ข่าว

ศาลปกครองวุ่นส.ว.ไม่ผ่านชื่อเสนอเป็นตุลาการศาลรธน.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โฆษกศาลปกครอง ชี้หากส.ว.ไม่ผ่านชื่อ ต้องแจ้งเหตุผล ส่งกลับสรรหาใหม่จากศาลปกครอง 1 คนให้เสร็จใน 60 วัน หากไร้ตุลาการสมัครใจสรรหา ศาลรธน.อาจทำหน้าที่แค่ 8 คน

 

12 กุมภาพันธ์ 2563  "นายประวิตร บุญเทียม" โฆษกศาลปกครอง ให้สัมภาษณ์กรณีที่ประชุม ส.ว.ไม่เห็นชอบนายชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ที่ถูกได้รับการเสนอชื่อจากศาลปกครอง สมควรเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 

 

โดยกล่าวว่ากรณีนี้ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 12 กำหนดว่า เมื่อที่ประชุม ส.ว.ไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อ ก็ให้ส่งชื่อกลับไปยัง "ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด" พร้อมด้วยเหตุผล เพื่อให้ดำเนินการสรรหา หรือคัดเลือกบุคคลใหม่แทน โดยต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ ส.ว.ไม่ให้ความเห็นชอบ

 

ดังนั้นจึงต้องนับเมื่อวานนี้ (11 ก.พ.) เป็นวันแรกของกรอบระยะเวลา 60 วัน เมื่อศาลปกครองได้รับหนังสือแจ้งพร้อมเหตุผลแล้วก็จะต้องเรียกประชุมและกำหนดวิธีการในการสรรหา โดยครั้งที่แล้วใช้วิธีการให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุด สมัครโดยคุณสมบัติเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ครั้งนี้ก็น่าจะใช้วิธีการเดียวกัน

 

"นายประวิตร" โฆษกศาลปกครอง กล่าวอีกว่า หากเหตุผลที่ประชุม ส.ว.ไม่เห็นชอบ "นายชั่งทอง" เป็นไปตามที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวว่าเพราะไปลดเกณฑ์การดำรงตำแหน่งตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จากไม่น้อยกว่า 5 ปี เป็นเหลือไม่น้อยกว่า 3 ปี ซึ่งตรงนี้ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดไม่ได้เป็นผู้ลด แต่เป็นคณะกรรมการสรรหาฯ ดังนั้นการสรรหาใหม่ครั้งนี้ของที่ประชุมใหญ่ในศาลปกครองสูงสุดก็ต้องยึดเกณฑ์ว่าผู้จะได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าตัวตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดด้วย 

 

 

อย่างไรก็ดี ถ้าเปิดรับสมัครแล้ว ไม่มีผู้สมัคร "ที่ประชุมใหญ่ในศาลปกครองสูงสุด" คงต้องรายงานกลับไปยังวุฒิสภาว่าสรรหาไม่ได้ จากการที่ไม่มีผู้สมัคร

 

"เมื่อที่ประชุม ส.ว.เห็นว่าไม่ควรลดเกณฑ์ การเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดไม่น้อยกว่า 5 ปีลง การสรรหาใหม่ครั้งนี้ที่ประชุมใหญ่ในศาลปกครองสูงสุดก็จะส่งเรื่องไปให้ ส.ว. ลดเกณฑ์การดำรงตำแหน่งไม่ได้แล้ว ในความเห็นผมเข้าใจว่าที่ประชุมใหญ่ในศาลปกครองสูงสุดคงพิจารณาว่าเมื่อเปิดรับสมัครแล้วมีตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่มีคุณสมบัติดำรงตำแหน่งมาไม่น้อยกว่า 5 ปีมีใครสมัครใจไปหรือไม่ ซึ่งอาจมีก็ได้ แต่ถ้าไม่มีใครยินยอมก็จบแค่นั้น ก็ต้องรายงานไปที่ส.ว.ว่าสรรหาไม่ได้ เพราะถ้าจะบอกว่าต้องได้ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ไปดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็เท่ากับว่าเป็นการบังคับให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุดพ้นจากตำแหน่งโดยไม่มีกฎหมายรองรับ"

 

โฆษกศาลปกครอง ยังกล่าวด้วยว่า ตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ดำรงตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ปัจจุบันน่าจะมีจำนวนเท่ากับการสรรหาครั้งก่อนคือ 14 คน ถ้าไม่มีใครสมัครใจก็มีแนวโน้มว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีตุลาการ 8 คนซึ่งก็ไม่กระทบอะไร เพราะรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญฯ เขียนรับรองไว้แล้วว่าถ้ามีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ต่ำกว่า 7 คนก็เดินหน้าทำงานต่อไปได้

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ