่วนเรื่องที่กรรมการบริหารพรรคจะอภิปรายและอาจจะถูกตัดสิทธิ์ไม่สามารถอภิปรายได้หลังคำตัดสินนั้น เราก็จะออกมาอภิปรายนอกสภาแทน

 

 

 

รอสรุปคดีอาญา “ธนาธร” หุ้นสื่อ

              ขณะที่ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. กับนายธนาธร ฐานรู้แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครแต่ยังลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้สิ้นสภาพ ส.ส.จากเหตุถือหุ้นสื่อวี-ลัค มีเดีย ว่า ขณะนี้คณะกรรมการไต่สวนส่งเรื่องมาให้ กกต.พิจารณาแล้ว แต่ได้ส่งเรื่องกลับไปเพื่อให้ไปพิจารณาประเด็นอื่นเพิ่มเติม จึงอยู่ระหว่างการรอคณะกรรมการไต่สวนส่งกลับมาอีกครั้ง

              นายอิทธิพร ยังกล่าวถึงกรณีที่ศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ขอสำนวนการไต่สวนคดียุบพรรคอนาคตใหม่ประเด็นเงินกู้ 191 ล้านบาท หลังพรรคอนาคตใหม่ยื่นฟ้องกลับ 7 กกต.ว่า เป็นเรื่องที่ศาลขอให้ กกต.ไปชี้แจง ไม่ใช่ขั้นตอนของการไต่สวน และเจ้าหน้าที่ของ กกต.จะไปชี้แจงต่อศาลในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ยืนยันไม่กังวลกับการถูกฟ้องกลับ เพราะเป็นเรื่องที่สามารถฟ้องร้องได้หากไม่เห็นด้วยกับการทำหน้าที่ของ กกต.แต่ยืนยันทุกอย่างเป็นการดำเนินการตามหน้าที่

 

 

 

รมต.ถกกูรูเตรียมรับมือซักฟอก

              นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความพร้อมในการรับมือการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี วันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ ว่า ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ทางวิปรัฐบาลจะแจ้งให้ ครม. รับทราบถึงการเตรียมพร้อมการอภิปราย ซึ่งเป็นรายงานตามวงรอบในการประชุมแต่ละสัปดาห์ของทางสภา ผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องติวเข้มรัฐมนตรีหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มี ไม่ได้ติว ซึ่งก่อนหน้านั้นที่มีการเชิญวิปรัฐบาลและรัฐมนตรีที่มีชื่อถูกอภิปรายมาพูดคุยก็ไม่ใช่การติวหรือเตรียมการอะไร แต่เป็นเรื่องการซักซ้อมกติกาและขั้นตอนต่างๆ มากกว่า และให้มาชี้แจงว่าไปตกลงอะไรกับฝ่ายค้านไว้บ้าง รัฐบาลจะได้ปฏิบัติได้ถูกต้อง เพราะรัฐมนตรีทั้ง 6 คนไม่เคยโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจ การติวเป็นเรื่องของเนื้อหาซึ่งเราไม่ได้พูดถึง ใครที่ถูกอภิปรายก็ต้องเตรียมข้อมูลในส่วนของตนเอาไว้ คนอื่นไปทำแทนไม่ได้ เว้นแต่มีการพาดพิงในสภา แล้วขอให้มีใครช่วยชี้แจงก็เป็นอีกเรื่อง

              "ยืนยันว่าไม่มีการเตรียมการในส่วนเนื้อหาเอาไว้ล่วงหน้า ที่พูดคุยกับวิปรัฐบาลก็มีเรื่องน่าสงสัย เช่น อภิปราย 6 คน จะให้พูดทีละคน หรือพูดรวมกัน เวลาตอบจะลุกขึ้นตอบทันที หรือให้อภิปรายทีเดียวให้จบ 25 คน แล้วค่อยตอบ เป็นต้น" นายวิษณุกล่าว และว่าการพบปะสังสรรค์ระหว่าง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลที่ต่างจังหวัดนั้นรัฐมนตรีที่สนใจก็อาจไปรับฟังการชี้แจงจากเซียนที่เป็นมือสภาเก่าทั้งหลาย โดยขึ้นอยู่กับความสะดวกของรัฐมนตรีแต่ละคน ส่วนตนยังไม่แน่ใจว่าจะไปร่วมด้วย

 

 

 

16 ส.ส. อนค. เป้าซักฟอก 5 รมต.

              นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) แถลงข่าวภารกิจ “พินอคคีโอ” การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า เรามีโปรเจกต์พินอคคีโอเพราะตัวละครที่ทำผิดซ้ำซาก และพยายามปกปิดความผิดจนเรื่องบานปลาย ท้ายที่สุดก็ปกปิดไม่ได้ ทั้งนี้หลังการทำรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ไม่เคยถูกตรวจสอบ ซึ่งวัตถุประสงค์ของโปรเจกต์พินอคคีโอจึงเป็นปฏิบัติการกระชากหน้ากากให้รับรู้ถึงจมูกอันยืดยาวและข้อผิดพลาดของรัฐบาลในรอบ 6 ปี ทั้งนี้พรรคอนาคตใหม่มี ส.ส.ที่จะอภิปรายจำนวน 16 คน โดยพรรคได้ขอโควตาจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน 11 ชั่วโมง เฉลี่ยคนละ 40 นาที โดย 1 คนจะอภิปรายในภาพรวม และอีก 15 คนจะอภิปรายในรายประเด็นไม่ซ้ำกัน ซึ่งพรรคเลือกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 5 รัฐมนตรีจาก 6 รัฐมนตรีที่มีชื่ออยู่ในญัตติ คือ 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ 3. นายวิษณุ เครืองาม 4. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และ 5. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ส่วนเนื้อหาแบ่งการอภิปรายเป็น 5 ด้าน คือ 1. การบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาด 2. การเอื้อประโยชน์ให้แก่พวกพ้องและกลุ่มที่ใกล้ชิด 3. นโยบายที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศ 4. เรื่องความมั่นคงและการละเมิดสิทธิมนุษยชน และ 5. คุณสมบัติและจริยธรรมที่ไม่เหมาะสมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

 

 

 

ป.ป.ช.ขยับสอบเสียบบัตรแทนกัน

              ด้านการสอบสวน ส.ส. เสียบบัตรแทนกัน นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องต้น ดูว่ามีมูลรับไว้ดำเนินการไต่สวนได้หรือไม่ โดยจะนำเรื่องนี้เสนอคณะอนุกรรมการป.ป.ช. เพื่อพิจารณาในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พร้อมกับเสนอแนวทางแก่คณะอนุกรรมการว่า ข้อมูลที่ให้ไปรวบรวมเบื้องต้นเพียงพอที่จะดำเนินการไต่สวนหรือไม่ ส่วนกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณีดังกล่าว และเปิดช่องให้ยื่นสอบตามกฎหมายอื่นได้นั้นกรณีร้องเรียนเรื่อง ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน เรื่องเข้ามาที่สำนักงาน ป.ป.ช.แล้ว เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเข้าข่ายเป็นความผิดทางอาญาหรือผิดจริยธรรมหรือไม่ โดยอยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน

 

 

 

              มีรายงานจากรัฐสภา ถึงความคืบหน้าการสอบสวนเรื่องเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน กรณี นางนาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ว่าล่าสุดตม.ได้ทำหนังสือตอบกลับมาแล้ว โดยระบุว่า นางนาทีได้เดินทางออกจากด่าน ตม.สนามบินสุวรรณภูมิ เวลา 15.28 น. วันที่ 11 มกราคม เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ของนางนาที ในวันที่ 11 มกราคม พบว่า นางนาทีได้ลงมติครั้งสุดท้ายในมาตรา 49 ในเวลา 15.46 น. และลงมติมาตรา 48 ในเวลา 15.19 น. หลังจากนี้จะรายงานการตรวจสอบให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรรับทราบต่อไป

              ที่รัฐสภา เกียกกาย มีการประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยใช้เวลาเพียง 1 ชม.ก่อนที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน 215 ต่อ 0 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง

 

 

 

“กรณ์” ยื่นจดตั้ง “พรรคกล้า”

              วันเดียวกัน ที่สำนักงาน กกต. นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย นายวรวุฒิ อุ่นใจ นายกสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และนายมนต์ชีพ ศิวะสินางกูร หรือครูเป็ด ศิลปินและนักแต่งเพลง เป็นตัวแทนยื่นจดทะเบียนจดจัดตั้ง “พรรคกล้า” ที่ได้รับการโหวตชื่อจากประชาชน 120,000 คน เข้ายื่นต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง โดยมีสัญลักษณ์พรรคเป็นลายเส้นรูปกำปั้นซึ่งสื่อถึงการแสดงออกกล้าลงมือทำ

              นายอรรถวิชช์ ถือฤกษ์เวลา 09.00 น. นำเอกสารไปยื่นต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง กกต. ขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ใช้ชื่อ “พรรคกล้า” โดยมีสัญลักษณ์เป็นภาพชูกำปั้นแสดงออกถึงความกล้าลงมือทำ โดยให้เหตุผลถึงการเลือกวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันแห่งความรักในการจดจัดตั้งพรรคว่า เป็นการสื่อถึงการเกิดขึ้นของพรรคที่มาจากความรัก ซึ่งเป็นความรักที่มีต่อประเทศชาติจากผู้คนหลากหลายกลุ่มมารวมตัวกัน โดยหวังที่จะนำพาชาติบ้านเมืองพัฒนาไปข้างหน้า สำหรับชื่อ "พรรคกล้า” ตั้งใจอยากจะเห็นคนที่มีความสร้างสรรค์ออกมาเป็นผู้กล้าเข้ามาสู่การเมืองให้ได้ โดยจะเป็นการรวมกันของคน 3 รุ่น รุ่นใหญ่ รุ่นกลาง รุ่นใหม่ จะเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศ โดยจากนี้ตนและนายกรณ์ จาติกวณิช ก็จะรวบรวมรายชื่อให้ได้ผู้ก่อตั้งครบ 500 คน โดยจะเดินสายเชิญบุคคลต่างๆ ในสังคมมาร่วมทำงานการเมือง และตั้งเป้าที่จะเปิดประชุมใหญ่ให้ได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ 

 

 

 

              เมื่อถามว่า มีกระแสว่าอาจจะมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ย้ายจากพรรคเดิมมาสังกัดพรรคกล้า นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า การทำพรรคขึ้นมาไม่ได้เพื่อรวบรวม ส.ส.เพื่อไปแลกโควตาอะไรทั้งสิ้น ส่วนการตั้งพรรคในช่วงนี้เพราะจะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หรือไม่ ยังไกลไป ขอให้การจัดตั้งพรรคเสร็จสิ้นก่อน และเป้าหมายของพรรคคือการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้า ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นจะต้องมีการคุยกันอีกครั้งหนึ่ง 

 

“ชวน” กรีด “ใจเสาะ” ทิ้ง ปชป.

              ที่หอประชุมใหญ่ ทีโอที ถนนแจ้งวัฒนะ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้แสดงปาฐกถาเรื่องการยกระดับพรรคการเมือง ให้เป็นสถาบันทางการเมือง ในงานนำเสนอยุทธศาสตร์ของนักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาการเมือง และการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 10 ของสำนักงาน กกต. โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการยอมรับทางวิชาการว่าเป็นพรรคที่มีความเป็นสถาบันทางการเมืองมากที่สุด ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์เผชิญกับคดียุบพรรคมาแล้วถึง 2 ครั้ง แต่เพราะพรรคเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ได้เตือนพรรคมาตลอดว่าทำอะไรก็ได้แต่อย่าทำให้ผิดกฎหมาย อีกทั้งพรรคการเมืองดำรงอยู่ได้เพราะคนในพรรคต้องตั้งใจทำงานการเมืองจริงๆ คนเหล่านี้เมื่อประสบปัญหาเขาจะไม่หวั่นไหว ไม่น้อยเนื้อต่ำใจ ไม่คิดที่จะทิ้งพรรค ไม่ว่าพรรคจะขึ้นหรือจะลงจะได้เป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ถ้าผู้บริหารพรรคใจเสาะ ก็คงคิดว่าพรรคไปไม่รอดแล้ว เลยทิ้งพรรคไป แต่ตนไม่เคยคิดที่จะไปตั้งพรรคใหม่ และส่วนตัวเชื่อว่าเมื่อตัดสินใจทำงานการเมืองในระบบนี้ก็ต้องยืนหยัดแบบนี้

 

 

 

ร้องเอาผิดนายกฯจัดมหรสพ

              วันเดียวกัน น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พร้อมคณะ เข้ายื่นคำร้องต่อกกต. ขอให้ตรวจสอบดำเนินคดีตามกฎหมายเลือกตั้งต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ในฐานะผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐและพวก สืบเนื่องจากการเปิดเวทีปราศรัยใหญ่หาเสียงที่สนามกีฬาเทพหัสดินของพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2562 โดย พล.อ.ประยุทธ์ ร้องเพลงบนเวที 2 เพลง ซึ่งเพลงที่ร้องไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งไม่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการหาเสียง จึงเข้าข่ายจัดมหรสพรื่นเริง สำหรับเหตุที่รอจนจะครบ 1 ปี เพราะรอดูการทำงานขององค์กรอิสระมาเป็นเวลานานในคดีที่มีหลักฐานชัดเจนขนาดนี้ กกต.กลับไม่ดำเนินการใดๆ ทั้งที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าเป็นความผิด และกกต.เคยมีคำวินิจฉัยเมื่อปี 2550 ว่าเพลงที่ใช้ในการเลือกตั้ง และระหว่างการเลือกตั้งต้องเป็นเพลงที่ใช้เพื่อการเลือกตั้งหรือดัดแปลงเพื่อใช้ในการเลือกตั้งเท่านั้น หากเป็นเพลงเพื่อความบันเทิงจะถือว่าเป็นการจัดงานรื่นเริงหรือจัดมหรสพ

 

 

 

ป.ป.ช. เชือด “จารุพงศ์” ผิด ม.157

              ด้านนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรักษาการ รมว.มหาดไทย กับพวก กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจากการไปร่วมปราศรัยบนเวทีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 ใช้ชื่อว่า “นปช. ลั่นกลองรบ” ที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.นครราชสีมา โดยมีพฤติกรรมสนับสนุนผู้ชุมนุมที่อาจจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยและอาจก่อให้เกิดการแตกแยกจนถึงขั้นแบ่งแยกประเทศ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 116 (2) (3) ส่วนผู้ถูกกล่าวหาอีก 13 คนส่งเรื่องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินคดี

 

“ชวรัตน์ - มานิต” รอดคดีคอมฯ ฉาว

              นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า กรณีป.ป.ช.ไต่สวนนักการเมืองชื่อดังพร้อมพวกที่เป็นอดีตข้าราชการระดับสูงและข้าราชการในกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในการจัดทำโครงการเช่าระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อใช้งานเกี่ยวกับบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนแบบใหม่ วงเงิน 3,490 ล้านบาท ยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ และมีมติชี้มูลความผิดทางวินัยเฉพาะข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ว่า ป.ป.ช.พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้ 1.กรณีกล่าวหา นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล เมื่อครั้งเป็น รมว.มหาดไทย และนายมานิต วัฒนเสน ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองได้ตรวจสอบความถูกต้องก่อนการลงนามเห็นชอบผลการประกวดราคาและลงนามอนุมัติแล้ว พยานหลักฐานจึงยังฟังไม่ได้ว่ากระทำผิดตามข้อกล่าวหา 2.กรณีกล่าวหานายธีรวัฒน์ วุฒิคุณ ผู้อำนวยการกองคลัง กรมการปกครอง และนายกองเอกวิลาศ รุจิวัฒนพงศ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง เห็นว่านายธีรวัฒน์ได้เสนอบันทึกให้นายกองเอกวิลาศพิจารณาเสนอ รมว.มหาดไทยนั้น นายกองเอกวิลาศได้ลงนามในบันทึกขออนุมัติเช่าระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ประกอบตามโครงการ เป็นการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการปกครองทั้งที่การทดสอบทางเทคนิคไม่เป็นตามเงื่อนไขทีโออาร์ การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองจึงเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง 

 

 

 

              3.กรณีกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการประกวดราคา และคณะทำงานทางด้านเทคนิค ประกอบด้วย นายประวีณ แจ่มศักดิ์ นายทรงพล อารมณ์ชื่น นายสมเกียรติ อุดมเรณู นายธนาคม ฐานนันทน์ และน.ส.ลัดดา พรพนมสิทธิกุล ได้ทดสอบทางด้านเทคนิคซึ่งไม่เป็นไปตามทีโออาร์กำหนดไว้ แต่เนื่องจากเป็นการปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการประกวดราคา การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาถือเป็นเรื่องของการบกพร่องในหน้าที่ สำหรับนายพิภพ ดำทองสุข นายกมลโลจฒน์ เชียงวงศ์ นายทรงชัย ลิ้มไกลท่า และนายปรีดา บุญประคอง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการประกวดราคานั้น ถือว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี จึงให้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัย ทั้งนี้การพิจารณาตัดสินคดีใดๆ ป.ป.ช.พิจารณาจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน มิได้มุ่งเน้นจ้องจับผิดนักการเมืองแต่อย่างใด

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ