ข่าว

ชัดเจน กรมป่าไม้เจ้าภาพดำเนินคดี "ปารีณา" รุกป่า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"กฤษฎีกา" ตอบกรมป่าไม้กรณีดำเนินคดี "ปารีณา" ครอบครองที่ดิน 682 ไร่ใน จ.ราชบุรี ชี้ชัด ส.ป.ก. ยังไม่นำเข้าสู่กระบวนการจัดสรรสิทธิ์ จึงยังถือเป็นเขตป่าสงวนฯ ให้ส.ป.ก. เป็นเจ้าภาพดำเนินการตามกฎหมายร่วมกับกรมป่าไม้ พร้อมลงพื้นที่พรุ่งนี้

 

 

          จากกรณีที่กรมป่าไม้ ทำหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ตีความกรณีการครอบครองที่ดิน 682 ไร่ในต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ของน.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ

 

          เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2563 - นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ขณะนี้กรมป่าไม้ ได้รับหนังสือหารือข้อกฎหมายเรื่อง การบังคับใช้ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว โดยกรมป่าไม้จะประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (สปก.) ร่วมตรวจสอบดำเนินคดีตามประมวลกฏหมายที่ดิน พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ.2507 โดยเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ในส่วนพื้นที่รับผิดชอบของ สปก.ร่วมกับคณะพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.)เจ้าของคดีที่ทางกรมป่าไม้ ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ น.ส.ปารีณาไว้ โดยนัดหมายเข้าพื้นที่วันพรุ่งนี้ (12 ก.พ.) กรมป่าไม้จะดำเนินการตามหนังสือที่กฤษฎีกามีความเห็นมา และจะเข้าพื้นที่กับพนักงานสอบสวน และและใช้โอกาสนี้ไปตรวจสอบทั้งหมด
 

          ทั้งนี้จากหนังสือของคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้สรุปความเห็นใน 3-4 ประเด็นหลัก โดยเฉพาะประเด็นที่ดินของ ส.ป.ก. ในส่วนที่ไม่มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินตามประมวล กฎหมายที่ดิน ยังคงมีสถานะเป็น “ป่า” ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 กรมป่าไม้ ยังคงมีหน้าที่และอำนาจในการดูแลรักษาที่ดินที่เป็นป่าตามพ.ร.บ.ป่าไม้ และหากเป็นกรณีที่ที่ดินนั้นยังคงมีสถานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เนื่องจาก ส.ป.ก. ยังไม่ได้นำที่ดินป่าสงวนแห่งชาตินั้น ไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามที่กฎหมายกำหนด ก็จะเป็นหน้าที่และอำนาจของกรมป่าไม้ในการดูแลรักษาที่ดินที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติด้วยเช่นกัน 

 

ชี้ อำนาจสปก.-กรมป่าไม้
 
         นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังระบุว่า ตามมาตรา 26 วรรคสอง ของพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ เมื่อพบการกระทำความผิดฐานบุกรุกพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดิน พนักงานเจ้าหน้าที่ของ สปก. จะมีหน้าที่และอำนาจในการจับกุมปราบปราม ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ และกฎหมายอื่นในเขตปฏิรูป ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่มี พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้หรือไม่ และระหว่าง สปก. ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่ดังกล่าวกับกรมป่าไม้ หน่วยงานใดจะเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินคดีในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้  

 

          ทั้งนี้กฤษฎีกา ระบุว่า เป็นหน้าที่และอำนาจของ ส.ป.ก. ในการดูแลรักษาที่ดินดังกล่าวและป้องกันการกระทำใดๆ ที่เป็นผลร้ายต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย การที่มีผู้บุกรุก เข้าไปยึดถือ ครอบครอง หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเป็นอันตรายแก่ทรัพยากรในที่ดินซึ่ง ส.ป.ก. ได้มาตามกฎหมายย่อมกระทบสิทธิของ ส.ป.ก. ในการนำที่ดินไปปฏิรูปที่ดินตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ ส.ป.ก. จึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าวและมีสิทธิที่จะกล่าวโทษผู้กระทำความผิดเพื่อให้มีการดำเนินการตามกฎหมายได้ 

 

          ส่วนกรมป่าไม้ยังคงมีหน้าที่และอำนาจในการดูแลรักษาที่ดินที่เป็นป่าพ.ร.บ.ป่าไม้ หากเป็นกรณีที่ที่ดินนั้นยังคงมีสถานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เนื่องจาก ส.ป.ก. ยังไม่ได้นำที่ดินป่าสงวนแห่งชาติไปปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามที่กฎหมายกำหนด เห็นว่าทั้ง 2 หน่วยงานสามารถดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้.

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ